จับตาเวทีรับฟังครั้งสุดท้าย? เมกะโปรเจกต์หมื่นล้าน “นิวเคลียร์องครักษ์” 10 ก.ย. นี้ เมื่อเครือข่ายนครนายกเริ่มเดินหน้าเคลื่อนไหวคัดค้าน ล่าสุดบุกสภายื่นร้องเรียน สส.ก้าวไกล ด้านสส.นครนายก พรรคเพื่อไทยยกประเด็นอภิปรายกลางสภา
ขณะหน่วยงานเจ้าของโครงการ “สทน.” ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ปล่อยบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการเป็นหลัก ซึ่งล่าสุดบริษัทฯ พยายามแสดงความโปร่งใสข้อมูลโครงการด้วยการโยนเอกสารกว่า 1,500 หน้าให้ชาวบ้านอ่านก่อนเข้าร่วม
นราวิชญ์ เชาวน์ดี สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews รายงาน
![]() |
![]() |
“เปิดรับฟัง 270 นาที – 7 ประเด็นที่อยากรับฟัง”
“วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ขอเชิญเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อทบทวนร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)”
ข้อความประชาสัมพันธ์ยืนยันการจัดเวทีรับฟัง ที่ “บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด (COT)” บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ และเฟสบุ๊กของบริษัท เมื่อ 16 ส.ค. 2566 25 วัน ก่อนวันรับฟังความคิดเห็น
“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเริ่มตั้งแต่ 08:00 – 12:30 น. โดยเป็นเวทีออนไซต์ในพื้นที่ 5 เวที ประกอบกับออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom ตามกำหนดการจะเริ่มจากการนำเสนอข้อมูลโดยสถานบันฯ และบริษัทที่ปรึกษา เป็นเวลา 50 นาที โดยจะครอบคลุมตั้งแต่รายละเอียดโครงการ ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเป็นการเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความเห็น และข้อเสนอแนะ” บริษัทที่ปรึกษา เปิดเผยรายละเอียดเวทีฯ
เวทีรับฟังครั้งนี้ มีบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการเป็นหลัก แม้เจ้าของโครงการคือ สทน. โดย COT เริ่มมีการประชาสัมพันธ์เวทีสู่สาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมแนบเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นรวมกว่า 1,500 หน้า ให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมเวทีฯ ดาวโหลดอ่าน และทำความเข้าใจ 13 วันก่อนเข้าร่วมเวที
“หลังจากที่ได้ศึกษาเอกสารฉบับนี้ (เอกสารประกอบการประชุม การรับฟังความคิดเห็นประชาชนฯ ครั้งที่ 3) ท่านสามารถร่วมให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะต่อคณะผู้ศึกษาฯ เพื่อนําไปดําเนินการศึกษาให้ครบถ้วน อันจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนของท่านต่อไป
ตัวอย่างประเด็นที่ท่านสามารถให้ข้อมูลได้
1. ท่านมีข้อมูลใดที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้
2. ท่านมีความคิดเห็น และข้อห่วงกังวลใด เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ
3. การศึกษาผลกระทบแต่ละด้านครบถ้วน และตอบข้อห่วงกังวลของท่านครบถ้วนหรือไม่อย่างไร
4. ประเด็นหรือข้อห่วงกังวลที่ต้องการให้ทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม
5. มาตรการหรือสิ่งที่โครงการกําหนดไว้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกัน และลดผลกระทบส่ิงแวดล้อม มีความครบถ้วนเพียงพอ ต้องเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร
6. ท่านคิดว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างไรในโครงการ
7. ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลอื่น ๆ ท่ีท่านคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อให้โครงการสามารถอยู่ ร่วมกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน” ผู้จัดเวทีระบุ
กำหนดการประชุมและช่องทางการเข้าร่วมประชุม

เปิดตัวเลขงบโครงการฯ ล่าสุด “15,763 ล้านบาท”
“โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ขนาด 20 เมกกะวัตต์ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีแผนจะสร้างที่ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ตั้งอยู่บนพื้นที่ 16.59 ไร่ ภายในสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ด้วยงบประมาณในส่วนเครื่องปฏิกรณนิวเคลียร์วิจัยพร้อมส่วนสนับสนุนอยู่ที่ 15,762.99 ล้านบาท” รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษา และทบทวนผลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ พร้อมปรับปรุงข้อมูลเทคนิค ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยตัวใหม่ ปี 2560 ระบุ

เครือข่ายนครนายกคัดค้านต่อเนื่อง
“หากเกิดการรั่วไหลของกากกัมมันตรังสีของโครงการนี้ จะครอบคลุมถึง 28 จังหวัด นั่นหมายถึงว่าโครงการนี้จะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมถึงพื้นที่อื่น ๆ ด้วย เพราะไม่ใช่แค่คนนครนายกที่จะต้องเผชิญกับสารพิษนี้”
ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนายกสมาคมพลเมืองนครนายก หนึ่งในแกนนำเครือข่ายคัดค้านฯ ให้สัมภาษณ์ Decode.plus วันนี้ (8 ก.ย.2566) ระหว่างกิจกรรมรณรงค์คัดค้านโครงการฯ ที่เริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอองครักษ์ ก่อนจะเดินรณรงค์ไปตามตลาด และบ้านคนในชุมชนในเขตเทศบาลและบริเวณใกล้เคียง เพื่อเชิญชวนออกมาร่วมกันคัดค้านโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์องครักษ์ในเวทีรับฟังฯ ครั้งที่ 3
“โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และชาวนครนายกเคยยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกมาแล้ว เมื่อ 6 ส.ค. 2563” ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ กล่าว

“ทำไมต้องที่นี่ จะส่งออกสารกัมมันตรังสี?” 2 ในหลายคำถามที่รอคำตอบ
ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และ นายกสมาคมพลเมืองนครนายก ให้สัมภาษณ์กับสภาความคิด เกี่ยวกับประเด็นโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยที่นครนายก เมื่อ 25 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกเมื่อวันจันทร์ที่ 21 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และรับปากว่าจะมารับฟังเวทีประชาพิจารณ์ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 ก.ย. 2566 นี้ด้วย ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีตัวแทนจากสถาบันนิวเคลียร์ฯ มาร่วมด้วย แต่ทางตัวแทนก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมถึงเลือกพื้นที่ อ.องค์รักษ์ เป็นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย
“วันจันทร์ที่แล้วผู้ว่านครนายกได้นัดตัวแทนจากสถาบันเทคโนโลยีฯ มาร่วมประชุมด้วย เพื่อมาคุยกันว่าจะทำยังไงให้เวทีประชาพิจารณ์ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ผมตั้งคำถามไป 3 ครั้งว่า พื้นที่องค์รักษ์มีความเหมาะสมอย่างไรต่อการตั้งโครงการเตาปฏิกรณ์ฯ แต่เขาก็ยังตอบไม่ได้เลย ว่าทำไมถึงมีความจำเป็นที่จะสร้างตรงนี้
ระหว่างติดตามเรื่องนี้ เครือข่ายฯ เจอข้อมูลว่า เขา (สทน.) จะส่งออกสารกัมมันตรังสีที่ได้ไปต่างประเทศ เราก็ตกใจมากว่า เขาจะเอากากไปทิ้งไว้กับชาวบ้าน แต่จะส่งออกสารกัมมันตรังสีเพื่อสร้างรายได้ ให้กับประเทศ มันย้อนแย้งมากเลย ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย
สถาบันนิวเคลียร์ฯ กำลังติดต่อกับบริษัทต่างประเทศ แล้วกำลังจะส่งออกสารรังสี แต่จะมาทิ้งกากให้คนองค์รักษ์ มันคุ้มค่ากันไหมที่จะส่งออกเพื่อเอารายได้ แล้วทิ้งกากรังสีไว้ให้คนไทย” ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ กล่าวในรายการ
![]() |
![]() |
ออกแถลงการณ์ค้าน “ก่อนเวทีฯ”
“โครงการดังกล่าวฯ เคยมีแผนที่จะสร้างในพื้นที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก มาแล้ว 2 ครั้งแต่ต้องยุติไป ต่อมาปี 2560 ได้มีความพยายามกลับมาดำเนินการอีกครั้ง และกำหนดวันประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 กันยายน 2566
ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าพื้นที่ตั้งโครงการมีความไม่เหมาะสม ขัดกับเกณฑ์ความปลอดภัย ที่กำหนดโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA
รวมถึงทางเครือข่ายฯ มองว่าสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฯ เจ้าของโครงการไม่มีความสามารถในการควบคุมดูแลเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้ปลอดภัยกับประชาชน โดยยกตัวอย่างการจัดการสารซีเซียม137 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ที่สถาบันฯ มีความบกพร่องในการดำเนินการหาสถานที่เหมาะสมเก็บกากฝุ่นเหล็ก
เครือข่ายฯ จึงเสนอให้รัฐบาลใหม่สื่อสารเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างตรงไปตรงมา พัฒนาระบบความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์ให้ประชาชนไว้ใจ และขอให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฯ ที่องครักษ์
“จากความพยายามของรัฐบาลในการทำโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกเมื่อปี 2533 และ 2553 แต่ก็ต้องยุติไปด้วยปัญหาทุจริตภายใน และการคัดค้านอย่างรุนแรง ต่อมาปี 2560 ได้ฟื้นโครงการขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยเพิ่มเป็นขนาด 20 เมกะวัตต์ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของประชาชนตลอดมา ทำให้โครงการยืดเยื้อมาเกือบ 6 ปี จนได้กำหนดวันประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 กันยายน 2566 ที่อำเภอองครักษ์
ปัญหาใหญ่ของโครงการฯ คือที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์จะอยู่ติดกับฝั่งแม่น้ำนครนายก ทำให้สาธารณชนกังวลใจต่อการแพร่ของสารกัมมันตรังสีสู่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคอันได้แก่ แม่น้ำบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี และเข้าคลองซอยสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เชื่อมสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งเตาปฏิกรณ์ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็จะฝังแช่ในน้ำ และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสู่น้ำบาดาล
นอกจากนี้การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการเมื่อปี 2533 เป็นข้อมูลที่ล้าสมัย และขาดหลักฐานยืนยันกระบวนการคัดเลือกดังกล่าว อีกทั้งยังขัดกับเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนดโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA อันได้แก่ พื้นที่ตั้งเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว น้ำใต้ดินอยู่ตื้น อยู่ใกล้ชุมชน และใกล้สนามบินเล็ก
ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่รัฐบาลพยายามสร้างโครงการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ สทน. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ อันได้แก่ การแจกเงิน และสิ่งของเพื่อจูงใจในการทำประชาพิจารณ์ การปกปิดข้อมูลรายงานความคุ้มค่าในการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา และการเก็บกากกัมมันตรังสีในพื้นที่โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน เป็นต้น
ปัญหาความปลอดภัยของนิวเคลียร์เป็นเรื่องระดับสากล เห็นได้จากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของประเทศญี่ปุ่นทำให้เกิดกระแสการต่อต้านรุนแรงในระดับโลก ส่วนปัญหาในระดับชาติ ความเชื่อมั่นต่อเรื่องการจัดการกัมมันตรังสีตกต่ำลงจากปัญหาการจัดการสารซีเซียม 137 ที่ไม่สามารถติดตาม และควบคุมได้ที่จังหวัดปราจีนบุรี จนขณะนี้ยังไม่สามารถหาสถานที่เหมาะสมเก็บกากฝุ่นเหล็กได้
อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลไม่เคยประชาสัมพันธ์โครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโครงการนี้ให้กับคนไทยรับรู้เลย
เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่สื่อสารเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับการพัฒนาระบบความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์จนเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และจัดโครงสร้างของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้เป็นอิสระและสามารถสร้างมาตรฐานด้านนิวเคลียร์ได้อย่างแท้จริง
เครือข่ายฯ ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องชุมชนและลูกหลาน โดยขอให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฯ องครักษ์ ในทันทีและรักษาจังหวัดนครนายกให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นอุทยานทางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของคนในจังหวัดและคนในพื้นที่ใกล้เคียงสืบต่อไป” แถลงการณ์ เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ วานนี้ (7 ก.ย. 2566) ระบุ

ยื่นก้าวไกล “4 ความไม่ชอบมาพากล เวทีรับฟังฯ”
วานนี้ (7 ก.ย. 2566) รังสรรค์ ผดุงธรรม ตัวแทน เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ สส. พรรคก้าวไกล ที่รัฐสภา “เรื่องความไม่ชอบธรรมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษา Consultant of Technology ผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ขนาด 20 เมกกะวัตต์ ที่อำเภอองครักษ์ ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)” และเรียกร้องให้ดำเนินการยกเลิกโครงการฯ
“เวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดโดยบริษัท 2 ครั้งที่ผ่านมาประกอบด้วยเรื่องน่าสงสัยหลายประการ ดังนี้
1. ในเวทีที่ 1 ทางบริษัทได้ใช้วิธีเกณฑ์คนผ่านผู้นำชุมชนเพื่อเข้ามารับฟังคำชี้แจงของบริษัทที่ปรึกษา โดยมีการแจกเงินให้คนละ 200 บาทโดยอ้างว่าเป็นการอำนวยความสะดวก และมีผ้าห่มอีกหนึ่งผืนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้เห็นด้วยกับโครงการ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างครบถ้วน
2. ทางบริษัทที่ปรึกษามิได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน และเป็นจริงกับประชาชน โดยรับทราบเพียงด้านดี อย่างเดียว
3. บริษัทที่ปรึกษามิได้คำนึงถึงกฎขององค์กรปรมาณูระหว่างประเทศ เช่น ห้ามอยู่ใกล้ชุมชน ห้ามตั้งอยู่ในพื้นที่ดินอ่อน พื้นที่น้ำท่วมถึง เป็นตัน
4. จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 ก.ย. 66 ผ่านระบบออนไลน์ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้น้อย
จากข้อสงสัยดังกล่าวจึงขอเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นหลัก” ตัวแทนเครือข่ายคนรักษ์นครนายกฯ กล่าว
“จะนำเรื่องดังกล่าว เสนอให้พรรคก้าวไกลศึกษา และจะนำเสนอเป็นญัตติ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาดังกล่าว รวมทั้งหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 35 คณะเรียบร้อยแล้ว จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องผ่านสมาชิกพรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป” พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.พรรคก้าวไกล กล่าวหลังรับหนังสือร้องเรียน

สส.นครนายก พรรคเพื่อไทย อภิปราย “เวทีรับฟังโครงการฯ” ในสภา
6 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา เกรียงไกร กิตติธเนศวร สส.นครนายก พรรคเพื่อไทย นำข้อวิตกกังวล และข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ระบุกว่าการจัดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 10 ก.ย. 2566 นี้ ควรดำเนินการด้วยความโปร่งใส ฟังข้อมูลรอบด้าน และสะท้อนความต้องการคนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลักที่เป็นความกังวลมากของคนนครนายกที่สุด คือ ความไม่เหมาะสมของที่ตั้ง การดำเนินการที่ส่อเข้าข่ายการทุจริตที่ผ่านมา การดำเนินการประชาพิจารณ์ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และความเสี่ยงต่ออุบัติภัยสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล
“ผมขอนำความเดือดร้อนใจของชาวจังหวัดนครนายกมากล่าวในสภา เนื่องจากจะมีการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายของโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ ที่สุดในปรเะทศไทย 20 เมกะวัตต์ ที่มีแผนที่จะสร้างที่ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ในวันที่ 10 ก.ย. 2566 แต่โครงการดังกล่าวยังมีข้อสงสัยมากมาย
1. สถานที่เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่สถานที่ตั้งผิดมาตรฐาน IAEA (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ) 5 ข้อ ตั้งแต่ 1. สถานที่ต้องเป็นที่ลุ่มน้ำไม่ท่วมถึง แต่ อ.องครักษ์ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้มลิง แปลว่าน้ำท่วมทุกปี 2. น้ำใต้ดินต้องอยู่ลึก แต่ อ.องครักษ์ เป็นที่ลุ่ม และน้ำใต้ดินตื้นมาก ๆ 3. พื้นที่ต้องไม่เป็นดินอ่อน แต่ อ.องครักษ์ เป็นพื้นที่ดินเหนียว และดินอ่อนมาก 4. ไม่มีแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว แต่ที่ อ.องครักษ์ เป็นพื้นที่ที่มีแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวพาดผ่าน 5. ต้องอยู่ห่างไกลชุมชน แต่บริเวณดังกล่าวมีชุมชนมากมาย เช่น ตลาด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ปั้มน้ำมัน
2. สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) เคยตรวจพบความทุจริต โครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่ อ.องครักษ์ แห่งนี้มาแล้วในอดีต โดยพบว่ามีความไม่ถูกต้องในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง และบริษัทที่ชนะการประมูลไม่มีใบอนุญาตความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์จาก U.S.NRC (คณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา) จึงมีคำสั่งให้เลิกสัญญากับบริษัทเอกชนรายนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในชั้นศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ แต่ครั้งนี้จะกลับมาก่อสร้างใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 2 เท่า ท่านว่ามันจะเหมาะสมหรือไม่ครับ
3. ที่ผ่านมามีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยมีการพากันมารับเงินคนละ 200 บาท และผ้าห่ม จนเป็นข่าว ซึ่งการแจกเงิน และสิ่งของถือว่าผิดต่อหลักการทำประชาพิจารณ์สากล FPIC ถือว่าเป็นการทำลายอิสระทางความคิดของประชาชน (ครั้งที่ 1 26 ธ.ค. 2561 แจกเงินคนละ 200 บาท และผ้าห่ม ครั้งที่ 2 ก.พ.-พ.ค. 2562 แจกเงิน 200 บาท กระจายตามชุมชนต่าง ๆ) การดำเนินการประชาพิจารณ์ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม
4. เราจะรับความเสี่ยงได้ไหม ถ้าเกิดอุบัติภัยสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล รัศมีอันตรายถึง 150 กม. โดยกระทบกว่า 28 จังหวัด ท่านเคยเห็นข่าวการปนเปื้อนในน้ำ อาหาร อากาศบ้างหรือไม่ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝัน และส่งผลร้ายต่อพันธุกรรมต่อรุ่นสู่รุ่น
ในฐานะตัวแทนของคนนครนายกขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาพื้นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย 10 ก.ย. 2566 ขอให้โปร่งใส จริงใจ และสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของคนนครนายก และขอให้คำนึงถึงอันตรายต่อการรั่วไหล และปนเปื้อนอย่างจริงจัง ที่จะมีผลกระทบเป็นวงกว้างในวันข้างหน้าต่อไป” สส.เกรียงไกรกล่าวในที่ประชุมสภา