“ย้ำเป้าหมาย Net-Zero ปี 2050 – เพิ่มเป้าลดโลกร้อนเป็น 40% – หนุนการเงินสีเขียว โดยออกพันธบัตรสีเขียว 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” ถ้อยแถลงโลกร้อนนายกเศรษฐา ณ ที่ประชุมยูเอ็น
“แค่วาทกรรม ยกดิน-ป่ารัฐให้กลุ่มทุน สานต่อทิศประยุทธ์” ประธาน กป.อพช. วิพากษ์
ด้าน ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย อัด 7 ประเด็นวิพากษ์ “เหล้าเก่าในขวดใหม่-ช้าเกินไป-คลุมเครือ-พูดซ้ำทำให้งง-ทำไมไม่มีในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา-พยายามฟอกเขียวแบบเนียนๆ”

ถ้อยแถลงลดโลกร้อนยูเอ็น “นายกฯ เศรษฐา”
วันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 10.59 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78)
“ย้ำเป้าหมาย Net-Zero ปี 2050 เพิ่มการมีส่วนร่วมเป็น 40% เสริมกลไกการเงินสีเขียว ระดมทุนผ่านพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนได้กว่า 12.5 พันล้านดอลลาร์” สาระโดยสรุปโดย ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายละเอียดดังนี้
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรของประเทศไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที
ไทยขอชื่นชมวาระเร่งด่วนของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ให้ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 มากที่สุด พร้อมนำเสนอแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040 และเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น ฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contributions : NDCs) สำหรับปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด
ไทยพยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและการสร้างขีดความสามารถ
โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญและมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050
เราได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้
รัฐบาลใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
ไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย
รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังได้ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ในจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไกนี้ ไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG
รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ล่าสุดได้จัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้แก่ทุกภาคส่วน
การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงเร่งดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุเป้าหมายและเอาชนะวิกฤตการณ์นี้” ถ้อยแถลงระบุ
ทั้งนี้ 1 วันก่อนหน้านี้ นายกฯ เศรษฐาได้เผยแพร่คำแถลงแรก ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ใจความระบุว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง-นโยบายเศรษฐกิจ BCG” คือแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน- ขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย (รายละเอียด : https://greennews.agency/?p=35644)

“แค่วาทกรรม-สานต่อทิศประยุทธ์” ประธาน กป.อพช.
สมบูรณ์ กำแหง วิพากษ์ถ้อยแถลงลดโลกร้อนของนายกฯ เศรษฐา ดังกล่าว ว่า “แค่วาทกรรมยกดิน-ป่ารัฐให้กลุ่มทุน สานต่อทิศนโยบายประยุทธ์” รายละเอียดดังนี้
“’เศรษฐา’ เดินหน้าสานต่อประยุทธ์ สร้างวาทกรรม “ทำโลกให้เย็น” ด้วยการยกที่ดินป่าไม้รัฐให้กลุ่มทุน
