พีมูฟยื่น “เพิ่ม 9 นโยบายสิทธิ-สิ่งแวดล้อม-ทรัพยากร” ครม.เศรษฐา1

พีมูฟยื่น “เพิ่ม 9 นโยบาย” ครม.เศรษฐา1 “โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน กฎหมายป่าไม้ที่ดิน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง นิรโทษกรรม สวัสดิการถ้วนหน้า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หยุดนโยบายเปลี่ยน สปก. 4-01 เป็นโฉนด หยุดนโยบายฟอกเขียวด้วยคาร์บอนเครดิต” 

“รับเรื่องไปเสนอต่อ-บางส่วนเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการอยู่แล้ว” รมว.ดิจิตัลฯ ตัวแทน ครม. ชี้แจง

(ภาพ : ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move)

ยื่น “เพิ่มนโยบาย” ครม.เศรษฐา1

วันนี้ (6 ก.ย. 2566) ประมาณ 09:00 น. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และเครือข่าย เดินทางมาชุมนุมบริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอนโยบาย 9 ด้าน ต่อเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้รัฐบาลบรรจุประกอบการจัดทำคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภา 11 ก.ย. 2566 

เครือข่ายฯ เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวครอบคลุม เหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้เพื่อลดความเหลื่อม สร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน โดยมี ประเสริฐ จันทรรวงทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับข้อเสนอ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ 

“หลังจากเห็น (ร่าง) นโยบายที่ ครม. จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย. แล้ว ก็ยังเห็นว่านโยบายยังไม่สอดคล้องกับปัญหาที่พีมูฟเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคดี ปัญหาที่ดินของคนจนเมือง ที่ดินอุทยานทับที่ ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ปัญหาของพี่น้องที่อยู่ในเขตป่า นโยบายทวงคืนผืนป่าขับที่ไล่พี่น้องออกจากพื้นที่ พี่น้องชาวเลที่อยู่ในเขตอุทยานทางทะเลก็ไม่สามารถอยู่ และหากินได้ ทั้ง ๆ ที่พี่น้องอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานมาตั้งหลายปี

จึงจะขอส่งเสียงให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ พล.ต.อ. พัชวาท วงศ์สุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับหนังสือ และมารับรู้ปัญหาของพี่น้องด้วยตัวเอง

ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเป็นตัวพิสูจน์คุณภาพของรัฐบาลว่ามีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหน ในการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน” ตัวแทนพีมูฟกล่าว

(ภาพ : สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ)

“บางเรื่องจะอยู่แล้ว” รมว.ดิจิตัลฯ ตอบ

“หลายเรื่องที่มาเรียกร้องในวันนี้ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลที่เรากำลังจะดำเนินการอยู่แล้ว หลังจากรับหนังสือนโยบายแล้ว หลังจากนี้ก็จะไปนำเรียนกับนายกรัฐมนตรี 

รัฐบาลใหม่ก็อยากจะดำเนินการในนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะนายกฯ พูดเสมอว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของพี่น้องประชาชน เรามาจากพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นแล้วเราจึงเข้าใจในความทุกข์ของประชาชนดี ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิที่พึงมีในรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

พี่น้องเดินทางมาจากหลายจังหวัดด้วยความหวัง และตั้งใจจริง ในการอยากเห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ ในฐานะของรัฐบาลให้กำลังพี่น้องประชาชนทุกคน ถ้ามีเรื่องอะไรในอนาคตรัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟัง และนำไปปรับใช้”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว

ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า หลังจากนี้จะมายื่นนโยบาย 9 ด้านต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา จึงอยากขอให้นายกฯ สละเวลามาพบกับทางเครือข่ายฯ ด้วย

(ภาพ : The Active Thai PBS)

“9 นโยบายที่ควรเพิ่ม” พีมูฟ

“หลังจากพิจารณา คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แล้วเราเห็นว่าคำแถลงนโยบายดังกล่าวยังมีอีกหลายด้านที่ยังไม่ครอบคลุม ดังนั้น เราขอเสนอนโยบายเพิ่มเติมดังนี้

1. ให้ยกระดับการจัดการที่ดินโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ภายใต้มาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562

2. ผลักดันให้มีการทบทวนปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และยั่งยืน สู่เกษตรกรรายย่อย และผู้ยากจน รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน  ให้เป็นองค์กรที่มั่นคง และจัดสรรงบประมาณอย่างพอเพียง

3. แก้ไขกฎหมายคืนความเป็นธรรมในเรื่องที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม สังคายนากฎหมาย ที่ดิน-ป่าไม้ทั้งระบบ ทบทวน และยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับ พ.ศ. 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 มติคณะมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และมติคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอคคล้องกับเนื้อหา และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักการคนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน

4. กรณีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เราขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีเร่งลงนามรับรอง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ….” ฉบับประชาชน(ขปส.) เข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยเร่งด่วน เพื่อให้กลไกรัฐสภา หรือสถาบันนิติบัญญัติ ได้ทำหน้านที่พิจารณากฎหมายโดยเร่งด่วนต่อไป

5. เร่งดำเนินการออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. โดยระหว่างการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ชะลอการดำเนินคดี และการบังคับคดีทางปกครอง ก่อนการพิสูจน์สิทธิ์/เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับคดีที่ดินป่าไม้ให้เป็นธรรม

6. ผลักดันให้มีการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม

7. ผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้การจัดตั้ง และสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สามารถกำหนดแนวทางการยกร่างได้ ในทุกกระบวนการทุกขั้นตอน

8. กรณีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคมีนโยบายในการเปลี่ยนสปก. 4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่ง ขปส. ได้ประกาศจุดยืนไว้แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งนี้ เนื่องจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดินของเกษตรกรในอดีตในนาม สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ในปี 2517 (อันเป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 ของรัฐบาลในขณะนั้น) มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนภายใต้คำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ กฎหมายต้องเป็นธรรม” คือ เจตนารมณ์ในการที่จะเรียกร้องให้มีการกระจายที่ดิน อันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญยิ่งสู่เกษตรกรรายย่อย และรักษาที่ดินให้อยู่กับเกษตรกรตลอดไป โดยมิให้มีการนำไปเป็นสินค้าในระบบตลาด อันเป็นที่มาของปัญหาที่ดินหลุดมือ และไปกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนที่มิใช่เกษตรกรรายย่อย ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เราจึงขอสงวนสิทธิ์ไม่ให้การสนับสนุนนโยบาย “การแปลง สปก.-401 เป็นโฉนด” อย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ ด้วยความรอบรอบคอบรัดกุม ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนที่รอจ้องโอกาส และทำให้เกิดวิกฤติความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของที่ดินเพิ่มมากยิ่งขึ้น

9. ประการสุดท้าย กรณีรัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุน ส่งเสริมการฟอกเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อน ดังปรากฏคำแถลงว่า รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากา นั้น

เราเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดนโยบายฟอกเขียว โดยข้ออ้างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน แล้วแย่งยึดที่ดินที่ทำของผู้ยากไร้ เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ ดังปรากฎโครงการปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เราเห็นว่า นโยบายการค้าคาร์บอนเครดิต ตามแนวนโยบาย BCG Model นอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาโลกร้อนหรือโลกรวนแล้ว โครงการดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้ทำฟอกตัวเอง เสมือนผู้รักษ์โลก ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ทำลายโลก” แถลงการณ์เสนอนโยบายจากทางพีมูฟ