ฟังเสียงชาวมอญบอกทุนไทย “ไม่มีใครต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

กลุ่มชุมชนพะลึนในรัฐมอญเดินทางเข้ากรุงฯ หวังส่งเสียงถึงทุนไทยอย่าไปรุกล้ำชาวบ้าน ชูความสมบูรณ์ดั้งเดิมในธรรมชาติที่จะถูกทำลายหลังการมาของถ่านหิน

ภายหลังความล้มเหลวในการจัดงานประชุม “ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพะลึน” โดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแดนมอญ (Human Rights Foundation of Mon Land – HURFOM) และมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (FER/TERRA) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกยกเลิกและเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดด้วยเหตุผลที่ทางผู้จัดแจ้งว่าฝ่ายบ้านเมืองไม่อนุญาต สร้างความผิดหวังแก่ตัวแทนชุมชนจากพื้นที่เขตพะลึน เมืองเย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา ที่ต้องเดินทางมาเสียเที่ยว

ซึ่งจุดประสงค์ของงานดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ของชุมชนมอญในประเทศไทย และสังคมไทยโดยรวม ให้ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยบริษัทที่มาจากประเทศไทย ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพะลึน โดยมีพระและชาวบ้านจากในพื้นที่ผลกระทบเดินทางมาร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงเผยแพร่ผลการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่งคั่งของชุมชนในพะลึน โดยชุมชนท้องถิ่น

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้ร่วมพูดคุยกับกลุ่มชุมชนที่เดินทางมาในครั้งนี้ โดยทราบข้อมูลว่าพื้นที่ในเขตพะลึน บริเวณหมู่บ้านอันแตง ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ โดย บมจ.ทีทีซีแอล จากประเทศไทย หรือเดิมคือ บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปเปอร์เรชั่น มีเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 และผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2562 ซึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาณ 937.5 ไร่ เพื่อสร้างทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือที่จะยื่นออกไปในทะเลยาว 5 กิโลเมตร โดยพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้านี้เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในพะลึน

หนึ่งในตัวแทนชุมชน “พระโนนแต” แห่งวัดอันแตง เล่าว่า ทางบริษัทฯดังกล่าวได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับทางรัฐบาลพม่าตั้งแต่ราวปลายปี 2556 เพื่อเข้ามาสำรวจพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่กว่าชาวบ้านในเขตพะลึนจะได้ทราบแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ คือในเดือน เม.ย.2557 โดยมีตัวแทนจากบริษัทฯมาชี้แจงโครงการ แต่ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆมากนัก

ซึ่งนับตั้งแต่นั้น ชาวบ้านก็แสดงความคัดค้านไม่เห็นด้วยในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวมาโดยตลอด และประกาศจุดยืนชี้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการเดินรณรงค์หรือการชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในพื้นที่ภูเขา ทะเล ป่าชายเลน ทุ่งนา และชุมชน ตลอดจนการทำประชามติที่แสดงผลออกมาชี้ชัด ว่าผู้คนในชุมชนเกือบทั้งหมดต่างไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แต่ต่อมาในภายหลัง ทางบริษัทฯกลับนำภาพถ่ายจากการประชุม และการพาชาวบ้านไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ญี่ปุ่นและไทย มาเป็นหลักฐานกล่าวอ้างความเห็นชอบของชุมชนให้แก่กระทรวงพลังงานไฟฟ้า ประเทศพม่า นำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA) กับกรมการวางแผนไฟฟ้าพลังน้ำ ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2558 ก่อนที่จะจัดงานแถลงข่าวที่กรุงเทพฯในเวลาต่อมา ส่งผลให้หุ้นของบริษัทฯ พุ่งสูงขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น

จึงเป็นเหตุให้ในเช้าวันที่ 5 พ.ค. 2558 ประชาชนทั้งชาวพะลึนและทั่วรัฐมอญกว่า 6,000 คน เดินทางมาร่วมชุมนุมประท้วงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ลานหน้าวัดหมู่บ้านอังแตง รัฐมอญ เพื่อตอกย้ำจุดยืนของประชาชนในพื้นที่ ในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของ บมจ.ทีทีซีแอล จากประเทศไทย แม้เหตุการณ์นี้จะถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมอญตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทางบริษัทฯลดละความตั้งใจแต่อย่างใด และยังคงมีความพยายามเข้ามาสำรวจพื้นที่การสร้างอีกหลายครั้งในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

ด้านตัวแทนชาวบ้าน เล่าว่า อาชีพหลักของคนในเขตพะลึน คือ การทำสวนหมาก ประกอบกับผลไม้หลายชนิดปลูกร่วมด้วย, การทำนา, การประมง รวมถึงการแปรรูปผลผลิตการประมงที่สำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่ยังสมบูรณ์ ปราศจากมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำจากภูเขาพะลึน ฝนที่ยังไม่โดนหมอกควันมลพิษปนเปื้อน ยังคงปลอดภัยในการบริโภคสำหรับทั้งคนและสัตว์ ป่าชายเลนและหาดเลนที่แผ่กว้างไกล รวมถึงท้องทะเลที่ยังมีสัตว์และพืชน้ำอย่างมั่งคั่ง ส่งผลให้ชุมชนที่นี่ยังคงสามารถดำรงวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้จนถึงปัจจุบัน

จากการสำรวจรายได้โดยชุมชนในช่วงปี 2558 พบว่า ชาวบ้านมีรายได้รวมจากการขายหมากประมาณ 91 ล้านบาทต่อปี (จาก 712 ครอบครัว), รายได้รวมจากการประมง ประมาณ 72 ล้านบาทต่อปี (จาก 108 ครอบครัว) และรายได้รวมจากการขายข้าวประมาณ 14 ล้านบาทต่อปี (จาก 286 ครอบครัว) ยังไม่รวมถึงอาชีพเสริมอื่นๆ อาทิ การขายผลไม้จากสวนหมาก, การเก็บของป่า, การหาสัตว์น้ำอื่นๆในเขตหาดเลน และการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ในป่าชายเลน เป็นต้น

“มิ นี มา อุ๊” หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ความกังวลของชาวบ้านที่นี่คือการเข้ามาของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากทำให้วิถีชีวิตรวมถึงการทำมาหากินดั้งเดิมหายไปแล้วชาวบ้านจะอาศัยอยู่ได้อย่างไร ซึ่งทางบริษัทฯก็ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และตอบไม่ได้ว่าจะสามารถรับผิดชอบชาวบ้านได้อย่างไรบ้าง คำกล่าวอ้างที่ว่าโรงไฟฟ้าจะเกิดการจ้างงานกว่าหมื่นอัตรา แต่ก็เป็นไปได้สูงมากว่าน่าจะล้วนมาจากคนนอกพื้นที่ ซึ่งการเข้ามาจะมีแต่สร้างปัญหาให้กับวิถีชีวิตของชาวมอญ ไม่ว่าจะในแง่สิ่งแวดล้อมหรือชาติพันธุ์

และที่ผ่านมามีการลงมาให้ข้อมูลกับชาวบ้านจริง แต่ก็ให้ข้อมูลในศัพท์วิชาการที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ และระหว่างที่ยังไม่เข้าใจกันนั้นก็ทำการกว้านซื้อพื้นที่พร้อมกันไปด้วย ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่มีความไว้วางใจกับบริษัทฯอีกต่อไป การเดินทางมาในครั้งนี้ จึงอยากขอให้ทางบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น รัฐบาล หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายในประเทศไทย ได้ทราบว่าคนในพื้นที่นั้นไม่มีใครต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน