เครือข่ายคนลุ่มโขงยื่นหนังสือด่วน “นายก-รมว.พลังงาน” ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟเขื่อนปากแบง ชี้ลงนามกลาง “รายงานผลกระทบที่ไม่ชัดเจน-ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน”
ด้าน กสม. เผย “กฟผ.อาจต้องเสียค่าปรับ-จะยื่นฉุกเฉินให้นายกทบทวนหาทางออก”

หนังสือด่วน เครือข่าย 8 จังหวัด
รายงานข่าวเปิดเผยว่า วานนี้ (17 ก.ย. 2566) เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ทำหนังสือด่วนถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เขื่อนปากแบง
เนื่องจากความกังวลใจหลายประการที่ชาวบ้านตั้งคำถามไปกับหน่วยงานราชการยังไม่ได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงใด ๆ แต่ในวันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนปากแบงแล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม
“เป็นการเซ็นสัญญาที่ไม่รับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เลย และหน่วยงานรัฐไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อคัดค้าน และข้อกังวลของประชาชนที่มีมาตลอดระยะเวลาหลายปีไปประกอบการตัดสินใจก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งความคิดเห็นต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเวทีพูดคุยระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กับบริษัทผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท China Datang Oversea investment Co,Ltd ในปี 2561 และปี 2562 ถึงความไม่จำเป็นและความบกพร่องของเขื่อนปากแบงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ความไม่สมบูรณ์ของเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมดของโครงการเขื่อนปากแบง มีการใช้ข้อมูลเก่า ไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้เกิดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและมาตรการที่จะป้องกัน ติดตามและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และไม่มีมาตรฐาน
2. ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนตนอย่างไร มีระดับสูงขนาดไหนและจะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด
หากเกิดผลกระทบจากน้ำเท้อ จะทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ และจะมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ประชาชนไทยที่อาศัยการไหลของน้ำในการประมง จะไม่สามารถทำมาหากินทั้งการจับปลา การเก็บไก และยังมีความเสี่ยงของน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มน้ำงาว และน้ำอิง ซึ่งเป็นที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก
ความไม่จำเป็นของการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องจากพลังงานสำรองของไทยนั้นมีมากถึง 45% และปัจจุบันคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพง พลังงานจากเขื่อนนี้จึงไม่จำเป็นต่อประชาชนไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ทั้งยังไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า เป็นพลังงานสะอาด เพราะต้องแลกด้วยวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทยลาว ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ และระบบนิเวศของแม่น้ำโขงที่ต้องเสียสมดุลอย่างรุนแรง จนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเสียพื้นที่ดูดซับคาร์บอนที่สำคัญในภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา
ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขง ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่พิจารณาทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง
ขอให้คำนึงถึงเสียงและสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นกลุ่มแรก ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวในอนาคตต่อไป รวมทั้งประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนที่ต้องแบกภาระต้นทุนจากเขื่อนที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ” ส่วนหนึ่งของหนังสือ ระบุ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผย

กฟผ. อาจโดนปรับ – ใช้กลไกกสม.ยื่นนายกหาทางออก
“สำหรับเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนั้น ได้เกิดกับชาวบ้านมาก่อนหน้านี้แล้วทั้งเขื่อนจากประเทศจีนและเขื่อนไซยะบุรีในลาว แต่หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงเพิ่มอีก ก็จะทำให้เปิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ขณะนี้เกิดปัญหากัดเซาะตลิ่งซึ่งกรมโยธาธิการ ได้สร้างเขื่อนกันตลิ่งพังเป็นระยะทางยาวถึง 97 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องนี้คงได้มีการตรวจสอบไปด้วย
ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่า หากสร้างเขื่อนแล้ว น้ำจะเท้อสูงแค่ไหน เรายังไม่ได้รับรายงานอีไอเอจากลาวที่ศึกษาอยู่ หากได้ เราจะนำมาประกอบ
แต่ที่น่าห่วงใยคือได้มีการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าไปแล้ว ต่อไปต้องแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อลดผลกระทบ โดยเฉพาะข้อกังวลต่างๆ แต่ปัจจุบันหน่วยงานราชการแค่บอกว่ายังศึกษาอยู่ เขาจะเอาไปคุยกับลาว แต่ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงต้องรีบลงนามในสัญญา แทนที่จะมีแผนรองรับผลกระทบให้เสร็จก่อน
จะเสนอเรื่องใน กสม.เพื่อเสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีการทบทวนหาทางออกเนื่องจากหลังจากที่ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ต้องทำสายส่งภายใน 1 ปี
ขณะที่หน่วยงานบางแห่งยืนยันว่าจะยังไม่มีการสร้างเขื่อนจนกว่าจะมีการทำแผนรองรับแล้วเสร็จ ดังนั้นเกรงว่า กฟผ.อาจต้องเสียค่าปรับ” ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกับ สำนักข่าวชายขอบ