หลายพื้นที่ในหลายจังหวัดภาคเหนือ-อีสาน-ตะวันออก ยังคงประสบกับสถานการณ์น้ำท่วม ในระดับรุนแรงแตกต่างกัน รวมถึงอุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก และสุโขทัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตือน “เฝ้าระวัง 10 จังหวัด”
กรมชลฯ ระดมติดตั้ง 100 เครื่องผลักดันน้ำพื้นที่อุบล สมัชชาคนจนตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า-ประสิทธิผลของมาตรการ “เพื่อผลักดันน้ำ หรือเบิกค่าไฟ?” จี้เปิดข้อมูลสาธารณะ

ยังท่วมหลายจังหวัด
รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันนี้ (18 ก.ย. 2566) หลายพื้นที่ในหลายจังหวัดภาคเหนือ และอีสานยังคงประสบกับสถานการณ์น้ำท่วม ในระดับรุนแรงแตกต่างกัน รวมถึงอุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลกและสุโขทัย
“จ.อุบลราชธานี ยังมีน้ำท่วมใน อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ มีชุมชนถูกน้ำไหลท่วมแล้ว 4 ชุมชนคือ ชุมชนวังแดง ชุมชนวัดบูรพา ชุมชนเกตุแก้ว และ ชุมชนท่าบ้งมั่ง รวม 35 ครัวเรือน โดยอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง” Thai PBS รายงาน
“วานนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงใหม่ หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ช่วงวันที่ 16 – 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ได้รับผลกระทบ 8 อำเภอ 12 ตำบล 27 หมู่บ้าน 120 ครัวเรือน โดยในบางอำเภอน้ำเริ่มลดระดับลงแล้ว
เช่นเดียวกับที่พิษณุโลกสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 – 17 ก.ย. 2566 ได้รับผลกระทบในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง และอำเภอนครไทย รวม 2 ตำบล 7 หมู่บ้าน และยังคงเฝ้าระวังในพื้นที่อำเภอวังทอง
สำหรับ สุโขทัย สืบเนื่องจากฝนตกหนัก และต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือในคืนวันที่ 17 ก.ย. 2566 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม และไฟฟ้าดับในหลายจุดของสุโขทัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น จำนวน 3 อำเภอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการระบาย/สูบน้ำออกโดย อปท.ในพื้นที่” กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงาน

“เฝ้าระวัง” 10 จังหวัด
“คาดการณ์และแจ้งเตือนภัยพื้นที่เฝ้าระวังพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่ลาว เวียงป่าเป้า) และพิษณุโลก (อ.เนินมะปราง นครไทย)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) อุดรธานี (อ.หนองวัวซอ หนองแสง กุมภวาปี ศรีธาตุ) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ บ้านเขว้า) ขอนแก่น (อ.เมืองฯ บ้านไผ่) ร้อยเอ็ด (อ.โพนทอง เสลภูมิ) ยโสธร (อ.เมืองฯ ป่าติ้ว) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ)
ภาคกลาง จ.ตราด (อ.เขาสมิง)” กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM รายงานเช้าวันนี้
“ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง” กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ล่าสุด

กรมขลฯ ระดมติดตั้ง “100 เครื่องผลักดันน้ำ” อุบลฯ
“สืบเนื่องจากในระยะที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกชุกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลในปริมาณมาก
ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกล เตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 100 เครื่องในแม่น้ำมูล บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง และลดผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ระดมสรรพกำลังเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
ณ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำ บริเวณแม่น้ำมูล สถานีวัดน้ำท่า M.7 (สะพานเสรีประชาธิปไตย) จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำอยู่ที่ +111.57 ม.รทก. (เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน +0.19 ซม.) มีปริมาณน้ำไหลอัตราประมาณ 2,085.00 ลบ.ม./วินาที อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยวานนี้ (17 ก.ท. 2566)

“เพื่อผลักดันน้ำ หรือเบิกค่าไฟ?” สมัชชาคนจนตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า-ประสิทธิผล
“ปีที่แล้ว (2565) มีการนำเครื่องผลักดันน้ำ มาติดตั้งได้ไม่กี่วันก็ต้องยกออก การไหลของน้ำตามธรรมชาติ มีความเร็วแรง การใช้เครื่องผลักดันน้ำทราบต่อมาว่าค่าไฟฟ้า 10 ล้านบาท
ปีนี้ (2566) ก็ยังจะมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก จึงไม่แน่ใจว่าเอามาผลักดันน้ำ หรือ เอามาเพื่อเบิกค่าไฟฟ้าเท่านั้นครับ” กฤษกร เปิดเผยที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เปิดเผย
“เครื่องผลักดันน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้แน่เหรอ น่าสนใจสำหรับการตั้งคำถามลักษณะนี้ เพราะสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่น ท่ามกลางสภาพการกดดันจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอัตราแบบก้าวกระโดดแต่กลับมีคำถามนี้ขึ้น ถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรอธิบายข้อเท็จจริงต่อสังคมโดยเร็ว ดังนี้
1. ปริมาณน้ำที่จะสามารถผลักดันได้ จำนวนเท่าไหร่ ต่อเครื่อง ต่อชั่วโมง และจะต้องใช้กี่เครื่อง และใช้เวลา กี่วัน
2. น้ำเอ่ออยู่ที่หน้าแก่งสะพือ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ไปทำอะไรอยู่ ถึงไม่ทำการผลักดันตั้งแต่ช่วงนั้น ต้องมารอให้น้ำท่วมก่อนถึงจะมาผลักดันน้ำ
3. จาก M7 (สะพานเสรีประชาธิปไตย) ก่อนถึงแก่งสะพือ จะมีแก่งขนาดใหญ่ขวางลำน้ำอยู่ ได้แก่ แก่งบุ่งมะแลง และแก่งปากโดมจึงจะถึงแก่งสะพือ และถัดจากแก่งสะพือก่อนถึงเขื่อนปากมูล ก็มีแก่งขนาดใหญ่ ขวางลำน้ำอยู่ ได้แก่ แก่งคันไร่ แก่งตาดไฮ แก่งคันเปือย แก่งคันหัวงัว
สรุปสั้น ๆ คือการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอยู่ที่สะพานพิบูลฯ ซึ่งด้านเหนือก็มีแก่งขวางทางน้ำ ด้านล่าง ก็มีแก่งขวางลำน้ำ ระดับน้ำที่ M7 จะลดลงจริงหรือ และน้ำจะออกสู่แม่น้ำโขงได้จริงหรือ
4. เปิดเผยค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องผลักดันว่าแต่ละเครื่อง มีค่าขนส่ง + ค่าเบี้ยเลี้ยง + ค่าเวรเฝ้าเครื่อง + ค่าไฟฟ้า ว่า เฉลี่ยแต่ละเครื่องใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่คุ้มค่า หรือไม่คุ้มค่า
โลกสมัยใหม่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารได้หลายช่องทาง การทำอะไรที่ขัดแย้ง กับสายตาประชาชน ก็ดูจะไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ เหมือนในอดีต เครื่องผลักดัน เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของกระบวนการตรวจสอบของประชาชนที่เริ่มจากการตั้งคำถาม และเมื่อมีคำถามเกิดขึ้นมาแล้ว หน่วยงานภาครัฐจะเงียบ ปล่อยผ่านก็ไม่น่าจะใช้ได้อีกในโลกปัจจุบัน” กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านเฟสบุ๊ก ป้าย บูรพาไม่แพ้ วานนี้ (17 ก.ย. 2566)
