กรมชลฯ ขอความร่วมมืองดทำนาปีต่อเนื่อง เผย “น้ำเขื่อนใหญ่-กลางเหลือแค่ 59% -แนวโน้มเอลนีโญแรงขึ้นต่อเนื่อง”
ขณะกรมอุตุฯ พยากรณ์ “หลายพื้นที่ยังต้องเผชิญน้ำท่วม ช่วงนี้” ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดอีสานยังคงหนักหลายพื้นที่ หลายจังหวัดขยับเตรียมรับมือ รวมทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น นนทบุรี

“น้ำเหลือ 59%-งดทำนาปีต่อเนื่อง” กรมชล
“จากข้อมูลล่าสุด (14 ก.ย. 2566) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 45,239 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ รวมกัน
เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,825 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ
ทั้งนี้จากสถานการณ์เอลนีโญ ที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มส่งผลยาวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 67 จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก อาจเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และด้านการเกษตรประเภทไม้ยืนต้นเท่านั้น
จึงกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศ และปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 และ 3 มาตรการรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติอย่างเคร่งครัด
พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกร ที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดทำนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก
ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ช่วยกันเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต” ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยวันนี้ (15 ก.ย. 2566)

“หลายพื้นที่ยังต้องเผชิญน้ำท่วม ช่วงนี้” กรมอุตุ
กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ล่าสุดว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม
ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมชลประทานต้องเร่งดำเนินการรับมือฝนตกหนักในหลายจังหวัด
ที่เชียงใหม่ โรงสูบน้ำห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดใหม่ เพื่อเร่งระบายน้ำจากดอยสุเทพ–ปุย ลงสู่แม่น้ำปิง เพื่อป้องกันน้ำท่วมเขตตัวเมืองเชียงใหม่ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ
เช่นเดียวกับการดำเนินการที่ขอนแก่น บริเวณถนนหาชานนท์ และหน้าหมู่บ้านสินธารา บ้านกอก ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ประชาชนสัญจรได้สะดวกขึ้น รวมทั้ง นำเรือกำจัดวัชพืชเข้าปฏิบัติการจัดเก็บวัชพืช
และการดำเนินการที่นนทบุรี บริเวณคลองขุดใหม่ ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รักษาความสะอาด และลดปัญหาน้ำเน่าเสีย

“หนักหลายพี้นที่” สถานการณ์น้ำท่วมอีสาน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้มีชุมชนที่ถูกแม่น้ำมูลไหลท่วมแล้วจำนวน 2 ชุมชน รวม 13 ครัวเรือน ในจังหวัดอุบลราชธานี และแนวโน้มน้ำยังเพิ่มขึ้นจากน้ำจากด้านเหนือ เนื่องจากด้านเหนือ ทั้งแม่น้ำยัง แม่น้ำชี จะไหลมาบรรจบกันที่จังหวัดอุบลราชธานี
“จากรายของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี ถ้าไม่มีพายุเข้ามาเพิ่มเติม ระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตรเศษ ซึ่งยังอยู่ในระดับตลิ่ง แต่ก็ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต่ำใน 20 ชุมชนย้ายข้าวของไว้ที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหายไว้ก่อน สำหรับระดับแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตยวันนี้มีน้ำสูง 5.91 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 1.09 เมตร” พิศทยา ไชยสงคราม นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่
สถานการณ์น้ำที่เขื่อนยโสธร-พนมไพรซึ่งกั้นแม่น้ำชี ก็กำลังเข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน หลังเจ้าหน้าที่
ได้ขึ้นธงแดง เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่เขื่อนยโสธรเกินระดับกักเก็บแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก
“ปริมาณน้ำที่เขื่อนยโสธร-พนมไพร ในช่วงเวลา 06.00 น.วันนี้ (15 ก.ย. 2566) ระดับน้ำหน้าเขื่อนอยู่ที่ 126.15 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง เพิ่มขึ้น 20 เซนติเมตร ท้ายเขื่อน 125.05 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง เพิ่มขึ้น 35 เซนติเมตร เปิดบานประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน แต่ละบานยกสูง 3 เมตร ความจุเขื่อนกักเก็บ 23.35 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 119.990 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 975.585 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ 84.290 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปริมาณน้ำฝน 15 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำชีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก
ส่วนสถานการณ์น้ำตลอดแนวลุ่มน้ำชีช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดยโสธร ขณะนี้พบว่ามีปริมาณน้ำบางส่วนเริ่มไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวตลิ่งแม่น้ำชีแล้วแต่ยังไม่มีผลกระทบต่อชุมชนเมืองหรือบ้านเรือนของประชาชนแต่อย่างใด” Thai PBS รายงาน วันนี้