“ยกฟ้อง” คดี ร้องเพิกถอน EIA-ใบอนุญาต 9 โครงการในระยอง-ปราจีนบุรี

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น “พิพากษายกฟ้อง” คดีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร้องเพิกถอน EIA-ใบอนุญาต 9 โครงการ พื้นที่ระยอง-ปราจีนบุรี เหตุผลหลัก “ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายในขณะนั้น – บางโครงการเอกชนขอยกเลิกเอง”

(ภาพ : ไทยรัฐ)

พิพากษายกฟ้อง

“วานนี้ (28 ก.ย. 2566) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ในคดีหมายเลขดำ ที่ อ. 435/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.702/2566 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 35 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กับพวกรวม 9 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งผู้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และใบอนุญาตการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง จำนวน 9 โครงการ” MGR Online รายงานวานนี้ (28 ก.ย. 2566) 

(ภาพ : GPSC)

เหตุผลยกฟ้องรายโครงการ

“1. โครงการเหมืองแร่ทรายแก้ว ของห้างหุ้นส่วนจำกัด กรุงเกษม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง เห็นว่าโครงการได้ดำเนินการขอยกเลิกคำขอประทานบัตรเรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีสำหรับโครงการนี้

2. โครงการโรงงานผลิต Purified Terephathalic Acid (PTA) ของบริษัท อินโดรามา ปิโตรเคม จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เห็นว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินโครงการโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วไม่อาจถือว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

3. โครงการโรงงานผลิตอีทอกซีเลท นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัท ไทยอีทอกซีเลท จำกัด เห็นว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินโครงการโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่อาจถือว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

4. โครงการผลิตเหล็กเส้นของบริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นโครงการ หรือกิจกรรมตามที่จะต้องมีการดำเนินการตามมาตรา 27 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 50 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอน รายงาน EIA และไม่ถือว่าอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

5. โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว บริเวณชายหาดหนองแฟบ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง (ประเภทคมนาคม) ของบริษัท เอเชีย เทอร์มินัล จํากัด เห็นว่า บริษัทขอยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

6. โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 500 เมกะวัตต์ ของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 3 จำกัด ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เห็นว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินโครงการพิพาทโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุ ที่จะต้องเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่อาจถือได้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

7. โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนของบริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับเป็นที่ยุติ ว่าโครงการพิพาทได้มีการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) โดยได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบทุกขั้นตอนแล้ว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้รายงาน EHIA มาโดยตลอดจึงถือได้ว่า โครงการพิพาทได้มีการดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ ของบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสองรัฐธรรมนูญ 50 เหตุแห่งการฟ้องคดีโครงการนี้จึงหมดสิ้นไป

8. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ประเภทชลประทาน ตั้งอยู่ที่บ้านแก่งยาว ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เห็นว่า โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการมาก่อนที่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 2553 จะมีผลใช้บังคับ และได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และไม่อาจถือได้ว่าอธิบดีกรมชลประทานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย กำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

9. โครงการโรงไฟฟ้า TNP 2 ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ 2 จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เห็นว่า ผู้ประกอบการได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ถือได้ว่า ได้มีการดำเนินการตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกำหนดไว้แล้ว และโครงการดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2553 ลำดับที่ 11 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่อาจถือได้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด” MGR Online รายงาน