ถ้าการลดโลกร้อน คือการต้องใช้พื้นที่ป่าจำนวนมากในประเทศไทยหรือในโลกใบนี้มาคำนวนค่าหักลบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มลพิษ) แล้วบอกว่าต้องมาช่วยกันปลูกต้นไม้สร้างป่าบนโลกใบนี้ให้มากขึ้น แล้วจะทำให้โลกเย็นลง (มันใช่แล้วหรือ)
และหากเชื่อเช่นนั้น จึงเป็นเหตุผลที่รัฐกำลังดำเนินการ “ยกพื้นที่ป่าและที่ดิน” ให้กับภาคเอกชนนำไปใช้เพื่อการค้าคาร์บอนเครดิต แล้วมาคิดสูตรคำนวนโน่นนี่นั่นว่า โลกจะเย็นลง หรือคาร์บอนจะเป็นศูนย์จากพื้นที่ป่าที่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่กิจกรรมการปล่อยมลพิษบนโลกใบนี้ยังเท่าเดิม และรัฐบาลไม่คิดที่จะไปกำจัดหรือควบคุมมันจริง
อาจารย์ประสาท มีแต้ม เคยพูดว่า แม้เราจะปลูกป่าบนโลกใบนี้ทั้งหมด (หมายถึงที่เป็นเมืองเป็นหมู่บ้านและทะเล) เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้ หากเราไม่กลับไปจัดการกับพวกที่กำลังปล่อยมลพิษทุกรูปแบบ
จึงมีคำถามใหญ่ๆว่า การจัดสรรที่ดินและป่าไม้จำนวนมหาศาล (ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ) ให้กับกลุ่มทุนเพื่อนำเข้าสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต แท้จริงแล้วมันคืออะไร มันแค่การ “ฟอกเขียว” ใช่หรือไม่ ซึ่งคิดว่านายกฯเศรษฐาต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่แค่สานต่อสิ่งที่คนอื่นทำไว้เท่านั้น
และคำถามที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ ภาครัฐมีสิทธิ์อะไร ที่จะจัดสรร (ยกพื้นที่ป่าไม้(ที่สมบูรณ์อยู่แล้ว)กับที่ดิน” ที่บอกว่าจะให้กลุ่มทุนเหล่านั้นใช้สำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อให้มีป่ามากขึ้น แล้วให้เขาสามารถเอาไปทำกำไรจากการขายคาร์บอนได้ และใครเป็นคนคิดสูตรจัดสรรผลตอบแทนจากกำไรเหล่านั้นที่กำหนดว่า เอกชน(กลุ่มทุน)จะได้ส่วนแบ่ง 90 – 70% รัฐจะได้เพียง 10% แต่ถ้าเป็นป่าชุมชนที่มีชาวบ้านเคยดูแลอยู่บ้างก็จะแบ่งให้อีก 20%
เพราะป่าไม้ที่ดินที่กำลังเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตที่ภาครัฐกำลังดำเนินการส่วนใหญ่แล้วเป็นของรัฐ ซึ่งหมายถึงเป็นทรัพย์สมบัติส่วนรวมของประชาชนทั้งแผ่นดิน จึงมีคำถามแบบโง่ๆตามมาอีกว่า หากเราต้องยอมรับระบบการตลาดคาร์บอนเครดิตแล้ว ทำไมรัฐไม่ดำเนินการเรื่องนี้เอง ไปปล่อยให้มีระบบนายหน้าทำไม และอย่ามาอ้างนะครับว่า ภาครัฐมีข้อจำกัดและไม่มีคนและไม่มีงบประมาณดำเนินการ
หรือสิ่งเหล่านี้คือความหมายของธุรกิจสีเขียว หรือ BCG และคือการจัดการระบบคาร์บอนเครดิตที่เป็นธรรม ตามความหมายที่พวกคุณคิดไว้ ใช่หรือไม่ ?
ฝากใครก็ได้ช่วยถามนายกเศรษฐา..ว่าไอ้ที่แถลงที่สหประชาชาตินั่นนะ คิดเองหรือใครคิดให้” ประธาน กป.อพช. เผยแพร่คำวิพากษ์ผ่านเฟสบุ๊ก สมบูรณ์ คำแหง

7 ประเด็นวิพากษ์ จากกรีนพีซ ประเทศไทย
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรอนุรักษ์ กรีนพีซ ประเทศไทย โพสต์แสดงความเห็นต่อถ้อยแถลงในเวทีผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) 20 ก.ย. 66 สหรัฐอเมริกา ของนายกฯเศรษฐา ดังนี้
1. “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ไม่ว่าจะเป็นความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) มีการบิดเล็กน้อยว่า ให้ net zero ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 มากที่สุด ซึ่งตาม roadmap เดิมตั้งไว้ในปี ค.ศ.2065
ประเด็นคือถ้าจะทำให้ net zero ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 มากที่สุด ต้องมาเคาะ Long-Term Low Greenhouse Gases Emission Dvelopment Strategy (Revised Version) ที่ส่งให้กับ UNFCCC ช่วง COP27 กันใหม่ แล้วคำว่า “ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050” นั้นใกล้เคียงแค่ไหน?
