ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในยุคของ นายพิเชษฐ์ ชูรักษ์ เป็นประธานสมัยที่สอง ได้กำหนดภารกิจงานออกเป็น 5 โครงการหลัก ดังนี้
1. เวทีเสวนา พูดคุยประเด็นที่อยู่ในความสนใจประจำเดือน
2. โครงการเมื่อปลาจะกินดาว รายงานสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประจำปี
3. กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร พานักข่าวลงพื้นที่ปัญหาพร้อมกับการสร้างเครือข่าย
4. สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews พื้นที่นำเสนอข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ
5. โครงการอบรมนักศึกษานิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในการทำข่าวสิ่งแวดล้อม หรือ ค่ายพิราบเขียว
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ภารกิจทั้งหมดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ชมรมฯ สามารถทำหน้าที่ในฐานะศูนย์กลางข่าวสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม
“โครงการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม หรือ Greennews ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากว่าใช้ระยะเวลาแค่ 1-2 ปี สามารถทำให้มีผู้ติดตามได้ถึง 5 หมื่นกว่าคน รวมทั้งมียอดวิวจำนวนมากในหลายข่าว ทำให้เห็นว่า ณ วันนี้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สามารถทำหน้าที่ในการยกระดับการเป็นศูนย์กลางข่าวสิ่งแวดล้อมของประเทศ” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ขณะที่ภารกิจด้านอื่น เช่น การชักชวนนักข่าวลงพื้นที่ปัญหา ได้รับการตอบรับจากสื่อหลายแขนงเป็นอย่างดี โดยชมรมฯ ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อติดตามผลกระทบจากโครงการพัฒนาไปแล้วถึง 9 ครั้ง อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล, โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตากและเชียงราย, โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล จังหวัดเลย, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงลา เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ชมรมฯ ยังได้จัดเวทีเสวนา ถกประเด็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในกระแสไปแล้วกว่า 14 เวที ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดสนับสนุนให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน มีความต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละมิติทั่วประทศ เป็นที่รับรู้สู่สาธารณชนในวงกว้าง และในบางประเด็นยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย
โครงการเมื่อปลาจะกินดาว ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 ด้วยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คืออีกหนึ่งโครงการที่มีเสียงตอบรับอย่างกว้างขวาง โดยปีนี้ได้มีการปรับรูปแบบการเล่าเรื่องที่ต่างออกไปจากเดิม เข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหม่มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังเป็นปีแรกที่มีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย เวทีเสวนา รวมทั้งปาฐกถาพิเศษขึ้นกลางใจเมือง ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายของคณะกรรมการ โดยเฉพาะกรรมการชุดใหม่ที่จะต้องทำให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางข่าวสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียน เพื่อมีการเชื่อมโยงข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ในการที่จะทำหน้าที่ในการดูแลสิ่งแวดล้อม การสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนในภูมิภาคได้เข้าใจร่วมกัน” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ภารกิจเหล่านี้จะดำเนินการต่อในสมัยของคณะกรรมการชุดต่อไป แน่นอนที่สุดว่า ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สถาบันสื่อที่ก่อตั้งมานานถึง 22 ปี ยังจะต้องทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลาง การสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นสร้างความตระหนัก และส่งเสริมให้การรักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านเราเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายสืบไป