วงเสวนาถอดบทเรียน ‘เหมืองแร่เมืองเลย’ เอกชนฟ้องแหลก – ขู่ชาวบ้านสร้างความกลัว

วงถกด้านสิทธิมนุษยชน-ชุมชน ชำแหละพฤติกรรมเอกชนฟ้องร้องเพื่อข่มขู่ชาวบ้าน ยกเหมืองแร่เมืองเลยเป็นกรณีตัวอย่าง ผงะ! 9 ปี 19 คดี เรียกเงิน 320 ล้าน

เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น และองค์กรด้านสิทธิมนุษชน ร่วมกันจัดเวทีอภิปรายเรื่อง “กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2559 โดยได้หยิบยกการต่อสู้ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย กับกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด มาเป็นกรณีศึกษา

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า ส่วนตัวถูกบริษัททุ่งคำเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเพียงคนเดียวถึง 280 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาชาวบ้านมีความเข้มแข็งและยืนหยัดในจุดยืนที่ต้องการให้มีการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูทันที แต่เมื่อเกิดความรุนแรง มีคดีความมากขึ้นและชาวบ้านถูกฟ้องร้องในพื้นที่ห่างไกล นั่นทำให้ชาวบ้านเริ่มแตกกลุ่มออกไปบ้าง

นายธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องส่วนใหญ่จะเป็นแกนนำที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหว นั่นสะท้อนว่าวัตถุประสงค์ของผู้ฟ้องร้องนั้นไม่ได้ต้องการชนะคดี เพียงแต่ต้องการบั่นทอนขวัญและกำลังใจ เช่น สร้างความเครียด ทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางไกล ฯลฯ

“ตัวอย่างหนึ่งคือการที่บริษัทฟ้องร้องแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้านถึง 50 ล้านบาท จากกรณีที่ชาวบ้านขึ้นป้ายว่าหมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมืองซึ่งบริษัทอ้างว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยกรณีนี้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน เพราะบริษัทรู้ดีว่าชาวบ้านไม่มีจ่าย และสุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง”นายธีรพันธุ์ กล่าว

นายธีรพันธุ์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่บริษัททุ่งคำเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่จนกระทั่งเกิดความรุนแรงขึ้นในปี 2557 พบว่าบริษัทได้ฟ้องร้องคดีจำนวนมากกว่า 10 คดี โดยเฉพาะการที่บริษัทฟ้องร้องชาวบ้านแล้วขอเจรจาให้ชาวบ้านยินยอมให้บริษัทขนแร่ออกจากพื้นที่แลกกับการถอนฟ้อง และการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งชาวบ้านถูกฟ้องร้องที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้ยากลำบากในการต่อสู้คดีนั้น สะท้อนถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการฟ้องคดี

น.ส.มนทนา ดวงประภา ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแกล้งฟ้อง (SLAPPS) เป็นการใช้คดีความเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการแกล้งฟ้องร้องบุคคล ชุมชน หรือองค์กรที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ ซึ่งบางประเทศอย่างเช่นฟิลิปปินส์ได้จัดการกับเรื่องนี้ โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ให้คดีที่มีลักษณะเป็นการคุกคาม กดดัน หรือยับยั้งการกระทำตามกฎหมายใดๆ ที่บุคคลจะลุกขึ้นมาปกป้องเรียกร้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมหลุดออกไปจากระบบการไต่สวน

นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความและอดีตอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เมื่อชาวบ้านหลีกหนีการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรของชุมชนไม่ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือคดีความต่างๆ แม้ว่าชาวบ้านจะไม่อยากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อถูกฟ้องร้องก็ไม่อาจปฏิเสธภาระที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือชาวบ้านในฐานะจำเลยมักจะถูกสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นผู้กระทำผิด และมักจะถูกตัดสภาพแวดล้อมอื่นๆ ออกจนมองไม่เห็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

น.ส.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า จากกรณีศึกษาเรื่องเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง เป็นลักษณะของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ทั้งระยะเวลาการต่อสู้และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา มีทั้งการข่มขู่คุกคาม การฟ้องร้องคดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังเดินไปไม่ถึงขั้นที่เกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร เหตุผลหนึ่งคือบริบททางสังคมปัจจุบัน ด้วยการเติบโตของโซเชี่ยลที่สามารถส่งออกประเด็นทำให้พื้นที่สว่าง ต่อมาคือผู้ประกอบการที่เป็นลักษณะของทุนข้ามชาติ สุดท้ายคือลักษณะกระบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่เป็นในแนวราบ มีผู้เกี่ยวข้องหลายคนแสดงออกหลายช่องทาง ฉะนั้นความเสี่ยงที่จะลงมือใครคนใดก็จะไม่คุ้ม

อนึ่ง ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา บริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง ได้ฟ้องร้องชาวบ้านซึ่งอยู่รอบเหมืองไปแล้ว 19 คดี เรียกค่าเสียหายรวม 320 ล้านบาท อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้บริษัทได้เจรจากับชาวบ้าน โดยยื่นข้อเสนอที่จะถอนฟ้อง 12 คดี แลกกับการขอนำแร่ออกจากเหมือง ทำให้ในปัจจุบันมีคดีแพ่งและอาญาอยู่ระหว่างการดำเนินการ 7 คดี ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากมีการถอนฟ้อง 12 คดีแรกไปแล้ว