2. “ช้าเกินไป” การเลิกใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040 นั้นช้าเกินไป ถ้าจะทำให้ net zero ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 มากที่สุด ตามฉากทัศน์ที่มีการคำนวณอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และมีความเป็นธรรม การปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดของไทยสามารถทำได้เร็วที่สุดในปี ค.ศ.2027 และช้าสุดภายในปี ค.ศ.2037
3. “คลุมเครือ” – เป้าหมายของแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions : NDCs) ปัจจุบันที่ประกาศใน COP 26 คือ 40% ภายในปี ค.ศ.2030
เป้าหมายที่จะปรับปรุงสำหรับปี ค.ศ. 2025 ยังคลุมเครือ จากการที่ระบุใน climate ambitions summit ว่า “…จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด…” ซึ่งอ้างแบบลอยๆ ไม่มีตัวเลข ทำให้ตีความได้หลากหลาย
4. “พูดซ้ำทำให้งง” – โดยย้อนกลับไปพูดถึงเป้าหมาย (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 ที่อดีตนายกฯ ประยุทธ์ประกาศแบบตลกๆ ในเวที Leader Summit ที่ COP26
แถมยังบอกว่า (NDC) จาก 20% เป็น 40% ดำเนินการมีผลเป็นรูปธรรม โดยอ้างถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว หรือ Net Zero Roadmap ซึ่งก็ยังเป็นเพียงแผน ยังไม่เห็นรูปธรรมอะไร
อย่าลืมว่า ถ้าแผนพลังงานชาติที่รัฐบาลเศรษฐาจะร่างใหม่ออกมาเมื่อใด แผน Net Zero อาจเป็นมวยล้มต้มคนดู
ในอีกด้านหนึ่งมุ่งเน้นประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปฏิรูปภาคการขนส่ง เพิ่มยานยนต์ไฟฟ้า และเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่ไม่แตะ elephant in the room นั่นคือ “ยักษ์ใหญ่ก๊าซฟอสซิล” ทั้งหลายที่เตรียมเปิดการนำเข้าก๊าซฟอสซิลเหลว (LNG) ที่ยิ่งจะสุมไฟโลกเดือด
5. “ทำไมไม่มีในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา” น่าสังเกตว่า มีการพูดถึงกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) การใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) ในเวที Climate Ambition Summit แต่ไม่มีการพูดเรื่องนี้ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาที่ผ่านมา ทั้งที่จริงแล้ว ถือเป็นนโยบายที่สำคัญ
การแถลงใน Climate Ambition Summit นั้นไม่มี mandate อะไร เรียกได้ว่าเป็น เพียงการสร้างสัญลักษณ์ (Rhetorical Symbols) ในทางสากลว่าประเทศไทยขึ้นขบวนรถไฟของประชาคมโลก แต่เมื่อกลับมาดูความจริงในประเทศ คำถามคือ นี่คือรูปธรรมและความมุ่งมั่นที่จะลงมือทำระบบ net-metering ให้เกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร
6. “พยายามฟอกเขียวแบบเนียนๆ” – ใช้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อ “ฟอกเขียว” โดยพูดถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037
7. คำถามต่อการผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ คือ รายละเอียดเนื้อหาและความเข้มข้นของการบังคับใช้กฏหมายนี้จะเพียงพอที่จะต่อกรกับโลกเดือดได้หรือไม่ หรือยังสงวนท่าทีที่เกรงใจต่อภาคอุตสาหกรรม(Carbon Majors) ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด หัวใจสำคัญของการต่อกรกับวิกฤตโลกเดือดคือ Carbon Majors ต้องมีภาระรับผิด(accountablity)” ธารา วิพากษ์