เขตศก.พิเศษ วิกฤตคนเล็กคนน้อย ระวังแผ่นดินลุกเป็นไฟ

image

… ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

เวทีเสวนาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ไม่งอก” สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ การพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ฉายภาพแนวคิดที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการทำร้ายทำลายคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างรุนแรง

นาวิน โสภาภูมิ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ให้ภาพความเป็นมาของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาหลากหลาย ทั้งหนี้สาธารณะสูงขึ้น นักลงทุนต่างชาติไม่มีความเชื่อมั่น สังคมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งจำเป็นต้องมีเม็ดเงินมาดูแลสวัสดิการ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โครงสร้างเศรษฐกิจไม่สมดุล การกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ไม่ชัดเจน

จากปัญหาข้างต้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) จึงมุ่งเน้นการลุงทุน การคมนาคมขนส่ง การเชื่อมเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด รวมพื้นที่ประมาณ 1.83 ล้านไร่ และยังได้เลื่อน จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ในเฟส 2 ขึ้นมาดำเนินการเร่งด่วนด้วย

“รัฐต้องนำงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ไปปรับปรุงโครงสร้างขั้นพื้นฐานรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในพื้นที่เลยว่าใครจะเข้ามาลงทุนบ้าง และรัฐก็ต้องการเอาที่ดินสาธารณะประโยชน์คืนเพื่อจัดสรรให้นักลงทุนเช่า โดยมองว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นป่าเสื่อมโทรม ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือมีชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่” นักวิชาการอิสระรายนี้ กล่าวถึงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น

นาวิน ตั้งคำถามว่า ถ้าโจทย์ในการพัฒนาคือการทำให้ประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเป็นอยู่ดีขึ้น คำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอย่างเดียวใช่หรือไม่ เพราะชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูง แต่กลับไม่มีการกระจายรายได้และงานอย่างแท้จริง

image

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่และเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยอ้างอิงคำอธิบายของ David Harvey ศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยา ที่อธิบายไว้ว่า โลกโลกาภิวัตน์คือผลของระบบทุนในการสะสมทุนต่อไป

“ในอดีตทุนมีข้อจำกัดในการสะสมทุน ดังนั้นทุนจึงต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ทุนสามารถสะสมทุนต่อไปได้” อาจารย์ไชยณรงค์ ระบุ

เขา บอกว่า แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่มีแนวคิดมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่แท้จริง หากแต่แนวคิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศไทยประเทศเดียว

“สิ่งที่เกิดขึ้นจากลัทธิเสรีนิยมใหม่คือทรัพยากรของโลกตกอยู่ในมือของคนไม่กี่คน สิ่งแวดล้อมของโลกถูกทำลายอย่างรุนแรง คนจนยิ่งจนมากขึ้น และลัทธินี้สามารถผสมพันธุ์กับลัทธิอื่นๆ ได้ทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ โดยมักจะอ้างว่ากฎหมายสำคัญต้องเคารพ แต่ตัวเองละเมิดกฎหมายมากที่สุด” นักวิชาการรายนี้ อธิบาย

ไชยณรงค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการค้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนก็ไปตั้งดักเอาไว้แล้ว และสิ่งที่รัฐและทุนจ้องจะใช้ประโยชน์จากนโยบายนี้ก็คือการขูดรีดแรงงานข้ามชาติ จนจะทำให้เกิดลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ คือเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรามีความชอบธรรมในการขูดรีดแรงงานข้ามชาติ

“ผมคิดว่าสิ่งแรกควรยกเลิกคำสั่งที่ 17 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการใช้มาตรา 44 จัดหาที่ดินเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ มิเช่นนั้นคนจนในพื้นที่ชายแดนจะเดือดร้อนที่สุด เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูดเพราะเขาเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่จู่ๆ จะใช้อำนาจมาตรา 44 ไปเอาที่ดินทำกินของเขา” อาจารย์ไชยณรงค์ ระบุ

image

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ กลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษถือเป็นวิกฤตของประเทศชาติที่เกิดขึ้นกับคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบล้วนแต่เป็นคนเล็กคนน้อยทั้งสิ้น นั่นเพราะนโยบายนี้ไม่มีการยึดโยงกับท้องถิ่นหรือชุมชน คนที่ประกาศหรือดำเนินนโยบายไม่รู้จักพื้นที่ ไม่ได้เข้าใจศักยภาพของพื้นที่จริงๆ

“ไม่มีใครหรอกที่ไม่ต้องการพัฒนา แต่อย่ารีบ คนชนบทก็ต้องการพัฒนา แต่เมื่อพัฒนาแล้วท้องถิ่นไม่ได้อะไรถามว่าจะรีบไปทำไม มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาขึ้นในทุกพื้นที่ทุกท้องถิ่น เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิต เกี่ยวข้องกับที่ดินทำกิน ถ้ายังเร่งรีบสุดท้ายแล้วชาวบ้านจะลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง” ครูตี๋ กล่าว

ปราชญ์ชาวบ้านรายนี้ บอกอีกว่า เรื่องสิทธิชุมชนเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้ารัฐละเมิดรัฐจะไม่ได้รบกับคนชั้นกลางแล้ว จากนี้จะไม่ใช่เรื่องการเมืองในกรุงเทพฯ อีกต่อไปแล้ว แต่มันจะลุกเป็นไฟทุกพื้นที่ทุกหัวระแหง ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้ยึดโยงกับท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ที่สำคัญจำเป็นต้องรีบทบทวนการใช้พื้นที่ ไม่ใช่พิจารณาเพียงแค่ศักยภาพการค้าการลงทุนชายแดนเท่านั้น

สำหรับการพัฒนาที่ควรจะเป็น คือพัฒนาไปตามทุนที่ชุมชนมีอยู่ เช่น อ.เชียงของ มีทุนคือ 1.ประวัติศาสตร์ 1,300 ปี 2.นิเวศน์ ซึ่งมีแม่น้ำโขง มีภูเขา มีแหล่งเกษตรที่ดิน 3.วัฒนธรรม ซึ่งมีความหลากหลายถึง 9 ชนเผ่า ดังนั้นเฉพาะ อ.เชียงของ ควรพัฒนาโดยมีประวัติศาสตร์ นิเวศน์ วัฒนธรรม เป็นกรอบ ส่วนพื้นที่อื่นๆ รัฐควรรับฟังชาวบ้านและเข้าใจพื้นที่ก่อนดำเนินการใดๆ