ทสจ. สมคบคิด ทสม. ออกใบอนุญาตใช้ป่าสงวนฯ ทำกังหันลมมิชอบ?

บทความโดย เพจ มุกดาหารบ้านเฮา 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอข่าวในท้องถิ่นจังหวัดมุกดาหารว่า นายโน จันทร์เต็ม ประธานอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดมุกดาหาร นำทีมพาชาวบ้านบ้านแก้ง หมู่ 5 และบ้านโนนคำ หมู่ 11 บ้านนาคำน้อย หมู่ 6 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง ประมาณ 40 คน เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมที่ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร เพื่อสนับสนุนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลม ของบริษัท ๕๕๕ กรีนเอ็นเนอร์จี้ จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลงที่สอง บนเนื้อที่ 121 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา เป็นเวลา 30 ปี (วันที่ 15 มีนาคม 2566 – 14 มีนาคม 2596) พร้อมกับกล่าวสนับสนุนบริษัทฯให้ได้สร้างพลังงานกังหันลมที่เป็นพลังงานสะอาด

“ชาวบ้านสองหมู่บ้านเห็นชอบด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะไม่มีมลพิษและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายโนกล่าว

(ภาพ : มุกดาหารบ้านเฮา)

แหล่งข่าวใกล้ชิดของนายโนในหมู่บ้านสามขา ต.คำป่าหลาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่นายโนอาศัยอยู่ ได้ให้ข้อมูลว่า มีผู้นำหมู่บ้านทั้งสามร่วมขบวนการกับนายโนได้ทำการเกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านของตนให้เดินทางไปยื่นหนังสือสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยคนที่ไปจะได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทฯ 300 บาท และก่อนวันยื่นหนังสือตัวแทนบริษัทฯยังได้ให้นายโนและผู้นำทั้งสามหมู่บ้านเกณฑ์คนในหมู่บ้านของตนออกไปประชุมกับบริษัทฯนอกหมู่บ้าน ที่ไหนสักแห่ง พร้อมกับแจกซองขาวที่บรรจุเงิน 500 บาท ให้กับชาวบ้านที่ไปทั้งหมดประมาณ 30 คน โดยตัวแทนบริษัทฯให้คำมั่นสัญญาว่าหากโครงการได้ก่อสร้างจะให้เพิ่มคนละ 10,000 บาท

ซึ่งการออกมาแสดงตัวของนายโน ที่มีตำแหน่งเป็นประธาน ทสม. จังหวัดมุกดาหาร เป็นที่สงสัยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครออกมาแสดงตัวสนับสนุนโครงการเลยแม้แต่คนเดียว หรือจะเป็นเครื่องมือของนายปรีชา สิงคเสลิต เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดมุกดาหาร ที่ต้องเอาออกมาใช้เพื่อปกป้องการกระทำผิดของตน และนายพรภิรมณ์ อุระแสง เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลงที่สอง เพื่อก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมตามที่กล่าวมา

โดยมีรายละเอียดการกระทำผิดของนายปรีชาและนายพรภิรมณ์ เป็นข้อ ๆ ดังนี้

(1) โทรศัพท์ติดต่อเพื่อทำการคุกคามชาวบ้านฝ่ายร้องเรียนเพื่อขอพูดคุยไกล่เกลี่ยให้โครงการฯได้ไปต่อ โดยไม่ฟังเหตุผลและข้อกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

(2) ลงพื้นที่ร่วมกับบริษัทฯเพื่อเปลี่ยนจุดตั้งเสากังหันลมโดยพลการ ที่ไม่ตรงกับจุดตั้งเสาเดิมที่ได้รับมติเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯจากเทศบาลตำบลคำป่าหลาย เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่าจุดตั้งเสากังหันลมทับที่ทำกินของชาวบ้าน แต่เมื่อเปลี่ยนจุดแล้วก็ยังทับที่ทำกินของชาวบ้านเช่นเดิม

(3) สมคบคิดกับบริษัทฯจัดฉากจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงแค่เวทีชี้แจงโครงการเท่านั้น

(4) จัดทำบันทึกรายงานการตรวจสอบสภาพป่าเท็จ โดยระบุว่าพื้นที่ป่าในโครงการฯเป็นป่าเสื่อมโทรมและไม่ทับที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งมีข้อพิพาทตามนโยบายทวงคืนผืนป่าที่กำลังได้รับการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานรัฐให้สามารถทำกินได้ (จัดสรรที่ดินทำกินโดยแยกออกจากพื้นที่ป่าที่ควรสงวนหวงห้ามไว้) ซึ่งข้อเท็จจริงพื้นที่ป่าดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสภาพเป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่ดินทำกินของพี่น้องชาวบ้านที่กำลังอยู่ในกระบวนการจัดสรรให้ทำกินได้

ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายปรีชามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการขอใบอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนฯเพื่อก่อสร้างโครงการฯ ก่อนหน้านี้ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโน้มน้าวให้สภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯก่อสร้างโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ทั้ง ๆ ที่บริษัทฯไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ในรัศมีที่จะตั้งโครงการ ไม่ทำประชาคมหมู่บ้าน ไม่ตรวจสอบพื้นที่และกำหนดขอบเขตที่จะตั้งโครงการให้ชัดเจนว่าทับที่ทำกินของประชาชนที่กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามนโยบายทวงคืนผืนป่า และไม่มีเอกสารการตรวจสอบสภาพป่า ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญประกอบการยื่นขอให้สภาฯมีมติเห็นชอบ

ซึ่งสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายก็คงรู้ว่าการมีมติเห็นชอบเช่นนี้ที่ถูกโน้มน้าวและกดดันมาจากบริษัทฯ นายปรีชาและหน่วยงานราชการอื่นของจังหวัดมุกดาหารอาจจะนำไปสู่การกระทำที่มิชอบและมีความผิดได้ จึงมีเงื่อนไขห้อยท้ายไว้ว่า “ก่อนที่จะดำเนินการต่อไปนั้นต้องผ่านประชาคมจากราษฎรในพื้นที่ก่อน และให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ ทสจ. จังหวัดมุกดาหาร (ซึ่งก็คือนายปรีชา) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกชี้จุดให้ชัดเจนก่อนดำเนินการ ไม่ให้ทับที่ของราษฎร ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ ที่ประชุม (มติเห็นชอบของสภาฯ) ถือเป็นโมฆะ และ/หรือ ให้ดำเนินการตามระเบียบ”

อีกทั้งในวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายปรีชาได้พานายอนุสรณ์ โพธิ์ศิริ ตัวแทนบริษัทฯ เข้าไปพบชาวบ้านในพื้นที่ หลังจากกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมป่าไม้ที่กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนฯเพื่อก่อสร้างโครงการฯ เพราะขั้นตอนกระบวนการยื่นขอไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้นและทับซ้อนที่ทำกินของประชาชน โดยนายอนุสรณ์เสนอต่อชาวบ้านว่าจะขอนัดชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเพื่อพูดคุยเรื่องปลดล็อคคดีแห้งที่ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งความไว้ โดยที่ตัวนายอนุสรณ์เองจะเป็นฝ่ายนัดหมายให้ชาวบ้านได้พบกับตำรวจและอัยการเพื่อล้างคดีแห้งให้ ส่วนนายปรีชาก็จะทำการนัดหมายคณะกรรมแก้ไขปัญหาเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่าระดับจังหวัดมุกดาหารให้เปิดห้องประชุมเพื่อเร่งรัดให้ปลดล็อคคดีแห้งให้เร็วที่สุด แต่ทั้งนายอนุสรณ์และนายปรีชามีเงื่อนไขว่าระหว่างที่กำลังแก้ไขเรื่องการปลดล็อคคดีให้ จะต้องหยุดเรียกร้องให้ถอนคำขอใบอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนฯเพื่อก่อสร้างโครงการฯ

นอกจากนี้นายปรีชาและนายพรภิรมณ์ยังแสดงพฤติกรรมเข้าข้างบริษัทฯอย่างน่ารังเกียจ โดยนั่งร่วมโต๊ะกับบริษัทฯทำการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนท้องถิ่นเพื่อยืนยันว่าบริษัทฯทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย (รายละเอียดเพิ่มเติม)

(ภาพ : มุกดาหารบ้านเฮา)

ด้วยข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายที่ยืนยันว่าต้องยกเลิกใบอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนฯเพื่อก่อสร้างโครงการฯสถานเดียว เพราะมีการกระทำมิชอบหลายข้อกล่าวหา ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารเพื่อยืนยันในข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกครั้ง จึงเป็นสาเหตุให้บริษัทฯ และนายปรีชาร่วมกับนายพรภิรมณ์ ต้องหามวลชนมาสนับสนุนโครงการฯให้ได้ จึงให้นายโน จันทร์เต็ม ผู้ที่มีตำแหน่งประธาน ทสม. จังหวัดมุกดาหาร ลูกน้องโดยตรงของ ทสจ. จังหวัดมุกดาหาร (ซึ่งมีนายปรีชา ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ในสำนักงาน ทสจ. จังหวัดมุกดาหาร เป็นผู้กำกับดูแล) ออกมาแสดงบทบาทเพื่อยืนยันว่าโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมของบริษัทฯเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีข้อสังเกตจากพี่น้องชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายที่ออกมาต่อต้านโครงการฯว่า น่าจะมีความร่วมมือกันระหว่างบริษัทฯ นายปรีชาและหน่วยงานราชการอื่นในจังหวัดมุกดาหารที่ใช้ ทสม. จังหวัดมุกดาหาร โดยนายโน ออกมาทำการสนับสนุนโครงการฯดังกล่าว ก็เพราะว่าอยากจะทำให้เกิดกระแสตีกลับไปที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายว่าเป็นพวกขัดขวางหรือต่อต้านการพัฒนาหรือความเจริญ ทั้ง ๆ ที่โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมของบริษัทฯเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน มีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะจะช่วยทำให้ประเทศของเราลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของสภาวะโลกร้อน จึงไม่สมควรออกมาต่อต้านแม้จะทับลงไปในที่ดินทำกินของชาวบ้านก็ตาม ชาวบ้านสมควรเสียสละเพื่อเป้าหมายการลดสภาวะโลกร้อนของโลกที่ใหญ่กว่าเป้าหมายของตัวเองเพียงแค่มีที่ดินทำกิน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายมีความเห็นว่าการอ้างการพัฒนาโดยการก่อสร้างโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมของบริษัทฯ หรือโครงการก่อสร้างพลังงานทางเลือกใด ๆ ก็ตาม จะต้องให้ความสำคัญกับการไม่แย่งยึดที่ดินทำกินของประชาชน อันจะนำไปสู่ผลกระทบทางสังคมและสุขภาพในด้านอื่นจากความยากจนที่เกิดขึ้นจากการไร้ที่ดินทำกิน ไม่ทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นแหล่งหาอยู่หากินของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน ไม่ละเมิดสิทธิชุมชน ต้องดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และต้องตระหนักถึงสิทธิที่จะเลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

ทั้งยังมีข้อสังเกตอีกว่าป้ายไวนิลที่นายโนและกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการฯถือเพื่อสนับสนุนโครงการในวันไปยื่นหนังสือกับศูนย์ดำรงธรรมได้ระบุชื่อ ‘บริษัท P&P กรีน เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด’ ซึ่งไม่ใช่ ‘บริษัท ๕๕๕ กรีนเอ็นเนอร์จี้ จำกัด’ ที่กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายคัดค้าน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีวาระซ่อนเร้นในการผลักดันโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมแห่งที่ 2 ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือติดกันกับโครงการฯแรกของบริษัทฯ เนื่องจากว่าทั้งบริษัท ๕๕๕ กรีนเอ็นเนอร์จี้ จำกัด (“บริษัท ๕๕๕”) และบริษัท P&P กรีน เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (“บริษัท P&P”) มีนายวรนารถ บำรุงสวัสดิ์ เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะบริษัท ๕๕๕ ก่อนหน้าที่นายวรนารถจะเป็นเจ้าของ เคยมีนางวารุณี พรหมนอก (นามสกุลเดิมบำรุงสวัสดิ์) อดีตภรรยาของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ซึ่งเป็นญาติโดยตรงของนายวรนารถเป็นเจ้าของมาก่อน ซึ่งอดีตสามีภรรยาคู่นี้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจสีเทาของนายตู้ห่าวที่โด่งดัง

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการออกมานำมวลชนเพื่อสนับสนุนโครงการฯของ ทสม. จังหวัดมุกดาหาร โดยนายโน จึงมีความบิดเบือนไม่ตรงไปตรงมา เพราะไม่เพียงออกมาสนับสนุนโครงการฯของบริษัท ๕๕๕ ที่กำลังผลักดันโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมแห่งที่ 1 เท่านั้น แต่ยังซ่อนเร้นผลักดันโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมแห่งที่ 2 ของบริษัท P&P อีกด้วย

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ข้อสันนิษฐานของประชาชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายที่มีมาตั้งแต่ต้นว่าโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมจะไม่ได้มีเพียงแค่แห่งเดียวที่จะมาตั้งในตำบลคำป่าหลายเท่านั้น แต่จะมีอีกหลายแห่งอย่างแน่นอนหากไม่สามารถคัดค้านโครงการฯแห่งแรกของบริษัท ๕๕๕ ให้สำเร็จได้ และเมื่อนั้นการแย่งยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านเพื่อนำพื้นที่ไปก่อสร้างโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกังหันลมจะขยายตัวกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอน

(ภาพ : มุกดาหารบ้านเฮา)