‘สภาเกษตรกร’ จัดเวทีสับ ‘จีเอ็มโอ’ จ่อเคลื่อนไหวคว่ำ กม.เอื้อบรรษัทข้ามชาติ


… วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … (จีเอ็มโอ) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเกษตรอินทรีย์ ซึ่งล่าสุดกลุ่มเกษตรกรจาก 21 จังหวัด ประกาศชัดว่าจะเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในชั้นต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย “จีเอ็มโอ” ได้จัดประชุมวิเคราะห์ร่างกฎหมาย พร้อมจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สาระสำคัญตลอดระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง ของการประชุมเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งภาคการเกษตร ภาคการส่งออก ไปจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์เกษตรไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศในกลุ่มอียูจำนวนถึง 16 ประเทศ ที่ประกาศแบนพืชจีเอ็มโอ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองที่เริ่มไม่ยอมรับในพืชจีเอ็มโอ จนมี 3 รัฐ ที่ออกกฎหมายควบคุมแล้ว

“เห็นได้ว่าในขณะที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังต่อต้านเรื่องนี้มากขึ้น ประเทศไทยกลับกำลังสวนกระแส และกระโจนเข้าสู่ตลาดจีเอ็มโอ” วิฑูรย์ ระบุ

วิฑูรย์ บอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมการพิจารณาทั้งหมดก็เป็นฝ่ายที่สนับสนุนจีเอ็มโอทั้งสิ้น เนื้อหาของกฎหมายจึงเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทข้ามชาติ ขาดหลักความปลอดภัยต่อชีวิต ขาดการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขาดมาตรการป้องกันและความรับผิดชอบหากเกิดการปนเปื้อน

“หากรัฐบาลอนุมัติให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอได้ ย่อมมีโอกาสสูงมากที่เกสรของพืชจะปลิวไปผสมข้ามกับพันธุ์พืชของเกษตรกรในรัศมีหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเกษตรเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ถูกฟ้องว่าละเมิดสิทธิบัตร ทั้งที่พันธุกรรมของตัวเองถูกปนเปื้อนโดยไม่พึงปรารถนา ซ้ำร้ายผลผลิตยังถูกตีกลับจากตลาด ยังไม่รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว” วิฑูรย์ ฉายภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น

ผศ.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คุณค่าทางพันธุกรรมที่แท้จริงคือความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งก็หมายรวมถึงความมั่นคงของชาติด้วย แต่น่าแปลกที่รัฐบาลกลับผ่านกฎหมายที่มีรูรั่วมากมายเช่นนี้ ซึ่งจะทำลายรากฐานทรัพยากร ตลอดจนทำลายความมั่นคงของชาติ

“กฎหมายมีการเปิดช่องโหว่ให้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบการปนเปื้อนหากเป็นเหตุสุดวิสัย แต่เมื่อพืชทุกชนิดมีโอกาสผสมข้ามสายพันธุ์ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติตามธรรมชาติ เรายังจะเรียกว่าเหตุสุดวิสัยได้อยู่หรือ และสิ่งนี้เองก็จะนำมาซึ่งการล่มสลายของพันธุกรรมท้องถิ่น โดยกระบวนการเหล่านี้หากเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถย้อนกลับได้ หากพืชเกิดการปนเปื้อนจะทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” นักวิชาการรายนี้ ระบุ

ในส่วนของภาคธุรกิจการเกษตรที่กระทบ ปรีชา จงประสิทธิ์ บริษัทผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน กล่าวว่า ประเทศไทยวางเป้าหมายการเป็นครัวของโลก ซึ่งก็มีความเหมาะสมในการส่งออกทุกด้าน เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ ผลิตผลที่ได้เกินความต้องการบริโภคในประเทศ แต่ข้อได้เปรียบนี้รัฐไม่เคยให้ความสนใจ กลับไปสนใจกับธุรกิจและอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น จึงไม่เคยตระหนักว่าหากจีเอ็มโอเข้ามาทำลายความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์เกษตรในประเทศแล้ว จะมีประโยชน์ใดอื่นนอกจากเป็นการทำลายครัวของโลกซึ่งเป็นเป้าหมายประเทศ

ปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า รัฐเองพยายามแก้ปัญหาการส่งออกสินค้า และพยายามขยายผลยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ที่เป็นจุดเด่น และเป็นความเข้มแข็งว่าเรายังเป็นประเทศที่ปลอดจากจีเอ็มโอ แต่ขณะนี้รัฐก็กำลังส่งเสริมนำเอาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามาปลูก แล้วหลังจากนี้ตลาดเกษตรอินทรีย์ของประเทศยังจะได้รับความเชื่อถือจากตลาดโลกได้อย่างไร

“ผู้เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ล้วนเป็นรายย่อย แต่ถือเป็นเสียงส่วนมากของประเทศ จึงอยากขอให้ตระหนักว่าเกษตรอินทรีย์คือความมั่นคงทางด้านอาหาร ทุกวันนี้ผู้ทำเกษตรอินทรีย์ต้องต่อสู้กับเกษตรเคมีก็เป็นเรื่องที่หนักหนาพอแล้ว อย่าให้ต้องมาต่อสู้กับจีเอ็มโออีกเลย” ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์ กล่าว

ขณะที่การคุ้มครองผู้บริโภคจากกฎหมายจีเอ็มโอ รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนสถานะของประเทศไทยจากเดิมที่มีการควบคุมจีเอ็มโอ กลายมาเป็นประเทศที่มีการอนุญาต และจะส่งผลกระทบกับการส่งออกต่อไป ซึ่งการดัดแปลงพันธุกรรมพืชหรือสัตว์นั้นเป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่ายังไม่มีความแน่นอน ทั้งยังพิสูจน์ไม่ได้ถึงผลกระทบต่อมนุษย์และต่อพันธุกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ทั่วโลกจึงใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน คือกฎหมายต้องมีความชัดเจนเรื่องของการควบคุมที่เข้มงวด แต่เมื่อกลับมาดูร่างกฎหมายฉบับนี้ มีแต่ช่องโหว่ที่ไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว

“การคุ้มครองผู้บริโภคเองก็สำคัญมาก ต้องมีความปลอดภัยและฉลากระบุที่ชัดเจนของการเป็นสินค้าจีเอ็มโอ รวมถึงบริษัทที่จะต้องรับผิดชอบแม้จะถูกสงสัยว่าเกี่ยวพันกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แบบในกฎหมายนี้ที่ต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนจึงจะสามารถเอาผิดได้ ซึ่งนั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์” อาจารย์จิราพร ระบุ

เธอ บอกอีกว่า เรื่องของบัญชีจีเอ็มโอที่ต้องประเมินความเสี่ยงทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ว่าจะถูกปล่อยสู่สาธารณะหรือไม่ ซึ่งก่อนที่จะมีการทดสอบภาคสนามก็ต้องระบุชัดเจนถึงมาตรการดูแล และสุดท้ายคือการชดเชยที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบได้โดยที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์

สำหรับการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นตัวกลางในการรวบรวมรายชื่อเกษตรกรผู้คัดค้านทั้งหมด พร้อมกับข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนบนเวทีเพื่อนำส่งต่อ ครม.ภายในสัปดาห์นี้