เปิดเส้นทางจีนมุ่งสู่มหาอำนาจด้านพลังงานแสงอาทิตย์

สมาคมผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์จาก 95 กิกะวัตต์เป็น 120 กิกะวัตต์ในปีนี้หรือ 30 เปอร์เซนต์ทำให้จีนมีศักยภาพในการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากถึง  392.61 กิกะวัตต์

พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร ผู้สื่อข่าว GreenNews พาไปส่องเส้นทางจีนมุ่งสู่มหาอำนาจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในมุมความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย บทบาทภาคเอกชนอย่างหัวเว่ย และมุมที่ถูกตั้งคำถามเรื่อง “การแย่งยึดที่ดิน” 

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รูปหมีแพนด้าในเมืองต้าถง มณฑลซานซี ประเทศจีน (ภาพ : Business Insider)

ประเทศจีนนับว่ามีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์อย่างมาก เนื่องจากต้องเร่งหาแหล่งพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังจะหมดไปเพื่อไม่ให้การขับเคลื่อนประเทศสะดุดหยุดลงและต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2060

สมาคมผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์จาก 95 กิกะวัตต์เป็น 120 กิกะวัตต์ในปีนี้หรือ 30 เปอร์เซนต์ทำให้จีนมีศักยภาพในการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากถึง  392.61 กิกะวัตต์

(ภาพ : หัวเว่ย)

บทบาทภาคเอกชนอย่างหัวเว่ย

ล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนอย่างหัวเว่ยได้จัดแสดงโซลูชันแสงอาทิตย์อัจฉริยะ (Smart PV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่งานการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ระหว่างประเทศและการประชุมและนิทรรศการพลังงานอัจฉริยะ หรือ International Photovoltaic Power Generation and Smart Energy Conference & Exhibition ครั้งที่ 16 (SNEC 2023) เมื่อวันที่ 24 – 26 พ.ค. 66 ที่ศูนย์นิทรรศการนานาชาติเซี่ยงไฮ้แห่งใหม่ (SNIEC)

โซลูชั้นนี้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในงานสาธารณูปโภค เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม (C&I) และที่อยู่อาศัย

สร้างโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์และระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะเพื่อสาธารณูปโภค

ในส่วนโรงไฟฟ้าระดับสาธารณูปโภคนั้นมีความซับซ้อนและหลากหลาย ซึ่งประกอบไปด้วยสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระดับสูงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กําลังสูง และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่พิเศษระดับกิกะวัตต์ที่มาพร้อมกับความท้าทายด้านความปลอดภัย การเชื่อมต่อกริด การดําเนินงานการบํารุงรักษา และประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า 

หัวเว่ยได้เสนอโซลูชันโดยรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์และระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนกระแสพลังงานและข้อมูล โดยหัวเว่ยทํางานร่วมกับพันธมิตรด้านระบบนิเวศเพื่อสร้างโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์และระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะเพื่อสาธารณูปโภค ที่รับประกันการเชื่อมต่อกริดที่เสถียร ความปลอดภัยสูงสุด การดําเนินงานและการบํารุงรักษาอัจฉริยะ และผลตอบแทนสูง

หัวเว่ยมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่พลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.2 กิกะวัตต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเขตกงเหอ มณฑลชิงไห่ของจีนที่เชื่อมต่อกับสายส่งกำลังไฟฟ้าแรงสูงอัลตรา (UHV) แห่งแรกของโลกที่มีพลังงานสะอาด 100% ซึ่งสายส่งพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องจากที่ราบสูงทางตะวันตกเฉียงเหนือไปยังที่ราบตอนกลาง 

นอกจากนี้ หัวเว่ยได้สร้างระบบพลังงานสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาร์บอนต่ำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสําหรับโรงไฟฟ้าไฮบริดไฮโดรโซลาร์ขนาด 1 กิกะวัตต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ระดับความสูงสูงสุด ณ บริเวณแม่น้ำยาหลงของมณฑลเสฉวน

