… ปริตตา หวังเกียรติ
รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่า ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือในการประชุมย่อยของกลุ่มตัวแทนประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2558 ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
นำมาซึ่งการแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดทำนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนระดับภูมิภาค
ไฟแซล แพรีช (Faizal Parish) ผู้อำนวยการ Global Environment Centre รายงานว่า 90% ของปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในอาเซียนเกิดจากการเผาป่าพรุ ซึ่งทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ จากการทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่าประเทศอาเซียนมีพื้นที่ป่าพรุเป็น 60% ของพื้นที่ป่าพรุทั่วโลก ซึ่งเป็นที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวน 7 หมื่นล้านตัน หรือคิดเป็น 13%ของปริมาณก๊าซที่กักเก็บในป่าพรุทั่วโลก

เขา กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศอาเซียนได้มีการเริ่มทำโครงการจัดการนิเวศน์ป่าพรุอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2557 โดยโครงการจะสิ้นสุดลงในปี 2563 จะครอบคลุมถึงเรื่องการให้ความรู้ชาวบ้าน การทำพื้นที่กันชนป่า การเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของแต่ละประเทศได้มีการประชุมหารือกันทุก 2-6 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนและประเมินผลการทำงาน อาเซียนยังมีกรอบการทำงานเพื่อจัดการการเผาป่าและการบุกรุกป่าผิดกฎหมาย แต่การบังคับใช้ยังมีข้อติดขัดในเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ปัญหา เนื่องจากพื้นที่ป่าพรุส่วนมากอยู่ในที่ที่เข้าถึงยาก
อำไพ หรคุณารักษ์ ตัวแทนสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) กล่าวว่า กลุ่มประเทศอาเซียนได้ทำแผนปฏิบัติการอาเซียนสำหรับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศร่วมกัน (Asean Action Plan on Joint Response to Climate Change) ควบคู่ไปกับการทำงานภายใต้ข้อตกลงมลพิษด้านหมอกควันข้ามพรมแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution)
“การทำงานจะครอบคลุมทุกอย่างในการจัดการปัญหาทางการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศอาเซียนตั้งเป้าว่าจะเป็นภูมิภาคที่ปราศจากหมอกควันให้ได้ภายในปี 2563” อำไพ ระบุ
อำไพ บอกอีกว่า ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดแบบประเทศยุโรปจึงอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยเองก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และมีทีมงานที่หารือกันอยู่อย่างต่อเนื่อง

ภาพจาก CNN
ดร.แกรี่ วิลเลี่ยม เตเซร่า (Gary William Theseira) รองผู้ช่วยเลขานุการสำนักการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอาเซียน ประเทศมาเลเซีย ยอมรับว่า ถ่านหินยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้พลังงานผสมผสานในประเทศอาเซียน ฉะนั้นการเลิกโดยทันทีอาจเป็นไปไม่ได้
ดร.แกรี่ วิลเลี่ยม เตเซร่า บอกว่า แม้ว่าศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนบางประเภท อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ในประเทศอาเซียนอาจจะไม่เต็มที่เท่าประเทศตะวันตก แต่อาเซียนก็มีพลังงานด้านอื่นซึ่งมีศักยภาพสูง เช่น พลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานความร้อนใต้ดิน และพลังงานความร้อนใต้มหาสมุทร จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนา
“อาเซียนต้องหาทางใช้พลังงานบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อลดการใช้พลังงานดั้งเดิมนั่นคือถ่านหิน”เขา ระบุ
กองบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม