สส. สิ่งแวดล้อมก้าวไกลพาคณะทำงาน 8 พรรคลง 2 พื้นที่ “ปนเปื้อนขยะอุตสาหกรรม” ปราจีน-ฉะเชิงเทรา หาแนวทางจัดการการปนเปื้อนคู่ขนานฟ้องคดีโรงงานต้นตอ
พื้นที่แรก อ่างเขาแหลม ฉะเชิงเทรา ซึ่งน้ำมีความเป็นกรดสูง ปนเปื้อนจากโรงงานสกัดโมลิบดีนัมที่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่แม้ถูกหน่วยงานรัฐฟ้องดำเนินคดี
อีกพื้นที่ “ลาดตะเคียน-หว้าเอน” ปราจีนบุรี ที่พบกองขยะพิษจากโรงงานผลิตกรดในพื้นที่ ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม-ก่อผลกระทบชุมชน
“ต้องจัดการกากพิษ-ตรวจสอบ/เอาผิดโรงงาน-ฟื้นฟูพื้นที่-ปิดช่องว่างกฎหมายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง” ก้าวไกลเผยแนวทางดำเนินการที่หารือในทีมฯ

ฉะเชิงเทรา : พบปนเปื้อนมา 4 ปี โรงงานยังเปิดแม้ถูกฟ้อง
“อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน อ่างที่ 16 (อ่างเขาแหลม) ตำบลเขาหินซ้อน จ. ฉะเชิงเทรา ดูเหมือนอ่างเก็บน้ำธรรมดา แต่ในความจริงแล้ว ทุกวันนี้ pH (ค่าความเป็นกรดด่าง) ของน้ำในอ่างนี้อยู่ในระดับ 3 ซึ่งหมายถึงมีความเป็นกรดสูงจนสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
ปัญหานี้ได้รับการตรวจพบเป็นครั้งแรกในปี 2562 (ตอนนั้นค่า pH อยู่ในระดับ 2) หน่วยงานรับผิดชอบอย่างกรมชลประทานจึงนำปูนขาว 14 ตันมาลง เพื่อหวังปรับสภาพน้ำ แต่ไม่สำเร็จ จึงให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาสำรวจการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน โดยขุดหลุมเจาะสำรวจจำนวน 40 บ่อ เพื่อให้ทราบทิศทางการปนเปื้อนของกรดและโลหะหนักหลายชนิด (เชน เหล็ก แมงกานีส สังกะสี และอื่นๆ)
ผลการสำรวจพบว่า จุดกำเนิดของการปนเปื้อนมาจากโรงงานแห่งหนึ่งที่สกัดโมลิบดินัม โดยเกิดการปนเปื้อนจากพื้นที่ของโรงงาน (ซึ่งอยู่ตำแหน่งสูงสุด) แล้วไหลตามเส้นทางน้ำใต้ดิน มายังอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ในที่สุด โดยค่าการปนเปื้อนโลหะหนักหลายตัวเกินค่ามาตรฐานนับเป็นพันเท่า” เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล เปิดเผยวานนี้ (17 ก.ค. 2566) ผ่านโพสต์เฟสบุ๊ก Decharut Sukkumnoed

“จะหาทางฟื้นฟู-เอาผิด-ปิดช่องโหว่กฎหมายอุตสาหกรรม”
“ปัจจุบัน หน่วยราชการ 4 แห่ง คือ กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินคดีกับโรงงานต้นเหตุ และคดียังอยู่ในชั้นศาล
แต่ปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้ยังคงดำเนินการผลิตตามปกติ และค่าการปนเปื้อนก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม
วันนี้ พรรคก้าวไกล นำโดย ส.ส. ก้าวไกลด้านสิ่งแวดล้อม (หรือกลุ่ม ก้าวกรีน) ชวนคณะทำงาน 8 พรรคร่วมรัฐบาล มาสำรวจพื้นที่ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ซึ่งจำเป็นต้องการควบคู่กับการดำเนินคดีกับโรงงานต้นเหตุ โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสอบสวนความผิดครั้งนี้ รวมถึงช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ทำให้หน่วยงานอนุญาต (หรือกระทรวงอุตสาหกรรม) ยังคงปล่อยให้โรงงานแห่งนี้ดำเนินการตามปกติ ทั้งที่ได้ก่อให้เกิดมลพิษจนประจักษ์มาเกือบ 4 ปี
ส.ส. ก้าวไกลด้านสิ่งแวดล้อม (กลุ่มก้าวกรีน) จะนำผลการลงพื้นที่ในวันนี้ไปจัดทำแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่นี้ เพื่อไปหารือกับรัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป” เดชรัตน์ กล่าวถึงแนวทางดำเนินการที่มีการหารือกับคณะทำงานฯ 8 พรรคฯ ที่ลงพื้นที่ต่อกรณีการปนเปื้อนอ่างเขาแหลม ฉะเชิงเทรา

2 พื้นที่ปนเปื้อนขยะพิษยิปซั่มโรงงานผลิตกรด ปราจีนบุรี
“สถานที่ที่เราเห็นในภาพไม่ใช่ที่สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดปราจีนบุรีนะครับ แต่เป็นกองของสารยิปซัม (หรือ แคลเซียมซัลเฟต) ที่เป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตกรดมะนาว (หรือ กรดซิตริก) ของโรงงานแห่งหนึ่งในปราจีนบุรี ที่มาทิ้งเอาไว้ในพื้นที่ สภาพจริงในพื้นที่เหม็นกลิ่นกำมะถันมาก
จุดที่มีการนำสารเคมีมาทิ้งไว้ เท่าที่พบตอนนี้มี 2 จุด คือ ที่ลาดตะเคียน และที่หว้าเอน จ. ปราจีนบุรี จุดแรกที่ลาดตะเคียน (ตามภาพ) น่าจะนำมาทิ้งนานแล้ว เพราะกองใหญ่มาก และยิปซั่มมีสภาพแข็ง (คล้ายปูน) แล้ว ส่วนจุดที่สองที่หว้าเอน เพิ่งนำมาทิ้ง และชาวบ้านในพื้นที่ตรวจสอบได้ และผลักดันจนกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้บริษัทขนย้ายออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2566
ยิปซัมที่พบจากจุดที่สอง (หว้าเอน) ทางราชการมีการนำไปตรวจสอบแล้วพบว่า มีค่าความเป็นกรดสูงมาก โดยมีค่า pH=2.1 นอกจากนี้ ยังมีปริมาณแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานประมาณ 3 เท่า และเนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้ย้ายออก เมื่อมีฝนตกจึงชะล้างทั้งยิปซัมและสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของหมู่บ้าน ส่วนที่ลาดตะเคียนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะกองใหญ่กว่ากันหลายสิบเท่า และถูกทิ้งไว้นานแล้ว อาจจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในวงที่กว้างกว่า” เดชรัตน์ เปิดเผยผ่านโพสต์เฟสบุ๊กเช้าวันนี้ (17 ก.ค. 2566)

“จะเร่งตรวจสอบ-เอากากออกจากพื้นที่-เอาผิดโรงงาน-ฟื้นฟู”
“ส.ส. ก้าวไกลด้านสิ่งแวดล้อม ในนามกลุ่มก้าวกรีน รวมถึง ส.ส. ปราจีนบุรี (ส.ส. แจ้) ส.ส. ชลบุรี (ส.ส. เบียร์) และ ทีมงานของ ส.ส. ฉะเชิงเทรา (ส.ส. ซัน) ได้รับเรื่องร้องเรียน และจะรีบไปตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการผลักดันกองสารเคมีออกจากพื้นที่หว้าเอนโดยเร็วที่สุด การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และที่น่าจะยากที่สุดคือ การจัดการกับกองกากของเสียมหึมาและแผนฟื้นฟูที่ลาดตะเคียน ปราจีนบุรี” เดชรัตน์ เปิดเผย