Bike for Mom จุดประกายแค่ไหน…? ใกล้หรือยังกับคำว่า “เมืองจักรยาน”

ภาพจาก Bangkok Post

ภายหลังกิจกรรม Bike for Mom “ปั่นเพื่อแม่” ที่ได้สร้างความปลื้มปิติให้กับพสกนิกรชาวไทยที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา และได้ร่วมกันบันทึกสถิติโลกการปั่นจักรยานหมู่มากที่สุด ซึ่งได้รับรองที่จำนวน 136,411 คัน ชนะประเทศไต้หวันแชมป์เก่าที่จำนวน 72,919 คัน ไปได้สำเร็จ แต่หากมองในแง่ของการรณรงค์เพื่อความตื่นตัวในการใช้จักรยานแล้ว จะสามารถสร้างความสำเร็จได้เพียงใดอาจเป็นเรื่องที่ต้องมองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้ว่าประชาชนทำอย่างไร และภาครัฐทำอะไร

– เมืองจักรยานใหญ่ๆ ต่างก็เริ่มใหม่หลังแคมเปญ

หนึ่งในนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง “สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ได้แสดงความคิดเห็นว่า การจัดกิจกรรมพิเศษในการปั่นจักรยานครั้งใหญ่ๆนั้น จะเห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่เกิดความสนุกสนาน เป็นในเชิงสันทนาการ หรืออย่างล่าสุดคือการได้ร่วมดูตัวเลขสถิติที่ช่วยกันทำลาย ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีมหกรรมให้คนสามารถเข้ามามีประสบการณ์ได้ แต่ในความจริงแล้วนอกเหนือจากการปั่นเป็นขบวนพาเหรดเช่นนี้ ควรแฝงการสื่อสารที่จะเปิดช่องเพื่อนำไปสู่การใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

“เราคงตอบไม่ได้ทันทีว่าหลังกิจกรรมนี้แล้ว ผู้คนจะหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นหรือลดลงแค่ไหน เราก็หวังว่าทั้งภาคสังคมและภาครัฐจะได้เห็นความสำคัญของการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ก็อยากเห็นว่ารัฐมีแผนอย่างไรบ้างหลังการจัดอีเวนท์เช่นนี้ ที่จะช่วยยกระดับความสำคัญ และกระตุ้นจิตสำนึกของผู้คนในสังคม เพื่อให้สามารถกลายเป็นเมืองจักรยานได้จริง”

ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่เกิดเมืองจักรยานขึ้นได้ ก็ไม่ได้มีสภาพถนนที่พร้อมเช่นกัน แต่เมื่อหลังกิจกรรมแคมเปญจักรยานต่างๆ ถนนก็ถูกปรับ จิตสำนึกการใช้ถนนของผู้คนดีขึ้น จำนวนคนปั่นก็มากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่ภายหลังเมื่อมีการประกาศใช้โซนเก็บเงินค่ารถติดที่ราคาแพง ภายในวันต่อมารถยนต์ก็หายไปจากท้องถนนกว่า 3 หมื่นคันและกลายมาเป็นจักรยานแทน แต่นั่นคือการปรับถึงจุดที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้จักรยานได้อย่างปลอดภัย

“ทุกวันนี้เราเห็นผู้ที่เดินทางไปหาแหล่งเพื่อปั่นจักรยาน แต่อยากเห็นผู้ที่ใช้จักรยานในการใช้ชีวิต ซึ่งตอนนี้ยังเป็นคนส่วนที่น้อยมากที่จะรับมือได้กับสภาพจราจร สภาพถนนแบบนี้ มันยังไม่ใช่ที่สำหรับคนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ภาครัฐต้องวางแผนในการปรับกายภาพของเมือง แต่ไม่ใช่การไปรุกพื้นที่แม่น้ำเพื่อทำทางปั่น หรือไปสร้างเส้นทางที่ต้องเอาจักรยานขึ้นรถเพื่อไปหา แต่ไม่สามารถเอาขึ้นแอร์พอร์ตลิ้งได้ สิ่งเหล่านี้คนออกแบบไม่เข้าใจ วิธีคิดยังต้องปรับอีกเยอะ”

ในเมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย ก่อนจะเป็นเมืองจักรยานในทุกวันนี้ ก็เริ่มจากแคมเปญอย่างคาร์ฟรีเดย์เช่นกัน โดยมีการปิดการสัญจรโดยรถยนต์ในบางพื้นที่ จากนั้นต่อมาก็กลายเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ แต่ในขณะเดียวกันก็เดินหน้าเร่งทำระบบขนส่งมวลชนที่ดี โครงการการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ และเลนจักรยานที่พร้อม ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารออกไปนั้นมีความสำคัญ แต่จะต้องมีการวางแผนด้วย

“บนถนนเส้นเดียวกันก็มีภาครัฐหลายหน่วยงานมากที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องหาวิธีนำเอาทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกันให้ได้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่กำหนด ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ทำเต็มที่แล้ว ทั้งการสื่อสารและการสร้างกิจกรรมมากมาย แต่นอกเหนือจากนี้พ้นเขตอำนาจแล้ว เราลุกไปทำถนนไม่ได้ หากรัฐไม่มีก้าวต่อๆไปกิจกรรมที่จัดก็จะจบอยู่ตรงนี้ เราต้องใช้โอกาสนี้มาสานต่อ ควรจะมาปรึกษาหารือกลับกลุ่มผู้ที่ใช้อยู่ทุกวัน เพราะสิ่งเหล่านี้เขาจะสามารถช่วยได้”

– ความปลอดภัย…ปัญหาใหญ่ของนักปั่นไทย

หนึ่งในนักปั่นที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้รถจักรยาน ผู้ก่อตั้งแคมเปญเรียกร้องให้ กทม.เปลี่ยนฝาท่อทั่วกรุงเทพฯ “นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล” หรือ “แนน” แห่ง Bangkok Bicycle Campaign กล่าวว่า ภายหลังกิจกรรม “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” พบว่ากระแสตอบรับค่อนข้างดีมากจากผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งทำให้วันรุ่งขึ้นได้รับการติดต่อจำนวนมากจากนักปั่นหน้าใหม่ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมและรู้สึกเสียดาย ที่ต่างสอบถามถึงกิจกรรมการปั่นในครั้งต่อๆไป ซึ่งนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่ดีมาก แต่กลับต้องมาสะดุดจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันบนสี่แยกราชประสงค์ในวันถัดมา

“อารมณ์ผู้คนมันถูกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างรวดเร็วเลย ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่จึงถูกหยุดไว้ ทำให้อธิบายยากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็นอย่างไรอีกครั้ง แนนเชื่อว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ระเบิดน่าจะมีอะไรดีๆเกิดขึ้นได้อีกเยอะ เพราะในเดือนต่อไปก็มีการนัดกับทางตำรวจเอาไว้แล้วเรื่องของกิจกรรมคาร์ฟรีเดย์ แต่พอเกิดเหตุการณ์ทำให้เราไม่ได้คุยอะไรเพิ่มเติม ให้ทางผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของเขาก่อน”

แต่ทั้งนี้ตนก็เชื่อว่าคนที่ร่วมปั่นจักรยานในวันนั้นทุกคนอยากเห็นกรุงเทพฯเป็นเมืองจักรยานได้จริง ที่มีพื้นที่ปั่นในชีวิตประจำวันได้ จากการที่เห็นหลายคนที่ไม่เคยปั่นเป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร ก็ปั่นได้อย่างสนุกสนานและไม่รู้สึกเหนื่อยอะไร ซึ่งตนคิดว่าความสำคัญคือเรื่องของความปลอดภัย เพราะหากผู้คนรู้สึกปลอดภัยที่จะปั่นจักรยานแล้วก็อยากที่จะออกมาใช้กันมากขึ้น กิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นโอกาสที่จะแสดงให้ภาครัฐเห็นว่าประชาชนพร้อมที่จะใช้จักรยาน หากสามารถจัดการเรื่องของความปลอดภัยอย่างพื้นผิวถนน หรือการจราจรได้