หัวเว่ยได้กําหนดแนวโน้มของสตริงอินเวอร์เตอร์ (string inverter) และพลิกโฉมสถาปัตยกรรมระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์สมาร์ทสตริง (Smart String ESS) นวัตกรรมระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์สมาร์ทสตริงของหัวเว่ยนั้นผสมผสานทั้งเคมีไฟฟ้า การทําความเย็น อิเล็กทรอนิกส์กําลัง เทคโนโลยีดิจิทัล และการออกแบบความปลอดภัย การเพิ่มประสิทธิภาพระดับแพ็คและการจัดการระดับแร็คช่วยลดความไม่สอดคล้องและความไม่แน่นอนของแบตเตอรี่ลิเธียมโดยใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์กําลัง ขณะที่ความปลอดภัยแบบแอคทีฟ 4 ระดับและการแยกแบบพาสซีฟ 2 ระดับช่วยให้สามารถจัดการได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งยังเพิ่มความจุและมาตรฐานความปลอดภัย โดยโซลูชันนี้ถูกนํามาใช้ในโครงการเรดซีขนาด 1.3 กิกะวัตต์ชั่วโมงในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นโครงการระบบจัดเก็บพลังงานออฟกริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

โซลูชันครบวงจรสําหรับธุรกิจที่ยั่งยืนเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

การพัฒนาคาร์บอนต่ำได้กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก หลายองค์กรมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยพยายามส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและบรรลุความเป็นอิสระด้านพลังงาน และเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ หัวเว่ยจึงนำเสนอสถาปัตยกรรม “1+4” ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพ+แสงอาทิตย์+ระบบกักเก็บพลังงาน+ชาร์จเจอร์+ระบบบริหารจัดการ (Optimizer+PV+ESS+Charger+Management System) ซึ่งโซลูชันนี้ให้ความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และผลผลิตพลังงานสูง รวมถึงการดําเนินงานและการบํารุงรักษาที่ง่ายดายโดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ โซลูชันดังกล่าวจะเป็นตัวเลือกที่เป็นที่ต้องการสําหรับโรงงานเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะเพื่อที่อยู่อาศัย: บ้านที่สว่างอยู่เสมอ

โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะสำหรับที่อยู่อาศัย 4.0 ของหัวเว่ย เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตพลังงาน การจัดเก็บ การใช้งาน และความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพลังงานในบ้านจะเพียงพอ

ความปลอดภัยเป็นรากฐานที่สําคัญของทุกอย่างที่เราทํา และโซลูชันนี้ให้การป้องกันความปลอดภัยที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งสําหรับประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบจัดเก็บพลังงาน และความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) ด้านบนหลังคาและใต้หลังคา โดยสร้างขึ้นจากความเชี่ยวชาญอันเป็นที่ยอมรับของหัวเว่ยในอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับการติดตั้งบนหลังคา 

โซลูชันนี้จะให้การป้องกันส่วนโค้งอัจฉริยะระดับ L4 (สูงที่สุดในอุตสาหกรรม) และการปิดระบบอย่างรวดเร็วในระดับโมดูล สำหรับการติดตั้งใต้หลังคา อุปกรณ์จะได้รับการป้องกันความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านประเภทต่าง ๆ ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และนอกจากการป้องกันความปลอดภัยระดับ 4 แล้ว ระบบจัดเก็บพลังงานยังได้รับการปกป้องด้วยมาตรการป้องกันสูงสุด 12 มาตรการ รวมถึงการป้องกันฉุกเฉินแบบคู่

ในอนาคต หัวเว่ยจะยังเดินหน้าทํางานร่วมกับพันธมิตร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รัฐบาล องค์กรอุตสาหกรรม และองค์กรมาตรฐาน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และระบบจัดเก็บพลังงานอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมเซลล์แสงอาทิตย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งพลังงานหลักสําหรับบ้านและธุรกิจทุกแห่ง ซึ่งจะเร่งความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โรงไฟฟ้าพลังานความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ชานเมืองตุนหวง มณฑลการซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 100 เมกะวัตต์ (ภาพ : Csp.guru)

สู่แหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในโลก

จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าความร้อนแสงอาทิตย์ และมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ 

แต่กว่าที่อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะขยายตัวได้มากขนาดนี้ จีนได้เริ่มวางรากฐานและพัฒนาการผลิตโซลาร์เซลล์มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 โดยเริ่มต้นด้วยการผลิตแผงสำหรับดาวเทียมและเปลี่ยนไปใช้การผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศ

หลังจากรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างหนักในปี 2011 ก็ยิ่งทำให้ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนเติบโตอย่างมากและกลายเป็นผู้นำโลกในการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2013 และในปี 2015 ก็ได้แซงหน้าประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดในโลก ต่อมาในปี 2017 จีนได้กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ติดตั้งทั้งหมดมากกว่า 100 กิกะวัตต์และในสิ้นปี 2020 กำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ติดตั้งทั้งหมดของจีนอยู่ที่ 253 กิกะวัตต์ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ติดตั้งทั้งหมดทั่วโลก

ประธานาธิบดีจีน สี เจิ้นผิงได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้กำลังการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,200 กิกะวัตต์และจะจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในปี 2030 

นอกจากนี้จีนกำลังวางแผนที่จะสร้างกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอีก 450 กิกะวัตต์ในเขตโกบีและทะเลทรายอื่นๆ 

ทั้งนี้จีนตั้งเป้าให้พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2025 ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนส่วนใหญ่ถูกผลิตมาจากพื้นที่ในจังหวัดทางด้านตะวันตกและส่งต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ 

สำนักบริหารพลังงานแห่งชาติของจีนรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จีนได้ติดตั้งกำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่รวม 125 กิกะวัตต์ในปี 2565 ทำให้กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนสะสมทั้งหมดมีมากกว่า 1,200 กิกะวัตต์

(ภาพ : รอยเตอร์ส)

จากกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เป็นกำลังการผลิตพลังงานลมใหม่ 37.6 กิกะวัตต์และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งใหม่ 87.4 กิกะวัตต์

สำนักบริหารพลังงานแห่งชาติของจีนระบุอีกว่าพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 47.3 เปอร์เซนต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจีนในช่วงสิ้นปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับปี 2564 

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีเพียงพอสำหรับจ่ายไฟให้กับบ้านทุกหลังในจีน

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าการผลิตไฟฟ้าของจีนเติบโตตามค่าเฉลี่ยระยะยาวในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากสิ้นสุดการล็อกดาวน์เนื่องจากการะบาดของโรคโควิด-19 

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า การผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเพิ่มขึ้น 1.28 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 4.9 เปอร์เซนต์ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 

ปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (+83 พันล้าน kWh) ฟาร์มกังหันลม (+64 พันล้าน kWh) ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ (+16 พันล้าน kWh) และนิวเคลียร์ ( +6 พันล้าน kWh) 

การผลิตพลังงานส่วนใหญ่มาจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงโดยเพิ่มขึ้น 38 เปอร์เซนต์ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ขณะที่พลังงานน้ำเพิ่มขึ้น 31 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภาคพลังงานจากฟาร์มกังหันลมซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 580 เปอร์เซนต์และพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 400 เปอร์เซนต์ในเวลาเพียง 5 ปี 

เน้นตอบสนองภาคอุตสาหกรรม

ในด้านการบริโภค การเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนแรกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคครัวเรือน

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานแห่งชาติระบุว่า การบริโภคในอุตสาหกรรมขั้นต้นเพิ่มขึ้น +10% ในขณะที่ภาคบริการเพิ่มขึ้น +7% ผู้ผลิตเพิ่มขึ้น +5% และภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นน้อยกว่า +1% 

รูปแบบดังกล่าวสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมหนัก ตลอดจนบริการแบบตัวต่อตัว เช่น ร้านอาหารและโรงแรม

แต่อุตสาหกรรมการผลิตกลับฟื้นตัวได้เล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดส่งออกหลัก รวมถึงการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของธุรกิจและครัวเรือนในประเทศ

ออกกฎหมายและนโยบายหนุนพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์

การพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนที่ผ่านมานั้นมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับนโยบายจูงใจของรัฐบาล รวมทั้งกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น โครงการ Brightness, Township Electrification, Rooftop Subsidy, Golden Sun Demonstration, the PV Concession,  Feed-in tarffit, the 12th Five Year Plan for Renewable Energy Development และ Free Connection Service Policy.

