วงสัมมนาเรื่องการทำพีอาร์ด้านสิ่งแวดล้อม ซัด กรอบราชการคือเงื่อนไขทำให้ประชาสัมพันธ์รัฐมีปัญหา นักวิชาการวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เชื่อ ปชช.ขาดความเข้าใจ-การมีส่วนร่วม ต้นเหตุต่อต้านโครงการ
นายวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเรื่องการประชาสัมพันธ์การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2559 ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ตอนหนึ่งว่า เงื่อนไขการตั้งราคากลางที่ยึดตัวเลขในอดีตอย่างไม่ทันยุคทันเหตุการณ์ และกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ความล่าช้าในการเบิกจ่าย ส่งผลให้เอกชนฝีมือดีไม่อยากร่วมงานกับภาครัฐ นั่นทำให้การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐมีปัญหา
นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ของรัฐยังมีอุปสรรคอยู่มากเนื่องจากต่างคนต่างทำ ประกอบกับการจัดสรรงบประมาณที่กระจัดกระจายจนทำให้ผลงานที่ควรได้หลักร้อยล้านกลายเป็นหลักสิบล้าน หรือสุดท้ายก็อาจไม่เหลืออะไรเลย
“คนที่เก่งและมีทางเลือกจึงทำงานให้เฉพาะเอกชน รัฐจึงไม่ได้มือดีที่สุดมาทำงาน ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องสร้างพันธมิตร เช่น วิ่งไปหาคนที่มีงบประมาณในเรื่องเดียวกันและทำผลงานร่วมกัน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน จากนั้นจึงมาวางแผนกลยุทธ์ให้เข้าถึงผู้คนได้” นายวิทวัส กล่าว
นายฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐไม่สามารถทำโครงการเกี่ยวกับการกำจัดขยะได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดการประชาสัมพันธ์ เมื่อประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจและขาดการมีส่วนร่วม ประชาชนจึงต่อต้านโครงการ ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องสร้างภาคีเครือข่ายที่สามารถทำงานร่วมกัน
สำหรับปัญหาขยะ เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งนับวันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากไม่กำจัดอย่างถูกวิธีย่อมเกิดปัญหาในอนาคต ทั้งนี้การกำจัดขยะสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีหรือเทคโนโลยีใดจึงจะเหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด คำตอบจะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะในแต่ละพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมนอกจากจะไม่สำเร็จแล้วยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนในพื้นที่เข็ดขยาดอีกด้วย
นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลด้านวิชาการไม่ได้ถูกถ่ายทอดในทุกเรื่อง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนว่าจะถ่ายทอดไปในด้านบวกหรือด้านลบ แต่ประเด็นคือสำคัญที่จะต้องทำให้กระจ่าง ให้ประชาชนเกิดความตระหนักไม่ใช่ตระหนก
สำหรับสถานการณ์ขยะมูลฝอยในประเทศไทยขณะนี้ มีจำนวนกว่า 27 ล้านตันต่อปี จากอัตราการทิ้งเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1.1 กิโลกรัมต่อปี แต่ในจำนวนนี้มีขยะที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือจัดการอย่างถูกต้อง 49% ที่เหลืออีก 51% จึงตกค้างและถูกกำจัดไม่ถูกต้อง ส่วนจุดทิ้งขยะท้องถิ่นจำนวนกว่า 7,000 แห่ง กลับมีสถานที่กำจัดที่ถูกต้องเพียง 433 แห่งเท่านั้น
นายพิเชษฐ์ ชูรักษ์ ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่า แม้หลายประเทศทั่วโลกจะมีความตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนและมีนโยบายที่จะแก้ปัญหา แต่ความเป็นจริงคือการรับมือไม่ได้สอดคล้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีการคำนวณว่าถ้าโลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเพิ่ม 2 องศา และเพิ่มขึ้นๆ ทุกปีจะเกิดอะไรขึ้น ว่ากันว่าพื้นที่ที่มนุษย์เคยอาศัยอยู่จะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีก มหานครของโลก เช่น ลอสแองเจลีส กรุงไคโร ลิมาและบอมเบย์ ที่เคยปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งในบางช่วงอาจจะกลายเป็นเมืองที่ไม่มีหิมะตกอีกต่อไป
“ภายในจินตนาการที่จะเกิดขึ้นก็คือจะมีผู้อพยพหาแหล่งถิ่นฐานใหม่ จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรขนาดใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงภัยธรรมชาติที่จะเกิดรุนแรงมากขึ้น”นายพิเชษฐ์ กล่าว
สำหรับประเทศไทย กระแสเรื่องเขาหัวโล้นในวันนี้ หากมองในแง่ดีคือสามารถทำให้เกิดกระแสการรักโลกรักสิ่งแวดล้อม แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงการขึ้นไปปลูกต้นไม้คนละต้นแล้วจะสำเร็จ ดังนั้นความรู้สึกของประชาชนที่อยากเห็นป่าสีเขียวต้นไม้มากๆ ปัญหาคือจุดที่ถูกโฟกัสนั้นถูกที่หรือไม่ เพราะยังมีอีกหลายจังหวัดที่ป่าไม้ถูกทำลายมากกว่า หรือมองเห็นเพียงปัญหาการบุกรุก แต่ได้มองถึงนโยบายส่งเสริมด้านการเกษตรบ้างหรือยัง ที่มีการส่งเสริมปลูกข้าวโพดแต่เกษตรกรกลับไม่รวย ส่งเสริมปลูกอ้อยแต่บริษัทน้ำตาลรวย หรือคนไทยกินข้าวแพงแต่ชาวนากลับจน
“ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป่าไม้กี่ฉบับ มีผู้ปฏิบัติกี่หน่วยงาน ได้ทำงานด้วยกันหรือไม่ เราพูดถึงคำว่าบูรณาการจนน่าเบื่อหน่ายแต่กลับไม่เคยเป็นจริง ยังคงถือกฎหมายคนละตัว มีงบคนละก้อน สุดท้ายต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ในแง่นโยบายก็ค่อนข้างสวนทางกับความเป็นจริง เราส่งเสริมการลงทุนที่เดินหน้าเต็มสูบเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่การได้มาซึ่งเงินเหล่านั้นก็ต้องแลกกับการสูญเสียทรัพยากร ซึ่งทุกเส้นทางที่การลงทุนเดินไปถึง มีการทำลายทุกที่” ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กล่าว
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์เรื่องโลกร้อนที่เห็นมักเป็นปัญหาจากทรัพยากรที่ร่อยหรอ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากผลของการพัฒนาไม่สมดุล อยากมีตัวเลขเม็ดเงินมากแต่ก็ทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามมาด้วยปัญหามากมาย
นางสุวรรณา กล่าวอีกว่า กิจกรรมที่ก่อให้เกิดโลกร้อนอีกส่วนมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคนกรุงเทพฯ มากถึง 7 ตัน/คน/ปี หรือต่างจังหวัด 4 ตัน/คน/ปี ดังนั้นมาตรการหนึ่งที่ต้องทำคือลดการปล่อยก๊าซในชีวิตประจำวันด้วยการปรับตัว เช่น วินัยการทิ้งและคัดแยกขยะ หรือลดการใช้พลาสติกและโฟม ที่มีปริมาณสูงถึง 5 พันตัน/วัน
“ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ส่วนมากเป็นนักวิชาการที่ทำงานกันมานาน มีความรู้ความสามารถแต่อาจสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก จึงต้องอาศัยสื่อมวลชนในการช่วยอธิบายสู่สาธารณชน” นางสุวรรณา กล่าว