ภาพจาก มติชน

แนนยังกล่าวต่ออีกว่า หากรัฐส่งเสริมอย่างจริงจังแล้วก็สามารถสำเร็จได้ ดูได้จากกิจกรรมปั่นเพื่อแม่ที่ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ผู้คนทั่วประเทศต่างรู้จักกิจกรรมนี้กันทุกคน จึงควรจะส่งเสริมเพิ่มเติมเรื่องของจิตสำนึกการแบ่งปันพื้นที่ถนน แม้แต่การจำกัดความเร็วรถ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก หรือกระทั่งภาคเอกชนเองก็สามารถเปลี่ยนได้เลยเช่นกัน เริ่มจากเรื่องง่ายๆเพียงแค่การแบ่งพื้นที่ในลานจอดรถเพื่อจอดจักรยาน หรือตามออฟฟิศก็อนุญาตให้มีห้องอาบน้ำ เป็นต้น

“เราสามารถช่วยกันทุกฝ่ายได้ ไม่จำเป็นต้องรอภาครัฐเพียงอย่างเดียว คำถามคือคุณเปิดใจแล้วหรือยัง หากใช่เราก็สามารถลุยได้เลย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วขอเพียงแค่การแบ่งปันเท่านั้น ทั้งพื้นที่ถนน พื้นที่ลานจอด เพราะผู้ที่ปั่นจักรยานก็ไม่ได้ต้องการเรียกร้องอะไรนอกเหนือไปจากความปลอดภัยแก่ร่างกายและทรัพย์สินเลย”

ภาพจาก Pantip

– ชัยนาทโมเดล เมืองจักรยานสร้างได้ ด้วยส่วนร่วมทุกภาคส่วน

จังหวัดอันดับที่ 1 ของประเทศจากการเก็บสถิติในกิจกรรม Bike for Mom ด้วยตัวเลข 7,412 คัน  “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวถึงบรรยากาศของกิจกรรมในวันนั้นว่าหัวแถวของขบวนจักรยานกับหางแถวนั้นมีระยะไกลกว่า 9 กิโลเมตร โดยหลังจากที่หัวแถวเคลื่อนขบวนไป 45 นาทีแล้วหางแถวจึงได้ปล่อยตัว ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ชาวชัยนาทมีอีกนอกเหนือจากความตั้งใจในการร่วมแสดงความจกรังภักดีแล้ว คือความพร้อมของการใช้จักรยานที่มีในทุกภาคส่วนของคนที่นี่ บนพื้นฐานของจังหวัดที่ตั้งเป้าจะให้เป็นเมืองจักรยาน

ซึ่งพลังที่ได้ขับเคลื่อนในการประกาศจุดยืนของจังหวัดชัยนาทเป็นเมืองจักรยานนั้นมีอยู่หลายประการ ประการแรกคือจังหวัดชัยนาทมีการจัดกิจกรรมจักรยานทุกเดือนในชื่อ “ชัยนาทเมืองจักรยาน 12 เดือนแห่งการปั่น” พร้อมรูปแบบงานที่สร้างสรรค์ตามช่วงเวลา อย่างเช่น เดือน ก.พ.ช่วงวันวาเลนไทน์ ก็เป็นการปั่นคู่รัก, เดือน ส.ค.นาข้าวในพื้นที่กำลังขึ้นสวยงาม ก็เป็นการปั่นชมทุ่งเขียวขจี, เดือน พ.ย.ช่วงลอยกระทง ก็เป็นการปั่นชมจันทร์

โดยนอกจากการปั่นจักรยานแล้วยังมีกิจกรรมประกอบด้วย เช่นเดือน ต.ค.ที่เป็นการปั่นชมทุ่งรวงทอง ก็มีการให้ความรู้เรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จังหวัดชัยนาท อันเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดในโลก เป็นต้น และหากใครที่อยากมาร่วมกิจกรรมก็ยังสามารถขอให้จัดหามัคคุเทศก์ หรือแม้แต่ขอยืมจักรยานได้ฟรีอีกด้วย ซึ่งผลตอบรับก็เป็นไปอย่างดี เพราะในช่วงกิจกรรมแล้วโรงแรมและรีสอร์ทในจังหวัดนั้นเต็มทุกเดือน