จีนได้ประกาศใช้กฎหมายพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ 2548 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2549 และมีการแก้ไขในปี 2552 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกรอบการทำงานในการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นครั้งแรกในประเทศจีน รวมทั้งมีการออกนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น มาตรการควบคุมราคาและการปันส่วนต้นทุน แนวทางบริหารจัดการสำหรับกองทุนพิเศษเพื่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนระยะกลางและระยะยาว และแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน 5 ปีฉบับที่ 11

นอกจากนี้ยังมีกลไกสำคัญ 5 ประการที่กฎหมายกำหนดเพื่อพัฒนาหลังงานหมุนเวียนได้แก่ 

  1. เป้าหมายระดับชาติสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งหมายความว่ารัฐบาลจะต้องรับรองขนาดตลาดที่แน่นอนและมีความสำคัญในการกำกับการลงทุน 
  2. นโยบายการเชื่อมต่อและการซื้อภาคบังคับซึ่งบริบัทโครงข่ายจะต้องลงนามในข้อตกลงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อซื้อพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดจากผู้ผลิตและให้บริการเชื่อมต่อโครงข่าย
  3. ราคาไฟฟ้าแบบ On-Grid สำหรับพลังงานหมุนเวียนซึ่งคล้ายกับระบบอัตราค่าไฟฟ้า feed-in โดยจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มเติมสำหรับแต่ละกิโลวัตต์ชั่วโมงของไฟฟ้าที่ผลิตและสูงกว่าราคาขายส่งสำหรับพลังงานไฟฟ้าถ่านหินที่ปราศจากกำมะถัน
  4. กลไกการแบ่งปันต้นทุน โดยต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนและการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าแบ่งออกเป็นผู้ใช้สาธารณูปโภคและผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางที่ได้รับการสนับสนุนค่าธรรมเนียนในการขายไฟฟ้าเพิ่มเติม
  5. กองทุนพิเศษเพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับพลังงานหมุนเวียน การตั้งค่ามาตรฐาน โครงการนำร่อง การใช้พลังงานหมุนเวียนในชนบทและการประเมินทรัพยากรหมุนเวียน

นอกจากนี้ ในช่วง 10  ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนให้สิทธิประโยชน์ในด้านภาษีต่อโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น ยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้เป็นเวลา 3 ปี และลดภาษีตัวเดียวกันร้อยละ 50 ให้อีก 3 ปี เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ เข้ามาลงทุน

อีกทั้งยังให้สิทธิประโยชน์ภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ลงทุนในหน่วยงานวิจัยและพัฒนา มีการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการจากพลังงานหมุนเวียน

ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดในโลก ส่วนใหญ่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และลม (Wind) 

กฎหมายและนโยบายต่างๆ เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว 

แผงโซลาร์เซลล์ถูกติดตั้งบนพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านในเขตซิงถัง มณฑลเหอเป่ย์ตั้งแต่ปี 2022 (ภาพ : Sixthtone)

พัฒนาพลังงานสะอาด แต่ “แย่งยึดที่ทำกิน” ?

อย่างไรก็ตามการขยายตัวของภาคพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยเฉพาะการแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้านในพื้นที่ อย่างเช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในมณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของจีน โดยเกษตรกรในท้องถิ่นอ้างว่าบริษัทเอกชนผู้พัฒนาโครงการได้แย่งที่ดินทำกินของพวกเขาไปจนเกิดความขัดแย้ง

ชาวบ้านบอกว่าบริษัทพัฒนาพลังงานแห่งหนึ่งได้เริ่มเดินหน้าติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเดือนเมษายนในปีที่ผ่านมา แม้เกษตรกรในพื้นที่ปฏิเสธที่จะสละที่ดินทำกินให้ก็ตาม ซึ่งที่ดินผืนดังกล่าวชาวบ้านได้ใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หากยกที่ดินให้บริษัท ต้นข้าวสาลีที่ชาวบ้านปลูกไว้บนเนื้อที่กว่า 13 เฮกตาร์ก็จะถูกไถพรวนฝังกลับไปด้วย

ชาวบ้านจากหมู่บ้าน Liujiazhuang หลายรายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาถูกบังคับให้เซ็นสัญญาเช่า 20 ปีโดยเริ่มจากการจ่ายเงินปีละ 1,200 หยวนหรือ 180 ดอลลาร์ต่อหมู่บ้านในช่วง 5 ปีแรก การชำระเงินจะเพิ่มขึ้น 100 หยวนต่อหมู่บ้านในทุกๆ 5 ปีจนกว่าสัญญาเช่าจะหมดอายุ

Liu ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าครอบครัวของเธอได้รับเงิน 20,000 หยวนแม้ว่าพวกเขาไม่ได้ตกลงตามเงื่อนไขของบริษัทก็ตาม 

“พวกเราแค่ต้องการที่ดินของเราและเราก็จะสามารถทำการเกษตรได้” Liu เล่าให้ฟังพร้อมบอกว่าที่ดินคือแหล่งรายได้ลำดับต้นๆ ของเธอ

