2 สส.ก้าวไกล “พูนศักดิ์ จันทร์จำปี – ศนิวาร บัวบาน” อภิปราย “นโยบายสิ่งแวดล้อม ครม.เศรษฐา” วันนี้ในสภา ระบุ
“เป้าไม่ชัด ล้มเหลวไปแล้วค่อนตัว – ไม่แตะเลย วิกฤตขยะที่ท่วมประเทศ – วิกฤตโลกร้อน ไม่ถูกจัดให้อยู่กลุ่มปัญหาเร่งด่วน – ไม่ระบุเป้าลดโลกร้อน กลัวทำไม่ได้? – หนุนทำเงินจากคาร์บอนเครดิต โดยไม่มองผลกระทบรอบด้าน – หนุนขายคาร์บอนป่าเลน เอื้อทุน – ไม่มีสัญญาณ แก้วิกฤตโลกร้อนอย่างเป็นระบบ”

“เป้าไม่ชัด-ล้มเหลวไปแล้วค่อนตัว”
“มีการกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมถึง 33 ครั้งในนโยบายที่แถลงต่อสภา ฟังแล้วอาจจะดูดี แต่พออ่านดูลึก ๆ แล้วจะพบว่า รัฐบาลพูดถึงสิ่งแวดล้อมไว้เพียงแค่เปลือก ไม่มีแก่นใด ๆ เป็นการพูดเพียงกว้าง ๆ ไม่มีการระบุถึงเป้าหมายแต่อย่างใด นโยบายที่ดีต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน การที่ไม่กำหนดเป้าหมายไว้ ถือว่าล้มเหลวไปแล้วค่อนตัว”
พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วิพากษ์ “ภาพรวมนโยบายสิ่งแวดล้อม” ครม.เศรษฐา วันนี้ (12 ก.ย. 2566) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา เกียกกาย

“ไม่แตะเลย วิกฤตขยะที่ท่วมประเทศ”
“หนึ่งในปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งมีการพูดถึงแทบทุกวัน คือปัญหาการจัดการขยะ แต่กลับไม่มีคำว่าขยะอยู่ในแถลงนโยบายเลยแม้แต่คำเดียว ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐบาลต้องจัดการให้มีการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น แต่ปัจุบันการจัดการขยะถูกโยนให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเอง ซึ่งท้องถิ่นก็มีข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณ และการจัดการ ทำให้ปัญหาขยะเป็นหนึ่งในปัญหาที่สร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนมานานกว่า 40 ปี
ปัจจุบันมีปัญหาที่เกิดจากขยะในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่นที่ฉะเชิงเทรามีการรั่วไหลของขยะอันตรายที่ถูกฝังไว้ใต้ดิน ปนเปื้อนสู่อ่างเก็บน้ำอุปโภค บริโภคของชาวบ้าน ทำให้ปัจจุบันแหล่งน้ำดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ นอกจากปัจจุบันยังมีบ่อขยะแบบเทกองกองไว้ไม่ได้มาตรฐานกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ และปัญหาอีกอย่างหนึ่งของบ่อขยะก็คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเพลิงไหม้จากบ่อขยะประกอบไปด้วยสารต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ทั้งฝุ่น และเกิดก๊าซมากมายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ขอฝากการบ้านให้นายกรัฐมนตรี 8 ข้อ ช่วยกันคบคิดแก้ปัญหา เพราะนโยบายที่ท่านออกมาจับต้องไม่ได้เลย ทำให้ตนไม่เชื่อว่าจะจัดการปัญหาขยะได้
1. จะแก้ไขโครงสร้างการจัดการขยะอย่างไร จะทำอย่างไรให้บ่อขยะแบบเทกองหมดไปจากประเทศไทย
2. มาตรฐานในการดำเนินงานขาดการควบคุมบ่อขยะที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 2,000 แห่ง
3. จะทำอย่างไรให้บ่อขยะทั้งหลายมีระบบควบคุม และจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อม
4. รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติในปี 2557 ต่อมาปี 2559 มีนโยบายเมืองไทยไร้ขยะ โดยมีแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ แต่เราจ่ายเงินไปมากกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2562 ในการติดตั้งระบบจัดการขยะให้กับเทศบาลใหญ่ๆของประเทศ แต่จากการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ น่าเศร้าว่ากว่าครึ่งของระบบที่ติดตั้งใช้ไม่ได้ หรือหยุดดำเนินการ ท่านจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ของรัฐบาลชุดก่อนอย่างไร
5. หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการจัดการขยะขณะนี้มี 6 กระทรวง ซึ่งต่างพอใจที่จะจัดการขยะที่ตัวเองรับผิดชอบ จะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
6. นโยบายเผาขยะเป็นพลังงานที่มีมานานกว่า 10 ปี ทำไมปัจจุบันมีโรงเผาขยะเป็นพลังงานเพียง 13 แห่ง เพียง 8% ของขยะทั่วประเทศ
7. ทำอย่างไรให้อัตรารีไซเคิลขยะของประเทศที่ไม่เพิ่มขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว เพิ่มขึ้น
6. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากว่า 10 ปี โดยที่รัฐบาล คสช. เคยผ่านวาระที่หนึ่งมาแล้วแต่จากนั้นถูกปัดตก จนปัจจุบันรัฐบาลหมดวาระไปแล้วยังไม่พบว่ามีการนำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับมายังกระบวนการของรัฐสภาอีกเลย ตนขอใช้โอกาสนี้ตามหาร่างกฎหมายดังกล่าว” สส.พูนศักดิ์ กล่าว

“วิกฤตโลกร้อน ไม่ถูกจัดให้อยู่กลุ่มปัญหาเร่งด่วน”
“ขณะที่ทั่วโลกให้ความสนใจกับปัญหาโลกร้อน แต่จากที่อ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาล กลับพบว่า รัฐบาลโฟกัสไปที่เรื่องการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการบรรเทาผลกระทบมากกว่าการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว (Adaptive capacity) ให้กับประชาชน
เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดนี้ตระหนักดีถึงความท้าทายของความแปรปรวนสภาพอากาศ สภาวะอากาศสุดขั้วคือความเสี่ยง แต่ก็เป็นที่ไม่น่ายินดีที่เรื่องการจัดการกับภัยพิบัติอันใหญ่หลวง เช่น วิกฤตภัยแล้งจากเอลณีโญ่กลับเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่บรรจุไว้ในวาระเร่งด่วน กลายเป็นนโยบายระยะกลาง-ยาว โดยนโยบายเร่งด่วนเน้นแต่เพียงการสร้างรายได้” ศนิวาร บัวบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย
นอกจากปัญหาเรื่องน้ำท่วมแล้ว ปัญหาเรื่องภัยแล้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ศนิวาร เห็นว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญ แต่กลับไม่ได้ถูกนับเป็นนโยบายเร่งด่วน ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีน้อยกว่าปีก่อน และมีการคาดการณ์ว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญจะลากยาวไปอีก 1 – 2 ปี ซึ่งปัญหาเรื่องภัยแล้งมีโอกาศที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 5 – 7.8 หมื่นล้านบาท

“ไม่ระบุเป้าลดโลกร้อน-กลัวทำไม่ได้?”
“นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวานนี้ว่า จะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
โดยประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 18 ของโลก แต่เป็นประเทศที่มีดัชนีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากโลกร้อนเป็นอันดับที่ 9 ของโลก เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ปล่อยในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เราจะได้รับผลกระทบในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่นโยบายของรัฐบาลท่านกลับโฟกัสที่การลดก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ดูว่าประชาชน ที่เดือดร้อนจากผลกระทบดังกล่าวจะพร้อมรับปรับตัวอย่างไร
ปัจจุบันในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่พูดถึงเรื่องของ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) ที่รัฐบาลก่อนให้สัญญาว่าจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2065
ถ้าอยากแสดงความเป็นผู้นำขออาเซียนจริง ก็ควรจะประกาศออกมาเลยว่าจะบรรลุเป้าหมาย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ภายในปี 2065 หรือจะขยับเป้าหมายเข้ามาเป็น 2050 ก็ได้
ซึ่งดิฉันไม่มั่นใจว่าที่ไม่ระบุเป็นเพราะไม่มั่นใจว่าจะทำได้ใช่หรือไม่”
ศนิวาร บัวบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงนโยบายของรัฐบาลต่อเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโลกร้อน ที่ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 30 ปี แต่ประเทศไทยก็ยังมีภูมิต้านทานน้อยมาก รวมถึงนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาก็ยังไม่ครอบคลุม และยังไม่ตรงจุดต่อการแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหาโลกร้อนจะเน้นไปที่ 3 เสา ได้แก่ การบรรเทาผลกระทบ (Mitigation) โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การพร้อมรับปรับตัวกับผลกระทบ (Adaptation), และการดำเนินการกับความสูญเสียและความเสียหายหลังจากเกิดภัยพิบัติ (Loss & Damage)

“หนุนทำเงินจากคาร์บอนเครดิต โดยไม่มองผลกระทบรอบด้าน”
“ส่วนเรื่องสร้างรายได้ที่รัฐบาลย้ำนักย้ำหนา ท่านบอกว่า จะส่งเสริมแนวทางที่สร้างรายได้จากผืนดิน และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน หากภาครัฐต้องการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจริง การปลูกป่าอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป ป่าแต่ละที่จะมีนิเวศน์ที่แตกต่างกัน การปลูกก็ต้องระวังพวกไม้ต่างถิ่น อาจไปทำลายระบบนิเวศน์เดิมของป่าได้ ถ้าเป็นไปได้ แทนที่จะให้ความสำคัญแต่การปลูกใหม่ ควรมีการฟื้นฟูควบคู่ไปด้วยค่ะ ตีขอบเขตให้ชัดเจน และปล่อยให้พื้นที่เป็นไปตามธรรมชาติ
สำหรับเรื่องส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ
โดยการขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรมนั้นยังมีความสงสัยว่าความยุติธรรมนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะว่ามีบทเรียนจากรัฐบาลที่แล้วมากมาย
กลไกคาร์บอนเครติตเป็นเพียงกลไกหนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวไปสู่ Carbon neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ประเทศไทยกลับนำกลไกดังกล่าวมาใช้เพื่อเอื้อให้เอกชนสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตราคาถูก เพื่อจะได้ไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ประเด็นที่หลายฝ่ายไม่สนับสนุนหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางตลาดคาร์บอนภาคป่าไม้ และนโยบาย Carbon Neutrality นั่นคือ กลไกการชดเชย และซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ได้แก้ที่ตันเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือไม่ได้มุ่งไปที่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกือบ 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศมาจากภาคพลังงาน นี่คือ การเกาไม่ถูกที่คัน ของนโยบายรัฐบาล” ศนิวาร กล่าว

“หนุนขายคาร์บอนป่าชายเลน เอื้อทุน”
“ปลายปีที่แล้ว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดสรรพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตให้ 17 กลุ่มทุนใหญ่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 4 หมื่นกว่าไร่ ซึ่งครอบคลุมหลายพื้นที่ของทุกจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน ซึ่งศนิวารกล่าวว่านี่คือการฟอกเขียวระดับ Mega-projects และเป็นความไม่ยุติธรรมที่ป่าชุมชนเหล่านี้เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่เอกชนกำลังเข้าไปแย่งยึดทรัพยากรที่ชาวบ้านได้พึ่งพาดูแลรักษามาอย่างช้านาน
แล้วมันยุติธรรมหรือ เมื่อมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ชุมชนที่เป็นผู้รักษาป่ามาตั้งแต่ต้นจะได้รับส่วนแบ่งเพียง 20% ซึ่งหากคิดคำนวณออกมาเป็นตัวเงินแล้ว จะประมาณ 400 กว่าล้านบาทใน 30 ปี ในขณะที่เอกชนจะได้ส่วนแบ่งสูงถึง1,500 ล้านบาท
ท่านคิดว่านี่ยุติธรรมแล้วหรือไม่ ชาวบ้านที่เขาสู้อุตส่าห์ฟื้นฟู ดูแลรักษาป่ามาอย่างยาวนาน แต่อยู่ ๆ กลุ่มทุนเหล่านั้นกลับได้ประโยชน์มากว่า นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเจนมากดิฉันจึงตั้งคำถามว่า การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม คือ ยุติธรรมสำหรับใครคะ นายทุน หรือชุมชน
ที่น่าห่วงกังวลมากไปกว่านั้นคือระบบนิเวศธรรมชาติจะถูกลดทอนเป็นป่าคาร์บอน ซึ่งอาจเป็นป่าเชิงเดี่ยว ทำหน้าที่เสมือนถังขยะรองรับก๊าซพิษของภาคอุตสาหกรรม แทนที่จะคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างที่มันควรจะเป็นคุณค่านิเวศบริการด้านอื่น ๆ กลายเป็นเพียงผลประโยชน์ร่วมไป โดยชี้ว่าถ้าการได้มาซึ่งพื้นที่เพื่อปลูกป่าแลกคาร์บอนเครดิตมีความยุติธรรมจริง ชาวบ้านคงไม่ออกมาเรียกร้องกันแบบนี้ และย้ำว่าวิธีแก้ปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนนั้นคือติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อนโดยการแก้ปัญหาที่ดินที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ศนิวารอภิปราย

“ไม่มีสัญญาณ แก้วิกฤตโลกร้อนอย่างเป็นระบบ”
“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมาย และมาตรการสำหรับควบคุม และติดตามระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยควรให้ความสำคัญกับการพร้อมรับปรับตัว พอ ๆ กับการบรรเทาผลกระทบ การใช้กลไกการตลาดต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานต้องมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิธีการประเมิน EIA ควรคำนึงถึงสถานการณ์สภาพอากาศสุดขั้วด้วย
และท้ายที่สุดด้วยเรื่องโลกร้อนเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน (ทั้งภาคเมือง ขนส่ง ผลิตไฟฟ้า ป่าไม้ เกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย) องค์กรที่กำกับดูแลอาจจำเป็นต้องข้ามกระทรวงเพื่อให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงฝากทิ้งท้ายให้กับรัฐบาลว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ระดับเดียวกับกรมอื่น ๆ นั้นเพียงพอแล้วหรือไม่” ” ศนิวารอภิปราย