ประการต่อมาคือความตื่นตัวในการใช้จักรยานของคนชัยนาท ที่ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมามีนักปั่นเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ก่อเกิดชมรมปั่นจักรยานนับร้อยที่รวมตัวกันเป็นสหภาพ ไปจนถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในจังหวัดที่ให้การต้อนรับนักปั่นจักรยานทั้งหลายอย่างเป็นมิตร แม้กระทั่งผู้ประกอบการห้างร้านที่ได้จัดทำส่วนของที่จอดรถจักรยาน หรือที่ให้บริการอาบน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“พี่น้องที่นี่มีอารมณ์และความผูกพันเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนร่วมทางบนถนนก็ให้เกียรติรถจักรยาน ขี่ไปไหนไม่มีใครบีบแตรไล่ และสิ่งที่น่าประทับใจมากคือเวลามีกิจกรรมปั่นจักรยานแล้ว คนที่แม้ว่าจะไม่ได้ปั่นแต่ก็ออกมาร่วมกิจกรรมด้วยเพิ่มมากขึ้น ออกมาร่วมเชียร์อัพเพิ่มความสนุกสนาน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่หาได้ยากในเมืองไทย ผมเชื่อว่าหากใครได้มาร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานที่นี่แล้วต้องประทับใจทุกคน”

อีกประการหนึ่งคือเรื่องของกายภาพ ซึ่งถนนชัยนาทนั้นมีผิวจราจรที่มีคุณภาพสามารถปั่นจักรยานได้ทุกเส้นทาง และได้ใช้ในการจัดแข่งขันมามาก รวมไปถึงสนามแข่งขันที่มีหลากหลายไม่ว่าเป็นดาว์นฮิล, ครอสคันทรีย์ หรือเสือภูเขา และล่าสุดรัฐบาลก็ได้ผ่านอนุมัติงบประมาณกว่า 60 ล้านบาทเพื่อสร้างเลนจักรยานระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรในจังหวัด ประกอบกับภาคส่วนอื่นอย่างกรมทางหลวงชนบท ที่จะจัดทำทางจักรยานผ่านจังหวัดปทุมธานี อยุธยา มาจนถึงชัยนาท ระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร หรือภาคเอกชนที่จะร่วมทำสนามแข่งให้มีครบทุกประเภท

“สิ่งที่เป็นจุดแข็งที่ทำให้จังหวัดชัยนาทก้าวมาจนถึงขั้นนี้ ก็เพราะพื้นฐานผู้คนที่มีความตื่นตัวในการใช้จักรยานอยู่แล้ว ตลอดจนผู้นำท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุน ทุกภาคส่วนที่ช่วยกันคิดแผนพัฒนาซึ่งมีทิศทางที่ชัดเจน ประกอบกับบรรยากาศของเมืองเกษตรกรรมที่มีธรรมชาติสวยงาม และสภาพอากาศดี ผู้คนมีความเป็นมิตร ไม่เร่งรีบ สอดรับกับวิถีการใช้จักรยาน ซึ่งผมมั่นใจว่าเราไปถึงเป้าของการเป็นเมืองจักรยานได้อย่างแน่นอน” ผู้ว่าฯชัยนาทกล่าวสรุป