ขณะที่ชาวบ้านอีกรายจากหมู่บ้านใกล้เคียงบอกว่าเธอถูกคนแปลกหน้ารุมทำร้าย หลังจากที่เธอพยายามเข้าไปยุติการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์

ในปี 2564 ชาวบ้านในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือรายงานว่า พื้นที่เพาะปลูกและผืนป่าของพวกเขาถูกแผ้วถางเพื่อติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในช่วงต้นปีทางการในมณฑลเจียงซูทางตะวันออกได้ประกาศต่อสาธารณะว่าบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งได้เข้าครอบครองพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการคุ้มครองในเมืองดันหยางอย่างผิดกฎหมาย

นอกจากนี้การที่ชาวบ้านขาดความตระหนักในสิทธิของตนเอง ประกอบกับกลยุทธ์ต่างๆ ที่บริษัทพยายามใช้ก็ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนตามพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย 

ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าว่า เธอโกรธมากที่บริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แห่งหนึ่งวางแผนฮุบเอาที่ดินของครอบครัวเธอแม้ว่าเธอพยายามสงวนไว้สำหรับหลุมฝังศพซึ่งเธอก็ได้ปฏิเสธ แต่พวกเธอกลับถูกทำรายจากกลุ่มคนที่ไม่ทราบตัวตน

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสต่อต้านโครงการจนทำให้ทางการต้องยุติโครงการและต่อมาหัวหน้าโครงการก็ถูกจับกุม 

ขณะที่นโยบายระดับชาติของจีนในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการใช้ที่ดินสำหรับแผงโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ได้ห้ามการติดตั้งบนพื้นที่ทางนิเวศวิทยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการและพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการคุ้มครองแม้ว่านโยบายท้องถิ่นจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ 

แต่ยังพบว่ามีหลายบริษัทเพิกเฉยต่อข้อห้ามนี้ แม้แต่ในมณฑลเหอเป่ยซึ่งทางการได้ห้ามใช้พื้นที่การเกษตรสำหรับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากนี้บริษัทพลังงานหมุนเวียนหลายแห่งก็ได้ใช้การยึดที่ดินและสภาพการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยเพื่อบรรลุเป้าหมายสิ่งแวดล้อมของตัวเองจนกลายเป็นปัญหาระดับโลก โดยข้อมูลจากศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในลอนดอนพบว่ามีการร้องเรียนกว่า 197 รายการที่กล่าวหาบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ ลม พลังงานชีวภาพ ความร้อนใต้ดินและไฟฟ้าพลังน้ำระหว่างปี 2553 – 2563

Li Yifei ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก-เซี่ยงไฮ้กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ อย่างเช่น ประเทศจีน ที่พยายามส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่ออนาคตที่สะอาดยิ่งขึ้น แต่ต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยุติธรรม

เขายังเตือนถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของ “การยึดพื้นที่สีเขียว” ในประเทศจีน ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการจัดสรรที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยปราศจากการปกป้องระบบนิเวศและสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ

“เมื่อเราให้ความสนใจทั้งหมดในแง่ของนโยบายและเงินเพื่อลดคาร์บอน ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะลืมว่าต้นทุนคืออะไร ซึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนั้น ควรพิจารณาถึงชุมชนชนบทและชุมชนชาติพันธุ์ที่ขาดความสามารถในการขับเคลื่อนทางการเมืองให้มากขึ้น” Li กล่าว

ข้อมูล : 

https://www.scmp.com/business/china-business/article/3221970/solar-jump-renewable-energy-driving-seat-home-and-abroad-chinas-capacity-just-keeps-expanding

https://www.reuters.com/world/china/china-solar-power-capacity-could-post-record-growth-2023-2023-02-16/#:~:text=China%20exported%20about%2036.3%20GW,plants%20have%20been%20built%20overseas

https://www.reuters.com/markets/commodities/chinas-power-consumption-shows-moderate-growth-2023-05-18/

https://www.researchgate.net/profile/Sufang_Zhang3/publication/271889779_Analysis_on_the_development_and_policy_of_solar_PV_power_in_China/links/59edc71ba6fdccbbefd200a0/Analysis-on-the-development-and-policy-of-solar-PV-power-in-China.pdf

https://www.sixthtone.com/news/1010576

https://blog.jittawealth.com/post/thematic-etf-china-clean-energy-launch-2