นักวิชาการ ม.มหาสารคาม เผย “อีไอเอเขื่อนคลองมะเดื่อ” มีปัญหาทั้งคุณภาพและกระบวนการ
เครือข่ายคนนครนายก ตัดสินใจเดินหน้า “วิจัยไทบ้าน” ตอบโต้ข้อมูลอีไอเอกรมชลฯ ผลเบื้องต้นระบุ “ผลกระทบโครงการมากกว่าที่ระบุในรายงานฯ” แถมพบความไม่ชอบมาพากล “กว้านซื้อที่-หวังเงินชดเชย” เผยเตรียมสรุปข้อมูล เสนอคณะกรรมการสิทธิฯ
ด้านกรมชลฯ แจง “กระทบมรดกโลกแค่ 0.03%” นักวิชาการชี้ “ปัญหาอยู่ที่วิธีมองของกรมชล” ขณะชาวบ้านยัน “กระทบหนักทั้งสัตว์และคน”

เผยปัญหาอีไอเอกรมชลฯ
“เราพบว่าในรายงาน EIA นั้นมีปัญหาเยอะมาก” ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผย GreenNews ถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ที่จัดทำโดยบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดจ้างโดยกรมชลประทาน เจ้าของโครงการฯ
“เป็นปัญหาทั้งเชิงคุณภาพของรายงานฯ และในเชิงกระบวนการการจัดทำ” ไชยณรงค์อธิบาย พร้อมยกตัวอย่าง
“1. การเอาจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบไปรวมกับคนได้รับประโยชน์ แล้วก็การบอกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ มันเป็นการลดทอนผลกระทบของชาวบ้าน
2. รายงานไม่มีการศึกษาชุมชนเลย ไม่มีมิติชาติพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่เราพบว่าชาวบ้านที่นี่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์
3. กระบวนการทำ EIA ที่ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจมันไม่มีความชอบธรรม รวมถึงไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่รอบด้าน
4. กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนมีปัญหา ไม่สามารถปกป้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบได้” ไชยณรงค์ ระบุ
“ในรายงาน EIA ก็มีบอกเฉพาะภาพรวม บอกแค่เพียงว่าพบสัตว์ชนิดไหนบ้างในพื้นที่คลองมะเดื่อ นอกนั้นเรายังไม่แน่ใจกระบวนการสำรวจของเขาด้วยว่าใช้วิธีไหน ดำเนินการอย่างไร ติดกล้องตรงไหน” กมลลักษณ์ สุขพลี อาสาสมัครกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ กล่าวเพิ่มเติม

“วิจัยไทบ้าน” การตอบโต้จากคนพื้นที่
“หลังจากที่ติดตามสถานการณ์โครงการฯ นี้ และทราบว่ารายงานดังกล่าวยังมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และไม่มั่นใจในข้อมูลที่มีในรายงาน เราจึงได้ติดต่อไปยัง ไชยณรงค์ ม.มหาสารคาม เพื่อขอให้เข้ามาทำวิจัยไทบ้าน หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า รายงานความรู้ภาคพลเมือง (Citizen sciences)
โดยเป็นการจัดทำ และสำรวจข้อมูลร่วมกันระหว่าง นักวิชาการ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบตอบโต้กับข้อมูลจากรายงาน EIA ของกรมชลประทาน”
เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ นำโดยสมาคมพลเมืองนครนายก เปิดเผยถึงการตัดสินใจของเครือข่ายเมื่อมิถุนายน ที่ผ่านมา ด้วยหวังว่า วิจัยที่จัดทำโดยชาวบ้านดังกล่าวจะสามารถ “แสดงให้เห็นว่าบริเวณพื้นที่คลองมะเดื่อไม่เหมาะสมต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำ นอกจากนั้นอีกจุดประสงค์หนึ่งของการทำวิจัยก็ทำไปเพื่อวางแผนจัดการทรัพยากรในคลองมะเดื่อ ให้มีความยั่งยืนในอนาคต”
ผลเบื้องต้น “ผลกระทบมากกว่าที่ระบุในอีไอเอ”
“ในเบื้องต้น งานวิจัยไทบ้านพบว่าถ้ามีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อเกิดขึ้นจริง ๆ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ก็จะสูญเสียไปจากการถูกน้ำท่วม และก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย เนื่องจากปัจจุบัน คลองมะเดื่อก็เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการรีสอร์ท ที่พัก เท่านั้นที่เสียประโยชน์ แต่ชาวบ้านทั่วไปที่เปิดแผงลอยขายของให้กับนักท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบด้วย
“ถ้ามีอ่างเก็บน้ำขึ้นมา แน่นอนว่าน้ำก็จะท่วมพื้นที่ธรรมชาติซึ่งก็มีทั้งแม่น้ำ และป่า ซึ่งป่าก็เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เป็นมรดกโลก
พวกสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ที่อยู่ในระบบนิเวศลำคลอง โกรก แก่งหิน พวกนี้ก็จะถูกน้ำท่วมหมดเลย ทำให้สัตว์น้ำประจำถิ่นก็จะสูญพันธุ์ หรือไม่มีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนั้นพวกพืชอาหาร พืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่ชาวบ้านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ และนำไปขาย ถ้ามีอ่างเก็บน้ำเกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป” ไชยณรงค์ กล่าว
“เห็นอย่างชัดเจนว่าในบริเวณนี้มันมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญมาก ๆ รวมถึงในบริเวณรอบเขาใหญ่จังหวัดนครนายกก็ไม่มีสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติแบบนี้อีกแล้ว เนื่องจากก็ทำเขื่อนไปหมดแล้ว คลองมะเดื่อน่าจะเป็นแหล่งสุดท้ายด้วยซ้ำไป” อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความเห็นเพิ่มเติม
“จากการสำรวจพบร่อยรอยช้างใช้พื้นที่บริเวณคลองมะเดื่อเป็นพื้นที่หากิน รวมถึงใช่เป็นที่นอน ซึ่งต่างจากรายงาน EIA ที่ระบุเพียงว่า ช้างใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นทางผ่านไปผ่านมา
เราตามช้างมา 2 ปี เราเจอรอยช้างอยู่ตลอดทั้งปี เราเจอรอยกิน รอยเดิน เราเจอแม้กระทั่งที่นอนของช้างอยู่ตรงไหน ชาวบ้านก็บอกได้ว่าที่นอนช้างอยู่ไหน บางทีชาวบ้านก็บอกได้แม้กระทั่งว่าเป็นตัวไหน ที่ประจำของช้างที่เราพบก็คือตรงคลอง 2 หรือคลอง 2 ครึ่ง (บริเวณคลองมะเดื่อ) ที่เป็นที่ประจำของเขาเลย จากที่ชาวบ้านบอกก็คือจะมี 2 ตัวที่เป็นเจ้าถิ่นแถวนั้น” กมลลักษณ์ อาสาสมัครกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เปิดเผย

พบความไม่ชอบมาพากล “กว้านซื้อที่-หวังเงินชดเชย”
“เรากำลังรวบรวมข้อมูลของการไม่ชอบมาพากลของโครงการ ในการกว้านซื้อที่ดินของนายทุน ออกเอกสารสิทธิ์ แล้วไปสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อเกร็งกำไรค่าชดเชย การไปปลูกต้นไม้ที่ปลูกติด ๆ กันเพื่อหวังค่าชดเชย และการมั่วรายชื่อคนได้รับผลกระทบโดยมีรายชื่อคนที่เสียชีวิตไปนานแล้วมาใส่ในรายงาน ซึ่งประหลาดใจมากที่กรมชลฯ ไม่รู้” ไชยณรงค์ เปิดเผย

เตรียมสรุปข้อมูล เสนอกรรมการสิทธิ์ดำเนินการ
ไชยณรงค์เปิดเผยต่อว่า หลังจากสรุปรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจแล้ว ขั้นตอนต่อไปได้วางแผนว่าจะเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และต่อมาคณะกรรมการสิทธิฯ ก็จะเข้ามาสำรวจตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่หรือไม่ โดยคณะกรรมการฯ ก็จะนำข้อมูลจากงานวิจัยไทบ้านเข้ามาพิจารณาด้วย ซึ่ง กสม. ก็จะทำรายงานเพื่อเสนอแนะไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลให้เข้ามาจัดการแก้ปัญหาในพื้นที่
“หลังจากเราเข้าสำรวจไปแล้วเมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่ โดยหลังจากสรุปเสร็จแล้ว เราจะทำการเปรียบเทียบข้อสรุปที่ได้กับรายงาน EIA ของกรมชลประทาน เพื่อแสดงให้เห็นเลยว่า พื้นที่ตรงนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างไร พื้นที่ตรงนี้มีคุณค่าทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ทางเศรษฐกิจอย่างไร และทำไมไม่ควรสร้างเขื่อน” ไชยณรงค์ กล่าว
“ในขึ้นแรกจะนำสรุปการวิจัยไปให้กับชุมชนเพื่อบอกถึงที่มาของชุมชน ทรัพยากรในพื้นที่มีอะไรบ้าง เป็นข้อมูลเก็บไว้ให้กับชุมชน เพื่อจะวางแผนจัดการทรัพยากรให้มีความยั่งยืนในอนาคต
และหลังจากนั้นคาดว่า จะนำรายงานที่ได้ประกอบไปกับการยื่นร้องเรียน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กรมชลประทาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่คลองมะเดื่อไม่เหมาะที่จะสร้างโครงการเขื่อน
กรมชลประทานบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะสมที่จะทำเขื่อน แต่เราทำวิจัยขึ้นมาเพื่อบอกว่าจริง ๆ
แล้วถ้าดูจากข้อมูลนี้นะ พื้นที่ตรงนี้มันไม่เหมาะสมที่จะทำเขื่อน” ฤทธิ์ บินอับดุลเลาะห์ หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำวิจัยไทบ้าน และที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก เปิดเผยเพิ่มเติม

