“ยูนิลีเวอร์” ยืนยัน แนวคิดธุรกิจที่ยั่งยืนไม่ได้เพิ่มต้นทุน แต่กลับลดความเสี่ยงและทำให้เกิดการพัฒนา ระบุ ต้องนำโจทย์ของประเทศมาเป็นโจทย์ของบริษัท ด้าน ‘ซีพี’ ปลุกภาคเอกชนร่วมกันสร้างความตระหนัก แค่ตัวเองทำถูกคงไม่พอ
นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนาเรื่องร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและยุติความยากจน เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า อยากให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนมุมมองว่าธุรกิจที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุน แต่กลับเป็นการลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และยังเกิดการพัฒนาใหม่ๆ ตลอดจนพนักงานมีความรักองค์กรมากขึ้นด้วย เนื่องจากงานที่ทำมีความหมายมากขึ้น
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อน อย่างยูนิลีเวอร์ก็ได้นำโจทย์สังคมมาเป็นโจทย์ของบริษัท เช่น คนอร์คัพโจ๊ก ที่เริ่มจากรู้ว่าเด็ก 60% ไม่ได้ทานอาหารเช้าซึ่งเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด จึงต้องสร้างการกระตุ้นให้ครอบครัวรู้ว่าไม่ใช่เรื่องดี หรือการเพิ่มไอโอดีนเนื่องจากไทยมีมาตรฐานการบริโภคที่ต่ำกว่าระดับโลก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนอาจมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่การขับเคลื่อนนวัตกรรมนั้นกลับกลายเป็นต้นทุนที่ลดลง เช่น ฟาร์มเลี้ยงหมู ที่มีการนำเอาของเสียไปผลิตเป็นพลังงานไบโอแก๊สกลับมาใช้ พบว่าจากการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี สามารถประหยัดกลับมาได้ถึง 3,000 ล้านบาท
นายศุภชัย กล่าวว่า หนึ่งในความท้าทายที่ผ่านมาคือเรื่องปลาป่น ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ จะรับซื้อเฉพาะที่เหลือจากการผลิตในโรงงาน แต่จะไม่รับซื้อจากการจับแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการจับปลาเกินขนาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาแรงงานทาส ฉะนั้นสิ่งที่เอกชนต้องทำจึงไม่ได้หยุดแค่ว่าจะทำให้ตัวเองถูกต้องเท่านั้น แต่จะช่วยผลักดันอย่างไรให้เกิดความตระหนักรู้กับเอกชนด้วยกัน และทำให้ภาครัฐเห็นว่ากฎหมายของประเทศต้องถูกบังคับใช้
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาจากมาตรวัดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จะพบว่าประเทศไทยถูกประเมินให้ตกและเกือบตกในบางเรื่อง เช่น ปริมาณการใช้พลังงานทางเลือก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้งบวิจัยและพัฒนา ความเป็นอยู่ที่ดีในเมือง การจัดการของเสีย ฯลฯ
น.ส.สฤณี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแต่ละธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายที่แตกต่างกัน บางครั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมก็อาจเกิดจากคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน หรือการข้ามฟากไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นจุดเริ่มต้นเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคือต้องรู้ว่าธุรกิจของตัวเองสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง จะแก้ไขอย่างไร ซึ่งอาจต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน