GreenOpinion :
“The Exit : วิกฤติน้ำ วิกฤติคน และช่องว่างการพัฒนาที่ยั่งยืน” บทความโดย ผศ.ดร. บูชิตา สังข์แก้ว รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคมและความยั่งยืน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

วิกฤติน้ำ วิกฤติคน
“ในปี 2030 ความต้องการน้ำจืดจะมีมากกว่าแหล่งน้ำถึงร้อยละ 40 ซึ่งมีนัยผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก สิ่งแวดล้อม และชีวิตผู้คน
ภายในปี ค.ศ. 2050 คนเมืองจะขาดแคลนน้ำ 2,400 ล้านคน เกิดวิกฤติน้ำทั่วโลก และปีปัจจุบัน ค.ศ.2023 คนกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาด คน 10 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและยังคงขาดแคลนน้ำสะอาด ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดื่มน้ำที่อาจก่อให้เกิดโรค
ประชากรเด็กอย่างน้อย 1 ใน 5 คนทั่วโลก กำลังขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน เด็กในแถบประเทศแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำมากที่สุด ร้อยละ 58 ต้องเผชิญความยากลำบากในการหาน้ำกินน้ำใช้ มีเด็กอย่างน้อยใน 37 ประเทศ ตกอยู่ในภาวะวิกฤติต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เด็กกลุ่มใหญ่ไม่มีน้ำใช้ล้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดระบบการจัดการทรัพยากรพื้นฐานที่ดีจากภาครัฐ และยังมีสาเหตุจากความยากจนทำให้เข้าไม่ถึงน้ำที่เพียงพอ
ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างประสบปัญหาวิกฤติน้ำ และมีแนวโน้มวิกฤติเพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่อยู่ หากไม่มีระบบการจัดการน้ำที่ดีพอและยั่งยืน ”
ข้อความข้างต้นเป็นคำเตือนที่ปรากฏอยู่ในรายงานการพัฒนาน้ำโลกแห่งสหประชาชาติ (UN World Water Development Report) รายงานความมั่นคงของน้ำเพื่อมวลมนุษย์ โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (Water Security for All by UNICEF) และรายงานคณะกรรมาธิการระดับโลกด้านเศรษฐศาสตร์น้ำ (Global Commission on the Economics of Water)
เนื้อหาในรายงานยังกล่าวถึงการขยายตัวของเมืองภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรที่อยู่ในภาวะการขาดแคลนน้ำวิกฤติการขาดแคลนน้ำตามฤดูกาลจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์เช่นในพื้นที่แอฟริกากลางเอเชียตะวันออกและบางส่วนของพื้นที่อเมริกาใต้วิกฤติน้ำที่เกิดขึ้นรุนแรงและยืดเยื้อมิเพียงสร้างผลกระทบต่อชีวิตคนแต่ยังเกิดผลเสียหายต่อระบบนิเวศพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ความหลากหลายทางชีวภาพวิกฤตน้ำจึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและประชาชนในการจัดการน้ำให้เพียงพอและไม่ให้เกิดวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นถัดไป
รายงานนี้ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุวิกฤตน้ำ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำอุปโภคที่มากเกินความจำเป็นของคนบางกลุ่ม ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงน้ำระหว่างคนจนในชนบทและคนรวยในเมือง เช่น เมืองแคปทาวน์ในแอฟริกา คนรวยที่สุดใช้น้ำมากกว่าคนจนถึง 50 เท่า และเมื่อเกิดวิกฤติน้ำหรือภัยแล้ง คนจนที่สุดจะถูกทิ้งไม่ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐาน รวมถึงสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับภาวะโลกร้อน ขณะที่การบริหารจัดการน้ำจากภาครัฐยังไม่เป็นระบบ ขาดธรรมาภิบาล และบางประเทศมีการจัดการน้ำที่มุ่งเน้นก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มากกว่าการรักษาน้ำต้นทุนโดยอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และไม่ยึดโยงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

การเดินทางของวิกฤติน้ำกับการจัดการน้ำที่ยังไม่ที่ยั่งยืน
การกล่าวเตือนวิกฤติน้ำวิกฤติคนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีการกล่าวเตือนมานานนับหลายสิบปี โดยวิกฤติน้ำถูกกล่าวเตือนครั้งแรกในเวทีประชุมสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1977 ในปีนี้นานาประเทศทั่วโลกได้หยิบยกประเด็นปัญหาน้ำมาหารือกัน ต่อมาวาระวิกฤติน้ำโลกถูกบรรจุในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม ณ ประเทศไอร์แลนด์ จนเกิดหลักการดับลินหรือหลักการจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อแก้วิกฤติน้ำโลก ซึ่งนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับวาระของศตวรรษที่ 21 (Agenda 21 recommendation) บทที่ 18 กล่าวถึงทรัพยากรน้ำ และถูกรับรองในการประชุมสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment Development) ณ นครริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ ค.ศ. 1992
หลังจากนั้นมาการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำในบริบทสากลถูกจัดการภายใต้ใหญ่ที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เรื่อยมาจนถึงวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือเป้าหมาย SDGs 17 ข้อที่จะขับเคลื่อนให้โลกพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ส่วนการจัดการ (วิกฤติ) น้ำอยู่ในเป้าหมายที่ 6 การสร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน องค์ประกอบของเป้าหมายข้อ 6 ที่น่าสนใจเช่น การให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและราคาที่สามารถซื้อได้ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน การจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมและการฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศน้ำ
การจัดการวิกฤติน้ำเพื่อให้มีน้ำอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคนเดินทางมายาวไกลเกือบ 5 ทศวรรษ แต่วิกฤติการณ์ปัญหาน้ำก็ยังถูกกล่าวเตือนอย่างซ้ำ ๆ ทั้งยังมีแนวโน้มวิกฤติเพิ่มขึ้น ๆ พอ ๆ กับวิกฤติปัญหาโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อะไรคือความผิดพลาดของการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน บทความนี้ไม่ต้องการกล่าวถึงมากนัก แต่ขอตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนขององค์การระหว่างประเทศและภาครัฐไทยที่ยังคงเน้นที่กลไกความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐและกลไกรัฐระดับประเทศ ซึ่งแนวทางนี้อาจยังมีช่องว่างสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่เกิดบรรลุผลการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