“กระทบมรดกโลกแค่ 0.03%” กรมชลโต้
“แนวพื้นที่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อนั้น ไม่ได้มีการก่อสร้างในพื้นที่ใจกลางป่าแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงบริเวณพื้นที่รอบข้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้งและมีพื้นที่ส่วนน้อยของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.03% ของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งหมด 3.8 ล้านไร่” กรมชลประทานชี้แจง เมื่อ 14 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา
“ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการก่อสร้างอ่างฯ ดังกล่าวได้จนแล้วเสร็จ ได้มีการวางแผนฟื้นฟูพื้นที่ป่า ด้วยการปลูกป่าทดแทนมากกว่า 3 เท่าของพื้นที่อ่างฯ มีการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม การปรับปรุงพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า และฟื้นฟูสภาพป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
อนึ่ง กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำได้มีการดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง เพื่อให้โครงการเหล่านั้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและทุกภาคส่วน”
“กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานหลักในด้านการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี ได้มีน้ำอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทั้งในด้านการชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย ตลอดจนการรักษาระบบนิเวศและแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว จึงได้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน ซึ่งทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2539
จากผลการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำได้เสนอแนะให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าด่าน (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2548 ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “เขื่อนขุนด่านปราการชล”) และอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ก่อนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ในปี 2548
หลังจากนั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการศึกษา และปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของโครงการฯ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2563
ปัจจุบัน โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) โดย คชก. มีมติให้กรมชลประทานกลับไปแก้ไขรายงานฯ ก่อนที่จะนำไปให้ คชก. พิจารณาใหม่อีกครั้ง” สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ชี้แจงที่มาและจุดยืนกรมฯ ต่อโครงการฯ

“ปัญหาอยู่ที่วิธีมองของกรมชล” ไชยณรงค์
“การที่กรมชลฯ มองแบบนี้ถือว่ามีปัญหามาก การบอกว่าใช้พื้นที่ไป 0.03% เป็นการมองแบบคณิตศาสตร์ธรรมดา แต่ไม่ดูเลยว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศยังไง แล้วตรงนั้นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และทางเดินขึ้นลงของช้าง และยังมีสัตว์ป่าหายาก นกเงือก ตะกอง ที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์
คุณจะมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เหมือนร่างกายคนคุณเอาบางส่วนออกไปแล้วคิดแค่ว่า 0.03% ได้ไหมละ” ไชยณรงค์ ให้ความเห็นต่อการชี้แจงดังกล่าว
“รายงาน EIA ของกรมชลประทาน ระบุว่า พบสัตว์ป่า 220 ชนิด ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 38 ชนิด นก 116 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 43 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 23 ชนิด พบสัตว์ป่าสงวน 1 ชนิด คือ เลียงผาเหนือ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ กระทิง หมีหมา หมีควาย และช้างป่า
นอกจากนี้ ยังระบุถึงสัตว์ป่ามีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 6 ชนิด ได้แก่ ชะนีมือขาว เลียงผาเหนือ หมาไน นากเล็กเล็บสั้น นกเค้าป่าหลังจุด และตะกอง” มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชี้ถึงผลกระทบในเชิงคุณภาพต่อพื้นที่

ชาวบ้านยัน “กระทบหนักทั้งสัตว์และคน”
“สัตว์ที่ชาวบ้านเคยเห็นบริเวณคลองมะเดื่อก็มีพวกช้าง พวกเก้งที่เคยลงมา ถ้ามีการสร้างอ่างเก็บน้ำก็คิดว่าช้างก็น่าจะได้รับผลกระทบด้วย เพราะพื้นที่ก็มีช้างป่ากว่า 40 ตัว อาศัยอยู่ บริเวณป่าดังกล่าวถือว่าเป็นปราการด่านสุดท้ายของช้างป่านครนายกแล้ว ถ้าพื้นที่อยู่อาศัยของช้างหายไป แล้วเขาออกไปข้างนอกก็ลำบากแน่” ดารา พันเครือ ชาวบ้านหมู่ 1 ตําบลสาริกา อําเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้ผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ให้ความเห็น
“จากที่เราเคยเห็นก็จะมีเก้งที่ลงมากินน้ำ หมูป่า ช้าง แล้วก็ตะกอง ปกติก็จะเห็นมาตอนหน้าแล้ง มันจะอยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วก็ข้ามมาฝั่งนี้ ข้ามมาปีนต้นไม้บ้าง มาอาบแดดอ่อน ๆ บ้าง แล้วก็ข้ามกลับไป นอกจากนั้นก็เห็นนกเงือกบ้าง 3 – 4 ตัว บินมาในช่วงหน้าหนาว
ในช่วงหน้าแล้งจะมีเก้งลงมากินน้ำ 1 ปีก็จะเจอเก้งซัก 1 – 2 ครั้ง มีนกแปลก ๆ ที่หางยาว ๆ ที่ก็ไม่รู้ว่านกอะไรก็มากินน้ำตลอด นกเป็ดน้ำที่มากินปลาก็เจอ
ถ้ามีอ่างเก็บน้ำขึ้นมา สัตว์พวกนี้ก็จะกระทบอยู่แล้ว โดยเฉพาะช้าง บริเวณตรงนี้ช้างนี่มาตลอด มาเกือบทุกวัน ในช่วงหน้าแล้งช้างก็จะลงมาเล่นน้ำตรงนี้ เขาลงมากินน้ำแล้วก็พ่นน้ำเล่นกัน เล่นเสร็จแล้วก็ไป เดินขึ้นเขาไป
แล้วก็ไม่ใช่แค่สัตว์นะที่จะกระทบ เราก็ต้องย้าย แล้วถ้าย้ายที่อยู่ขึ้นมาพี่ก็ไม่รู้จะย้ายไปอยู่ที่ไหนให้มันเหมือนที่นี่ แล้วก็กระทบเรื่องรายได้ด้วย เพราะตอนนี้ก็มีนักท่องเที่ยวมาด้วย ที่เขามาเขาก็ชอบธรรมชาติกัน
โครงการนี้มันก็ทำมา 20-30 ปีแล้ว เราก็ได้ยินข่าวมาเรื่อย ๆ ก็ไม่คิดว่าเขาจะทำจริง ๆ เหมือนปล่อยทิ้งมา แต่อยู่ ๆ มันก็กลับมาทำวิจัยทีหลัง แล้วก็ไม่ได้ชัดเจน ไม่ได้ชี้แจงว่า นี่ตรงนี้มันต้องทำอะไรผ่าน ทำถนนผ่าน แล้วก็เขื่อนจะทำถึงไหนมันไม่ชัดเจน แล้วก็ไม่บอกด้วยว่าคนที่กระทบต้องย้ายไปอยู่ส่วนไหน แล้วไปทำอาชีพอะไร
ซึ่งเราก็ยืนยันว่าจะคัดค้านจนถึงที่สุดเพราะเราก็หนีไปไหนไม่ได้แล้ว ลูกหลานเราก็อยู่นี่ เพราะครอบครัวพี่ก็อยู่กันตั้งแต่ พ่อแม่พี่ แล้วพี่ก็กลับมาอยู่ตรงนี้ด้วย เดี๋ยวลูกหลานเราก็กลับมาอยู่ตรงนี้เหมือนเดิม ถ้าทำเขื่อนขึ้นมา แล้วเราจะไปอยู่ตรงไหนละ” ปารมิตา สุขเกษม หมู่ 1 ต.สาริกา อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก เปิดเผยถึงผลกระทบรวมถึงความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น
“ปัจจุบันถึงแม้ว่าการดำเนินการสร้างเขื่อนจะถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง รวมถึงมีการสำรวจเพื่อจัดทำรายงาน EIA แล้ว แต่ก็ยังไม่มีแผนรองรับเลยว่า จะมีการชดเชยเยียวยาอย่างไรกับผู้คนในพื้นที่ รวมถึงจะดำเนินการอพยพสัตว์อย่างไร ถ้ามีการก่อสร้างเขื่อนขึ้นมา” ชาวบ้านกล่าว