“จีรศักดิ์ มีฤทธิ์” ชาวประมงพื้นบ้านแห่งอ่าวคั้นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ สะท้อนทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น หลัง ศปมผ.ห้ามเครื่องมือประมงทำลายล้างออกเรือ ด้านนักวิชาการชี้มาตรการรายย่อยยังไม่รอบด้าน อาจไม่ได้ผลจริงในระยะยาว
ปี 2541 “นายจีรศักดิ์ มีฤทธิ์” ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวคั้นกระได อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งคำถามกับตัวเองถึงสาเหตุที่สัตว์น้ำบนอ่าวแห่งนี้ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย แม้เขาจะพยายามเปลี่ยนเครื่องมือทำประมงให้ตาอวนมีความถี่มากขึ้น แต่ก็ไม่อาจจับสัตว์น้ำได้เหมือนเดิม
คำตอบที่เห็นได้ชัดที่สุดคือจำนวนเรือที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยมีทั้งเรือในพื้นที่และจากจังหวัดอื่น ๆ เข้ามาจับสัตว์น้ำไม่เว้นทั้งกลางวันกลางคืน ซึ่งเรือแทบทุกลำรวมทั้งเรือของเขาเองล้วนใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ทั้งอวนตาถี่ อวนลาก อวนรุน ที่กวาดต้อนทรัพยากรใต้ท้องน้ำแบบไม่เลือกชนิด เป็นผลให้ลูกปลาไม่มีโอกาสเจริญเติบโต เขาจึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนประมงพื้นบ้านที่รู้จักกันทิ้งเครื่องมือเหล่านั้น
“เครื่องมือที่ลงทุนไปของผมทำเรือมา 5 หมื่น ของน้องเป็นแสน หลายคนก็ทำเรือมา 6-7 หมื่น เราทิ้งเลยไม่เอาแล้วกองเก็บไว้ที่บ้าน เราหยุดอวนตาถี่แล้วก็ทำงานอนุรักษ์อย่างซังกอ เราทำได้ 7 วันปลามันกลับมาให้เราจับเหมือนเมื่อก่อนเราก็เห็นว่ามันได้ผล แม้มันมีปลาเล็กเข้ามาแต่เราก็อดใจไว้ เดี๋ยวมันจะเป็นแบบเก่าอีก ทุกคนก็เคารพในกฎกติกาตรงนี้”
แม้ช่วงแรกการหยุดเครื่องมือควบคู่ไปกับการอนุรักษ์จะเห็นผล แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมากลับไม่อาจต้านทานกับจำนวนเรือพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือทำลายล้างได้ บ้างเข้ามาหากินในเขตที่ชาวบ้านทำงานอนุรักษ์ไว้และจับลูกปลาในบริเวณนั้นไปหมด บ้างมีเรืออวนลากกวาดเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ชาวประมงวางไว้จนเสียหาย ความขัดแย้งระหว่างชาวประมงกันเองจึงเกิดขึ้น
เมื่อทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะ สงครามแย่งชิงทรัพยากรจึงมีให้เห็นทุกวัน มือใครยาวกว่ามีเครื่องมือมากกว่า ก็ได้จำนวนปลาที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สัตว์น้ำแทบไม่เหลือให้เห็น
ชาวประมงพื้นบ้านอย่างจีรศักดิ์จึงจำเป็นต้องขายเรือ 1 ใน 2 ลำเพื่อนำเงินมาประทังชีวิต ภรรยาที่เคยช่วยกันขายปลาก็ต้องทำงานในโรงงานเพิ่มด้วย แต่ถึงอย่างไรแม้จะเห็นเพื่อนชาวประมงคนอื่น ๆ เริ่มทยอยทิ้งเรือและเปลี่ยนอาชีพ แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นทำอาชีพประมงและทำงานอนุรักษ์ต่อไป
สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น และมาตรการที่ไร้การควบคุมเริ่มเห็นชัดเจนจนท้ายที่สุดสหภาพยุโรป หรืออียูให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้เกิดการแก้ไขปัญหาการประมงแบบIUU จึงนำมาสู่มาตรการของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือ ศปมผ.ที่ประกาศยกเลิกเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ ได้แก่ อวนรุน (ยกเว้นอวนรุนเคย) ไอ้โง่ อวนล้อมปลากระตักปั่นไฟ และโพงพาง เป็นผลให้เรือประมงพาณิชย์หลายลำที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ไม่สามารถออกเรือได้ดังเดิม
ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนมาตรการนี้ก็เริ่มเห็นผล อ่าวคั้นกระไดกลับมาสมบูรณ์ให้เห็นอีกครั้ง จีรศักดิ์โชว์ปลาน้ำดอกไม้ขนาดเต็มวัย 5-6 กิโลกรัม ที่ตกด้วยเบ็ดขึ้นมาจากลังน้ำแข็ง ซึ่งภาพเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อครั้งเรือประมงแบบทำลายล้างยังคงมีให้เห็นทั่วอ่าว
“ไม่เคยมีปลาใหญ่ขนาดนี้มาก่อน หลังที่เราอนุรักษ์ฟื้นฟูมา 7 ปี ประกอบกับมาตรการของรัฐที่ทำให้เรืออวนลากอวนรุนลดจำนวนลง ไม่กล้าเข้ามาในเขตปะการังซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลาสาก ปลามันก็มีโอกาสได้โตและโตไวขึ้น ซึ่งตัวนี้เราก็ไม่ได้ไปหามาไกล หาออกจากฝั่งไปไม่กี่เมตรก็ตกมาได้แล้ว ตัวนี้ราคาก็เกือบ 1,000 บาท ซึ่งชาวประมงจะได้ประมาณ 2-4 ตัวต่อวัน”
นอกจากนั้นยังมีปลากระเบน ที่เคยหายไปเป็น 10 ปีเพราะเรืออวนลากก็กลับมาให้เห็นอีกครั้ง และยังมีปลาเก๋า ปลาสร้อย กุ้งแช่บ๋วย ที่จับได้ขนาดใหญ่ขึ้นในปริมาณมากขึ้น
“นายชาตรี กำลังแรง” อีกหนึ่งชาวประมงพื้นบ้านก็เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน “พอมาตรการมันออกมาในทะเลเรือน้อยลง สมดุลกับธรรมชาติและสมดุลกับสัตว์น้ำที่จับขึ้นมา ทำให้ชาวประมงเรือเล็ก ๆอย่างเราได้เข้าถึงทรัพยากรบ้าง อย่างผมออกเรือไดหมึก 4 คืนได้มา 1 หมื่นบาทก็พออยู่ได้ พอให้ลูกได้ไปโรงเรียนอย่างไม่เดือดร้อน”
จีรศักดิ์กล่าวเสริมว่าที่ผ่านมากรมประมงละเลยการควบคุม จนทำให้จำนวนเรือประมงแบบทำลายล้างเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมาตรการดังกล่าวออกมา จำนวนเรือที่ใช้เครื่องมือผิดประเภทก็ลดลง ผลผลิตของชาวประมงเพิ่มขึ้น แม้ไม่เพิ่มจนทันตาเห็น แต่เชื่อว่าไม่กี่เดือนข้างหน้าถ้ามาตรการยังเข้มข้นเช่นนี้จำนวนสัตว์น้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
“ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ” ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน
นอกจากนี้เสียงจากนักวิชาการ “ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ” ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน เห็นว่าการไม่นิรโทษกรรมเรืออวนลากอวนรุน และการหยุดเครื่องมือบางชนิดเป็นเรื่องที่ดี แต่พบว่ารายละเอียดของมาตรการบางอย่าง เช่นการกำหนดจำนวนวันของเครื่องมือบางชนิด ยังไม่ได้ถูกคิดอย่างรอบด้าน และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่แท้จจริงของชาวประมง ส่งผลให้การทำประมงบางชนิดที่ทำอย่างถูกต้องจำเป็นต้องหยุดเรือและสูญเสียรายได้ การกำหนดมาตรการจึงต้องนำทุกมิติรวมทั้งมิติของเศรษฐกิจมาคิดร่วมด้วย จึงจะสามารถบังคับใช้ได้อย่างเห็นผลในระยะยาว
จีรศักดิ์ทิ้งท้ายถึงเพื่อนประมงพาณิชย์ที่หลายลำเดือดร้อนจากมาตรการที่เข้มงวด จนต้องหยุดเดินเรือและขาดรายได้ แต่เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังจะทำให้ทะเลฟื้นตัวขึ้น และต่อไปไม่ว่าจะเป็นประมงประเภทไหนก็จะมีสัตว์น้ำไว้ให้จับอย่างเพียงพอตลอดปี รวมไปถึงคนไทยก็จะมีสัตว์น้ำตามฤดูกาลไว้บริโภค ในสายตาประมงพื้นบ้านอย่างเขาจึงถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ขวัญชนก เดชเสน่ห์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงาน