“แฟรกกิ้ง” ทางเลือกปิโตรเลียม หรือ หายนะชีวิตและสิ่งแวดล้อม?

ขณะที่ความพยายามเข้าไปขุดเจาะปิโตรเลียมของสหรัฐอเมริกาในแถบประะเทศตะวันออกกลางเช่นซาอุดิอาราเบีย อิหร่าน ได้รับความล้มเหลวจนเป็นเหตุให้อเมริกาต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขุดเจาะปิโตรเลียมเดิมในประเทศตน เพื่อลดราคาน้ำมันดิบลง จึงได้เกิดมาเป็นวิธี “การขุดเจาะด้วยการแฟรกกิ้ง” (Hydraulic Fractureing)

“Fracking” คือระบบการผลิตปิโตรเลียมด้วยการผสานสองเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing กับ Horizontal Drilling เข้าด้วยกัน โดยจะฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดินเพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เพื่อให้ Shale Gas กับ Shale Oil / Tight Oil ที่ถูกเก็บกักอยู่ระหว่างชั้นจึงหลุดออกมา สามารถทำได้ทั้งในแนวดิ่งและแนวนอน ทำให้การขุดเจาะครอบคลุมพื้นที่ในบริเวณกว้าง และได้ปริมาณปิโตรเลียมสูงกว่าวิธีอื่นถึง 3 เท่า ในการขุดเจาะเพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เพื่อรีดเอาเนื้อก๊าซออกมาจากชั้นหิน โดยการทำให้ชั้นหินแตกตัวนั้นเรียกว่า Fracturing และมีเทคนิคการทำให้ชั้นหินแตกตัวได้หลายวิธีเช่น การใช้แรงดันน้ำที่จะต้องมีการใช้น้ำเป็นปริมาณมากและไปจนถึงการใช้สารเคมีเพื่อเร่งอัตราการแตกตัวและการขยายตัวของชั้นหิน เพื่อที่จะทำให้ได้รับผลผลิตเป็นปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็ว ลงทุนต่ำ และเพิ่มผลผลิต และวิธีการนี้ได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ สามารถทำได้ทั้งในแหล่งบนบก และแหล่งในทะเล ซึ่งผลกระทบที่น่ากังวลว่าจะตามมาก็คือ การตกค้างของสารเคมีที่ใช้

จนเมื่อเวลาผ่านไปได้มีการตรวจเจอสาร Hydrochloric Acid ที่ใช้ทำให้ชั้นหินแตกตัวและมีอันตรายต่อมนุษย์ที่ชายฝั่งสก็อตแลนด์ จากการทำแฟรกกิ้งในทะเลเหนือของยุโรป ทำให้มีกระแสต่อต้านและห้ามการทำแฟรกกิ้งเกิดขึ้นในเวลาต่อมา โดยขณะนี้มีประเทศที่ห้ามทำแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกา เยอรมัน อาร์เจนติน่า แคนาดา และบางรัฐในสหรัฐอเมริกาเช่นนิวยอร์ก เป็นต้น ขณะที่ในประเทศเพิ่งได้เริ่มมีการทำแฟรกกิ้งเพียงแค่ 3-4 ปีที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันมีการทำแฟรกกิ้งประมาณ 9 หลุม เช่น หลุมดงมูล 1, หลุม YPT-3 ของแปลงสัมปทาน L 31/50 บุรีรัมย์ เป็นต้น

จากความกังวลในเรื่องของผลกระทบการทำแฟรกกิ้งนี้ภาคประชาสังคมโดยเครือข่ายอาสาสมัคร “Stop Fracking Thailand” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ อาสาสมัคร ศิลปิน นักอนุรักษ์ ที่มีความสนใจและเป็นห่วงในผลกระทบ ทั้งในด้านสุขภาพแหล่งอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดกิจกรรม “ศิลปินไทยต้านแฟรกกิ้ง” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดประเด็นให้สังคมร่วมศึกษาหาความจริงและตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการทำแฟรกกิ้ง และมีโอกาสตัดสินใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในอนาคตร่วมกัน

โดยนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และเปิดการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ศึกษาหาความจริง Fracking ประเทศไทย” โดยได้เล่าถึงความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทยต่อการทำแฟรกกิ้งว่า ตั้งแต่หลังการทำรัฐประหาร โครงการเรื่องพลังงานที่ค้างมาได้รับการเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกับการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ผ่านมา กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก และเห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบร้ายแรงน่าเป็นห่วง

“Hydrochloric Acid ละลายชั้นหิน แล้วคิดดูว่ามันจะทำอะไรกับท้องเรา อเมริกาเริ่มแฟรกกิ้งในประเทศตัวเองอย่างมหาศาล จึงทำให้ราคาน้ำมันลด แต่เกษตรกรรมล้มเหลวไปหมดโดยสิ้นเชิง เพราะชาวบ้านให้สัมปทานขายที่ดินตัวเองให้มีสัญญาการทำแฟรกกิ้ง แต่ในวาระสุดท้ายเกือบ 15 รัฐมีมลพิษใต้ดินอย่างมหาศาล ที่สำคัญที่สุดคือไปทำให้น้ำบาดาลไม่สามารถดื่มได้ หรือบางรัฐซักเสื้อผ้ายังไม่ได้เลย ส.ส.ไม่ทำอะไรเลย สิ่งที่ชาวบ้านต้องทำคือฟ้องศาล 5 รัฐกำลังพิจารณาให้มีการยกเลิก 3 รัฐยกเลิิกไปแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มั่นใจกับตัวเองเหลือเกินว่า ทิศทางของการพัฒนามันถูกต้องแล้ว ต้องให้ผลประโยชน์มหาศาลต่อบริษัทนายทุน มันอยู่ไม่ได้ครับ เราต้องยุติแล้วคิดแล้วครับ”

นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน นักอนุรักษ์จากบ้านนามูล-ดูนสาด ก็ได้เล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น พบว่าต้นยางที่ชาวบ้านปลูกมีใบสีเขียวร่วง แล้วน้ำยางน้อยลงมาก จึงทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพรับจ้างอื่นๆแทน ไม่สามารถกรีดยางได้อีกต่อไป ขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพ พบว่ามีผื่นคัน และอาการตาแดง

ทางด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนชาวบ้านจากภาคใต้ เล่าให้ฟังถึงผลกระทบการขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย บริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลาให้ฟังว่า สัตว์น้ำบริเวณโดยรอบแท่นขุดเจาะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด คาดเป็นเพราะความร้อน และแรงสั่นสะเทือนจากแท่น โดยพบว่าปลาที่ใช้หูในการสื่อสาร เช่น ปลาจวด ปลากระบอก หายไป ทำให้ต้องออกเรือไปไกลจากแท่นจึงจะหาปลาได้ ผลคือต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพไป

“ชาวประมงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำอาชีพนี้แล้ว ต้องขับเรือไปให้พ้นแท่นเจาะถึงจะหาปลาได้ ผลกระทบชัดมาก ในเรื่องของการสูญเสียทางด้านระบบนิเวศ แรงสั่นสะเทือนของกระบวนการขุดเจาะทั้งหลายทำลายเรื่องของการจับปลาไปหมดเลย  มีสารเคมีขึ้นมาบนฝั่ง มันมาด้วยสาเหตุใด ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา กระบวนการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณสงขลาชัดที่สุด ในเรื่องของระบบนิเวศและเรื่องของประมงแทบจะลดลงกว่าครึ่ง”

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นักอนุรักษ์ที่มีบทบาทอีกด้านหนึ่งคือนักธรณีวิทยา ได้อธิบายถึงธรณีสันฐานของภาคอีสานของไทยว่าป็นชั้นหินทรายที่มีการทับกันอยู่หลายชั้น แต่ละชั้นอาจหนา 200-400 เมตร โดยการทำแฟรกกิ้งก็คือการทำให้แตกของชั้นหิน ซึ่งในหินก็มีรอยแตกอยู่แล้ว ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติเดิมคือจากแรงคลื่อนตัวของเปลือกโลก และที่เกิดจากการทำแฟรกกิ้ง โดยรอยแตกนั้นมีทั้งรอยแยกที่เป็นระบบ คือเป็นสี่เหลี่ยมมีรอยเชื่อมกัน และที่ไม่เป็นระบบคือแตกไปแตกมา จะมีรอยเชื่อมโยงได้หลายแนว แนวชั้นหินที่ต่อเนื่องกันแต่ละชั้นน้ำสามารถซึมได้ระหว่างชั้น และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแทรกซึมของสารเคมี

“ใต้ดินมันมีแนวรอยความไม่ต่อเนื่องที่มันเชื่อมโยงกันอยู่ตลอด ทีนี้น้ำมันกับก๊าซมันก็จะมาตามช่องพวกนี้ ถ้าเข้าหาน้ำบาดาลในชั้นหินก็จะเข้าไปในชั้นหินที่มี fracture รอยแยกของหินเยอะๆ ในสายตานักธรณี การทำแฟรกกิ้ง ถ้าเกิดมันบรรจบกันพอดีระหว่างสารเคมีกับชั้นน้ำใต้ดินไม่ว่าจะบ่อตื้น บ่อลึก ถ้ามันไปพอดีความเชื่อมโยงของแนวรอยแตกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรอยแยก รอยเชื่อมตามธรรมชาติหรือที่ทำขึ้น สารเคมีที่่อาจตกไปก็สามารถเข้าไปถึงได้ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง แต่ถ้าถามนักธรณีทั่วไปๆ เขาน่าจะให้คำตอบว่าถ้ามันลึกเกินชั้นน้ำบาดาลไปแล้ว ไม่น่าจะมีผลกระทบ แต่ผมไม่รับรอง”

ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังมองว่าการทำแฟรกกิ้งยังเป็นเรื่องใหม่อยู่มาก การตรวจสอบก็ทำได้ยากถ้าหากบริษัทขุดเจาะมีการขุดลึกลงไปตามที่กฎหมายกำหนด ราว 1-3 กิโลเมตร แต่ในประเทศไทยสันฐานน้ำใต้ดินอาจมีความลึกแตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เชี่ยวชาญของภาครัฐ เช่น กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี ที่จะต้องเข้ามาเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาผลกระทบต่อไป

รศ.สุวัฒนา จิตตลดากร อนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งชาติ (วสท.) แนะนำว่าเรื่องสันฐานน้ำใต้ดินและการทำแฟรกกิ้ง จะต้องมีการเก็บข้อมูลให้ละเอียดและต้องใช้เวลาในการศึกษา เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อน และเกรงว่าจะเป็นผลกระทบในระยะยาว ซึ่งปกติในกรณีของประเทศไทยมักรอให้เกิดปัญหาก่อนจึงจะแก้ได้ แนะให้มีมาตรการป้องกันก่อนเกิดปัญหาจะดีกว่า

ส่วน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความกังวลอย่างมากเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำใต้ดิน เพราะเกรงว่าสารเคมีจะต้องตกค้างอยู่ตรงนั้นตลอดไป ไม่สามารถบำบัดได้ โดยอีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลให้คนทั่วไปได้ทราบถึงอันตราย และผลกระทบของการทำแฟรกกิ้งให้ได้ เพราะทุกวันนี้คนยังทราบเรื่องแฟรกกิ้งน้อยมาก

“เราต้องคิดแล้วสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มันปนเปื้อนน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน ลงไปน้ำใต้ดินแล้วเกิดอะไรขึ้น อยู่กันไปชั่วลูกชั่วหลาน อยู่กันไปกี่สิบปีกี่ร้อยปีจึงจะทำให้สะอาดได้ ถ้าเกิดมันปนเปื้อนแล้วมันแก้ไขไม่ได้ มันใช้เวลานานมาก คือน้ำใต้ดินยังนึกไม่ออกเลยว่าจะไปทำความสะอาดยังไง” ผศ.ดร.สิตางค์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

…อภิสรา บรรทัดเที่ยง สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงาน