เปิดสถานการณ์ ‘ละเมิดสิทธิ’ ในรอบ 6 ปี พบชาวบ้านถูก ‘โครงการพัฒนา’ ย่ำยีสาหัส

… ขวัญชนก เดชเสน่ห์

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ภายใต้การนำของ อมรา พงศาพิชญ์ หมดวาระลงแล้วตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.2558

ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือในวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา กสม.โดย “อมรา” และกรรมการอีก 6 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด นพ.นิรันดร์พิทักษ์วัชระ นพ.แท้จริง ศิริพานิช ปริญญา ศิริสารการ วิสา เบ็ญจะมโน และไพบูลย์ วราหะไพบูลย์ ตั้งโต๊ะแถลงผลการดำเนินงาน

ตลอดระยะเวลา 6 ปี (วันที่ 25 มิ.ย.2552-17 พ.ย.2558) ของการทำงาน มีคำร้องเข้ามายัง กสม.ทั้งสิ้น 4,143 คำร้อง โดย กสม.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3,185 คำร้อง

“สิทธิมนุษยชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม” เป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก ที่ กสม.ให้ความสำคัญ นั่นเพราะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อที่สุดในสังคมไทย

สำหรับประเด็นที่ กสม.ได้ตรวจสอบ พร้อมทั้งทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการ แบ่งออกเป็น 8 ประเด็นย่อยที่น่าสนใจ “สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม” ได้รวบรวมสาระสำคัญมานำเสนอ เพื่อสะท้อนภาพปัญหาซึ่งส่วนใหญ่ยังคงถูกละเลย

เริ่มต้นจาก “ปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและการจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด และจากการตรวจสอบของ กสม.พบว่าล้วนแต่เกิดจากการละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ติดตามดูแลให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับภาคเอกชน นำไปสู่การคุกคามและลอบสังหารแกนนำชาวบ้าน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ การร้องเรียนของเครือข่ายภาคตะวันออกต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด จ.ระยอง ผลกระทบจากโรงงานน้ำมันปาล์ม จ.ชุมพร โรงงานหลอมทองแดง จ.นครปฐม จ.กาญจนบุรี และจ.ชลบุรี รวมถึงการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

ถัดมาคือ “ปัญหาด้านที่ดิน ป่าไม้ และแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรป่าไม้” ซึ่งภาพที่ชัดเจนสะท้อนจากพฤติกรรมการผลักดันชาวกระเหรี่ยงออกจากบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานได้เข้ารื้อถอนและเผาทำลายบ้านเรือนของชาวกระเหรี่ยงซึ่งพำนักอยู่ในพื้นที่ป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น บ้านบางกลอยบน บ้านใจแผ่นดิน ทั้งที่เขาหล่านั้นผู้มีสิทธิที่จะเป็นผู้อยู่อาศัยและทำกิน


เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นว่ากฎหมายป่าไม้ยังไม่สอดคล้องต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  รวมทั้งทัศนคติของรัฐที่มองแบบแยกส่วน แยกคนออกจากธรรมชาติ ไม่รับรู้จารีตวัฒนธรรมการพึ่งพาระหว่างคนกับป่า ส่วนภาคประชาชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขข้อพิพาท และเมื่อรัฐเป็นผู้แก้ปัญหาฝ่ายเดียวจึงทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นที่ยอมรับ จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงในที่สุด

“ปัญหาจากโครงการพัฒนาภาคใต้” เป็นอีกประเด็นที่มีข้อร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะจาก 4 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และศูนย์พลังงานของประเทศ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีข้อร้องเรียนถึง 22 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

จ.สงขลา มีข้อร้องเรียนจาก 9 โครงการขนาดใหญ่ดำเนินการโดยรัฐ อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา โครงการวางท่อจากโรงแยกก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าจะนะ แปลงสัมปทานปิโตรเลียม ฯลฯ จ.สตูล ซึ่งถูกวางให้เป็นสะพานเศรษฐกิจ มีข้อร้องเรียนจากโครงการก่อสร้างท่าเรือลึกปากบารา และรถไฟฟ้ารางคู่ ตามโครงการแลนด์บริดจ์

สำหรับการตรวจสอบของ กสม.พบว่าแผนพัฒนาดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นจากรัฐส่วนกลาง ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ชาวบ้านมีความกังวลถึงผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

มากไปกว่านั้นคือ ทั้งที่โครงการเป็นแผนพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีการกำหนดไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว แต่กลับปิดกั้นไม่ให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านข้อมูลข่าวสาร ปัจจัยพื้นฐานของการละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ ต่อไป