การเติมเต็มช่องว่างการจัดการน้ำที่ยั่งยืน
การพัฒนากลไกภาครัฐควรพัฒนาควบคู่กับหลักการจัดการน้ำโดยคำนึงถึงสิทธิเกี่ยวกับน้ำและชุมชน การจัดการน้ำแบบบูรณาการ และธรรมาภิบาล เพื่อเติมเต็มข่องว่างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สมบูรณ์ขึ้น กล่าวคือ
- สิทธิเกี่ยวกับน้ำและสิทธิชุมชน สิทธิเกี่ยวกับน้ำ (Right to water) เป็นคำวินิจฉัยลำดับที่ 15 ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แห่งองค์การสหประชาชาติ (Committee on Economic, Social and Cultural Rights) คำวินิจฉัยสิทธิเกี่ยวกับน้ำถือเป็นพันธกรณีให้รัฐสมาชิกดำเนินการให้การเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิเกี่ยวกับน้ำเป็นจริงในทางปฏิบัติ สิทธิเกี่ยวกับน้ำมีสาระสำคัญว่าน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องได้รับอย่างพอเพียงและอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และถือเป็นพันธกรณีของรัฐในการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับน้ำต่อประชาชนภายในประเทศ ทั้งระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน ซึ่งในระดับชุมชน รัฐพึงส่งเสริมสิทธิของชุมชนต่อการจัดการน้ำ โดยเฉพาะชุมชน ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งรัฐมีพันธกรณีทำให้สิทธิชุมชนเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดทั้งการอำนวยความสะดวก การส่งเสริม การจัดหาให้ชุมชนได้รับสิทธิและสร้างหลักประกันให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งสิทธิเกี่ยวกับน้ำและสิทธิชุมชนนี้รัฐพึงรับรองสิทธิภายในประเทศตามหลักกฎหมายและการเมือง เช่น การบรรจุในรัฐธรรมนูญ กฎหมายพระราชบัญญัติและลำดับรอง การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับการปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิเกี่ยวกับน้ำและสิทธิชุมชน เป็นต้น
- การจัดการน้ำแบบบูรณาการ (IWRM: Integrated Water Resources Management for Irrigation) ถูกบรรจุอยู่ในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยวางหลักการคุ้มครองความมั่นคงของน้ำและการเข้าถึงน้ำอย่างทั่วถึง หรือการแบ่งเฉลี่ยเพื่อให้น้ำเพียงพอสำหรับทุกคน “Some for all, rather than more some” การจัดการน้ำเชิงบูรณาการกับระบบนิเวศป่าไม้และองค์ประกอบทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆการบูรณาการกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำและแหล่งน้ำการบูรณาการกลไกและผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับน้ำในทุกระดับโดยตัดสินใจวิเคราะห์เชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมการบูรณาการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจในนโยบายและโครงการด้านการจัดการน้ำโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากชุมชนท้องถิ่นสตรีและคนพื้นเมือง
- ธรรมาภิบาลการจัดการน้ำเป็นประเด็นสำคัญต่อความยั่งยืนในการจัดการน้ำหากไม่มีธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนย่อมเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากวิกฤติปัญหาการจัดการน้ำที่ผ่านมามีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธรรมาภิบาลในนโยบายและโครงการจัดการน้ำการเสริมสร้างธรรมาภิบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นธรรมาภิบาลการจัดการน้ำเกี่ยวข้องกับบทบาทของสถาบันการเมืองสังคมและแนวทางการบริหารจัดการเพื่อการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนรวมถึงการมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนนโยบายระเบียบข้อบังคับและมาตรการที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างยุติธรรมมีสถาบันที่โปร่งใสมีกลไกที่มีประชาชนเป็นฐานและการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆตลอดจนเพิ่มระดับการตรวจสอบระบบการตัดสินใจในนโยบายและโครงการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเติมเต็มช่องว่างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการจัดการน้ำดังกล่าวมิใช่เรื่องใหม่นัก แต่มีการนำเสนอในวงกว้างของภาควิชาการและบรรจุเป็นแนวทางการจัดการน้ำระดับสากลซึ่งไทยก็เป็นภาคีอยู่ในนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การแปลงสิ่งเหล่านี้ให้เกิดผลทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้มากขึ้น เพื่อมิให้การกล่าวเตือนวิกฤติขาดแคลนน้ำ อันเป็นภัยคุกคามมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำ ๆ และนับวันจะทวีความรุนแรง

ผศ.ดร. บูชิตา สังข์แก้ว
รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคมและความยั่งยืน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต buchita.sun@gmail.com