ภาพจาก โพสต์ทูเดย์

– กระแสไลฟ์สไตล์ชี้ ตลาดจักรยานยังไปต่อได้

“ภานุ ชูศักดิ์แสงทอง” หรือ “อุ้ย” ทายาทเจ้าของร้านแสงทองไบค์ แอนด์ พาร์ท หนึ่งในร้านจักรยานเก่าแก่ที่เปิดมากกว่า 30 ปี กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดจักรยานในช่วงกิจกรรมที่ผ่านมาว่าเป็นไปอย่างคึกคัก ลูกค้าหลายรายที่ไม่เคยปั่นจักรยานก็ต่างเดินทางมาเลือกหาพาหนะสองล้อคันใหม่เพราะงานนี้ และที่มีจำนวนมากกว่าคือผู้ที่นำรถจักรยานคันเก่ามาซ่อมแซมฟื้นฟู ปรับสภาพเพื่อนำมาใช้งานอีกครั้ง รวมไปถึงผู้ที่มาซื้ออุปกรณ์เสริมสำหรับการปั่นจักรยาน เช่น หมวก ถุงมือ กางเกง ไฟ เป็นต้น

“จักรยานที่จะสามารถใช้งานในแง่ของการปั่นออกกำลังกายได้ในระดับที่โอเค ราคาจะอยู่ที่หลักหมื่นขึ้นไป หลายคนอาจจะมองว่าเป็นมูลค่าที่เยอะ คนที่ซื้อจึงต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจจะปั่นอย่างจริงจังเท่านั้น แต่จริงๆแล้วผมคิดว่าเป็นราคาที่ไม่แพงนะ บางคนอยากออกกำลังกายก็ไปซื้อลู่วิ่งไว้ที่บ้านบ้าง หรือไปเข้าเล่นฟิตเนสบ้าง ซึ่งพวกนี้ราคาก็เป็นหมื่นเหมือนกันทั้งนั้น แต่จักรยานนี่คุณยังสามารถนำไปใช้งานอื่น เดินทางออกนอกบ้านได้ ไม่ต้องกลายเป็นราวตากผ้า”

ทั้งนี้ในภาพรวมของตลาดจักรยาน หากมองย้อนกลับไปในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นขาขึ้นของตลาดจักรยานอย่างแท้จริง ด้วยกระแสไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่หันกลับมาให้ความสำคัญกับจักรยานกันมากขึ้น สังเกตได้จากการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานเป็นหมู่คณะที่มีอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งถึงช่วงกลางปีที่ผ่านมา หลังกระแสข่าวหญิงสาวเมาแล้วขับชนนักปั่นจักรยานที่เชียงใหม่เสียชีวิต ประกอบกับกระแสข่าวอุบัติเหตุรถจักรยานที่ตามมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายเหตุการณ์ ยอดขายแทบทุกร้านก็ดิ่งลงอย่างหนักนับตั้งแต่นั้น

ภาพจาก Pantip

นอกจากนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการร้านจักรยาน คือจำนวนร้านเปิดใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดประหนึ่งร้านสะดวกซื้อ จนแซงหน้าจำนวนลูกค้าที่มีแนวโน้มลดลงในระยะหลังด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อมาเจอกับช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการหลายรายจึงไม่สามารถอยู่ได้จนถึงขั้นต้องปิดกิจการไป กระทั่งมีกระแสของกิจกรรม Bike for Mom ที่เข้ามาช่วยให้สถานการณ์ในตลาดดีขึ้น

“แต่ยังไงผมก็เชื่อว่าเรื่องของจักรยานจะยังคงไปได้ต่ออีกเรื่อยๆ เพราะมันยังคงอยู่ในกระแสสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเล่นกีฬา หรือในแง่ของไลฟ์สไตล์และการถ่ายรูป รวมไปถึงการรักษ์โลก เทรนด์สีเขียวที่คนก็ให้ความสนใจมากขึ้น ทำให้จักรยานนั้นมีภาพลักษณ์ที่ดีเสมอ กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่มีความหมาย โดยหลายร้านอาหารหรือร้านเสื้อผ้าในปัจจุบันต่างนำไปประดับ นอกจากนี้แล้วผมยังเชื่อว่าหลังจากวันนี้ไปจักรยานจะมีตัวตนมากขึ้น จากที่เคยถูกมองว่าเป็นส่วนเกินบนท้องถนน เพราะงานนี้ได้แสดงพลังให้เห็นแล้วว่าผู้คนที่ให้ความสนใจกับการปั่นจักรยานนั้นมีมากเพียงใด”

 

 

…วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงาน