ชาวบ้านพะโต๊ะ ชุมพร ประกาศไม่เอาเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ เหตุจะทำลายพื้นที่ทำกิน ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยันนิคมอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับเกษตรกรรมไม่ได้-ชุมพรควรมุ่งพัฒนาสู่ทิศ “ครัวอาหารโลก” รายงานจากพื้นที่

เวทีรับฟังฯ
“วันนี้ (7 ก.ย. 2566) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมกลุ่มย่อยเวทีรับฟังความคิดเห็นงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร–ท่าเรือน้ำลึกระนอง ณ อบต.พะโต๊ะ จ.ชุมพร โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน
โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้ชี้แจงข้อมูลโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร–ท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งมีต้นทางจากแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ซึ่งจะเป็นสถานีท่าเรือชุมพร มาสิ้นสุดที่แหลมอ่าวอ่าง หรือในอนาคตจะพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกระนอง ระยะทางรวม 87.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยทางระดับดิน 39.5 กม. สะพาน 32 กม. อุโมงค์ 16 กม. ผ่าน 5 สถานี โดยผ่านพื้นที่ 9 ตำบล 3 อำเภอ 2 จังหวัด
ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้ในการวางแผนการเดินรถ จากข้อมูลปริมาณผู้โดยสารที่มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผู้โดยสารในโครงการฯ สำหรับปีคาดการณ์ พ.ศ. 2573 ถึง พ.ศ.2602 จะใช้ Line Load สูงสุดของผู้โดยสารในการวางแผนการเดินรถ ปริมาณผู้โดยสารจะขึ้น – ลง สูงสุด ที่สถานีราชกรูด ซึ่งใกล้แหล่งชุมชนมากที่สุด โดยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 1,800 คนต่อวัน ช่วงตอนที่มี Line Load ผู้โดยสารสูงสุดจะอยู่ในช่วงระหว่าง สถานีวังตะกอ – สถานีพะโต๊ะ ใน ปี พ.ศ. 2573 และเพิ่มเป็น 6 เที่ยวต่อวันตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2582 หลังจากนั้นจึงเพิ่มเป็น 8 เที่ยวต่อวัน ใน ปี พ.ศ. 2592 สำหรับแผนการเดินรถขนส่งสินค้ามีจนวนสูงสุดถึง 340 เที่ยวต่อวัน
ในการรับฟังความคิดเห็น ตัวแทนชาวพะโต๊ะได้กล่าวถึงข้อกังวลในหลายด้าน ทั้งการเวนคืนที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีการลงทุนปลูกทุเรียนมังคุดที่หลายครัวเรือนมีรายได้หลักล้านต่อรอบการเพาะปลูก ผลกระทบต่อการแย่งชิงน้ำทั้งในระหว่างการก่อสร้าง และในอนาคตที่มีแนวโน้มของนิคมอุตสาหกรรมตามมา มลภาวะทางเสียง ฝุ่น และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่แหล่งอาหารไปสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งกังวลต่อผลกระทบจากการขุดเจาะอุโมงค์ซึ่งพื้นที่ชุมพร–ระนอง เป็นพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน ในขณะที่ข้อมูลผลการศึกษาไม่มีรายละเอียดต่อการศึกษาทางธรณีวิทยา ไม่มีข้อมูลผลกระทบด้านต่างๆ มาชี้แจงแก่ที่ประชุม” รายงานข่าวจากพื้นที่ระบุ

“นำเสนอข้อมูลไม่ครบเพียงพอ” คนพะโต๊ะ
“การจัดโครงการรับฟังความคิดเห็นแยกรายโครงการทำให้ประชาชนไม่ทราบข้อมูลโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่มีทั้งหมดการจัดประชุมกลุ่มย่อยรายตำบลทำให้คนในชุมชนไม่ทราบข้อมูลผลกระทบหรือความกังวลของเพื่อนบ้านข้างเคียง
ในการชี้แจงข้อมูลมีแต่การนำเสนอผลก็ไม่มีการนำเสนอผลกระทบ การขนถ่ายสินค้าผ่านทางรถไฟเกิดผลกระทบทางเสียง และพื้นที่รอยเลื่อนที่อาจเกิดดินถล่ม หากเกิดโครงการแลนด์บริดจ์ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวพะโต๊ะต่ำลงจากผลกระทบต่างๆ และต้องอพยพโยกย้ายพื้นที่ โดยได้ค่าเวนคืนที่ต่ำ” เบญจวรรณทับทิมทองข้าราชการบำนาญซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวเนื่องจากมีที่ดินอยู่ในพื้นที่โครงการกล่าวในเวทีฯ

แถลงคัดค้าน
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ภายในเวทีได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์จากตัวแทนตำบลบางน้ำจืด อ.หลังสวน และการอ่านแถลงการณ์ “แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนี้ และให้รับฟังเสียงประชาชน” ใจความดังนี้
“ป่าไม้ สายน้ำ และที่ดิน เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ชาวพะโต๊ะได้อนุรักษ์และใช้ประโยชน์เพื่อดำรงชีวิตอย่างสมดุลมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และพวกเราต้องการส่งต่อคุณค่านี้ให้กับลูกหลานต่อไป
โครงการแลนด์บริดจ์จะมีการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม หรือ MR8 เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่แหลมริ่วและฝั่งอัน–ดามันที่อ่าวอ่าง โดยเส้นทางจะตัดผ่านหลายพื้นที่ เฉพาะอำเภอพะโต๊ะ ผ่านตำบลพะโต๊ะ ตำบลปังหวาน ตำบลพระรักษ์ และตำบลปากทรง ด้วยขนาดเส้นทางที่ยาวประมาณ 90 กิโลเมตร กว้างประมาณ 160 เมตร หากก่อสร้างจริง ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจท้องถิ่น อย่างไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้
ผลกระทบต่อผืนป่าและแหล่งต้นน้ำ แม้ผู้พัฒนาโครงการชี้แจงว่าจะใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในการก่อสร้าง มีมาตรการจัดการกับผลกระทบทุกมิติ แต่ในการก่อสร้างเส้นทาง MR8 ที่มีทั้ง มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ ท่อส่งน้ำมัน จะต้องมีการระเบิดและขุดเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขา วางท่อน้ำมัน และถมยกระดับที่ดิน ย่อมต้องมีการตัดทำลายป่าไม้จำนวนมาก มีการปิดกั้นเส้นทางไหลของสายน้ำบนดินและแหล่งน้ำใต้ดิน ผลจากการก่อสร้างย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนของระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะสภาพอากาศและแหล่งน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญของการทำเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ชาวพะโต๊ะส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา สวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลางสาด ลองกอง เงาะ การก่อสร้างเส้นทาง MR8 จะต้องมีการเวนคืนที่ดินทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยจำนวนมาก การเวนคืนที่ดินอาจหยิบยื่นผลตอบแทนระยะสั้นให้กับผู้ถือครองที่ดิน แต่จะคุ้มค่าหรือไม่เมื่อพ่อแม่ญาติพี่น้องต้องแยกย้ายกัน ไปหาที่อยู่ใหม่ ไปหาที่ทำกินใหม่ ชีวิต ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของพวกเราชาวพะโต๊ะสามารถล่มสลายลงได้จากสิ่งนี้ แล้วจนถึงวันนี้ มีใครรู้บ้างว่า บ้านและสวนของใครจะถูกเวนคืน เมื่อถูกเวนคืนแล้วจะไปอยู่ที่ไหน มีใครตั้งหลักรับทันหรือไม่
แทบไม่เคยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ผู้พัฒนาโครงการขาดความจริงใจในการให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างครบถ้วน การจัดรับฟังความคิดเห็นมีการดำเนินการที่ไม่ครอบคลุม ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าร่วมอย่างทั่วถึง ประชาชนจึงไม่เข้าใจชุดแผนพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็น และทำให้ประชาชนไม่อาจไว้วางใจผู้พัฒนาโครงการนี้ได้
ด้วยความรักและหวงแหนป่าไม้แหล่งน้ำที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนที่ควรค่าแก่รักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืนไม่ใช่ทำลายด้วยการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่และนักลงทุนต่างชาติ
เงินที่ประชาชนจะได้รับเป็นค่าเวนคืนจะไม่มีความคุ้มค่าใดๆหากต้องแลกด้วยทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาลลูกหลานชาวพะโต๊ะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีอากาศที่บริสุทธิ์และมีเศรษฐกิจที่มั่นคงบนฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงกับปัญหามลพิษและการถูกเลิกจ้าง
พวกเรา แถลงจุดยืนคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนี้ และให้รับฟังเสียงประชาชน” แถลงการณ์ระบุ