เช่นดียวกับ “ปัญหาเรื่องการจัดการผังเมือง” ที่จัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินจนสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งมิติด้านอาชีพ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยพื้นที่ที่ร้องเรียนมามาก ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี จ.ระยอง จ.สตูล จ.สระบุรี จ.ชุมพร จ.สงขลา และ จ.นครศรีธรรมราช

กสม.จึงได้จัดทำข้อเสนอให้ขยายเวลาในการบังคับใช้ผังเมืองรวมเป็น 10 ปี และให้มีการประเมินผลทุกๆ 2 ปี และให้เริ่มดำเนินการผังเมืองใหม่ในช่วงปีที่ 4 ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับทราบการประเมิน และการแก้ไขอย่างทั่วถึง

ปัญหาต่อมาที่พบมาจาก “นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ชายแดน” ซึ่ง กสม.ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ จ.ตาก จ.มุกดาหาร และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้เพิกถอนสภาพป่าซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนของชาวบ้าน ส่งผลให้ต้องสูญเสียที่ดินที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

นอกจากนี้ ยังพบว่าการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่มีการชี้แจงข้อมูลและจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ กสม.จึงทำหนังสือถึงรัฐบาลให้พิสูจน์สิทธิอย่างชอบธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับประเด็น “การจัดการทรัพยากรพลังงาน” ยังคงเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการจัดหาพลังงานที่เหมาะสม เช่น โครงการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัดภาคใต้ โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ภาคอีสาน  หรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งอยู่กลางชุมชนในหลายจังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการขนส่งด้านพลังงาน เช่น ผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนจากการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัทเอกชนใน จ.ปราจีนบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา การเวนคืนพื้นที่จากการก่อสร้างโครงข่ายสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อน้ำมันลงพื้นที่อ่าวไทย

ต่อมาคือ “ปัญหาการจัดการทรัพยากรแร่” ที่แม้ว่าข้อร้องเรียนจะมีน้อยลงเมื่อเทียบกับ กสม.ชุดที่ผ่านมา แต่พบว่าระดับความรุนแรงและผลกระทบมีมากขึ้น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ไซยาไนต์ และปรอท แต่ที่มาของสารพิษยังเป็นประเด็นที่ยังคงถกเถียง แต่ก็ไม่มีกระบวนการพิสูจน์ที่ทุกฝ่ายยอมรับจึงยังไม่เกิดการแก้ไขปัญหา

ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคืออาการเจ็บป่วยของชาวบ้านในพื้นที่ และเหตุความรุนแรงอย่างในกรณีเหมืองแร่ทองคำ  จ.เลย ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์บุกเข้าไปจับตัว ข่มขู่ และทำร้ายร่างกายชาวบ้านจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และสถานการณ์ก็คล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นกับกรณีเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ และ พิษณุโลก รวมถึงการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี

ปัญหาสุดท้ายคือ “ปัญหาทรัพยากรข้ามพรมแดน” ซึ่ง กสม.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้ประโยชน์ และการบริการจัดการทรัพยากรของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจของไทย และบริษัทธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุน โดยมีทั้งหมด 14 กรณี เช่น โครงการสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนฮัตจี  เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว และการสร้างเขื่อนในจีน รวมทั้งการระเบิดเกาะแก่งต่างๆ ในแม่น้ำโขง สัมปทานที่ดินในเกาะกง  และอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา รวมถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า

แม้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีร้องเรียนนี้จะเกิดขึ้นนอกพื้นที่เขตอำนาจรัฐไทย แต่เมื่อพิจารณาในกติการะหว่างประเทศ ชัดเจนว่า กสม.มีอำนาจส่งเสริมการเคารพ และปฏิบัติตามหลักมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  จึงได้มีการเสนอประเด็นปัญหาต่อที่ประชุมในระดับโลกและระดับภูมิภาค

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ใน กสม. สะท้อนว่า ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าสิทธิการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะสำนักงานของ กสม.มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษแก่หน่วยงานรัฐที่ กสม.เรียกให้เข้าร่วมชี้แจงแต่กลับไม่มาให้ข้อมูล จึงทำให้เป็นอุปสรรคหลักในการแสวงหาข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ การละเมิดประเด็นที่ซับซ้อน มีมิติด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็นที่ยังขาดข้อมูลในเชิงลึก อีกทั้งการติดตามผลการดำเนินการไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้การตรวจสอบล่าช้า รวมถึงการวินิจฉัยคำร้อง การเสนอมาตรการแก้ไข  หรือข้อเสนอนโยบายไม่ทันต่อเหตุการณ์

—————————————————————————-

ขอบคุณภาพจาก กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คนชายข่าวคนชายขอบ,เหมืองแร่เมืองเลย