5 ความเคลื่อนไหวน่าจับตา สิ่งแวดล้อมโลก – 10 มิ.ย.2566

1. สิงคโปร์ : เปิดตัวคู่มือรับมืออากาศร้อนจัด เอลนีโญ

2. เนเธอร์แลนด์ : แนะเวียดนามปรับตัวตามแนวปฏิบัติสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งออกอียู

3. จีน : เริ่มขุด “หลุมลึกที่สุดในโลก” ปักธงศึกษาใต้พิภพ

4. โปรตุเกส : ชาวบ้านกังวลผลกระทบเหมืองลิเธียมยักษ์

5. สวีเดน : “หยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ” ครั้งสุดท้ายของเกรต้า

พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร GreenNews รายงาน

(ภาพ : Straitstimes)

1. สิงคโปร์ : เปิดตัวคู่มือรับมืออากาศร้อนจัด เอลนีโญ

รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมเปิดตัวคู่มือประชาชนรับมืออากาศร้อนจัดจากเอลนีโญ 

เกรซ ฟู รัฐมนตรีกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า คู่มือนี้จะเผยแพร่ให้ชาวสิงคโปร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยในคำแนะนำจะระบุถึงการวางแผนกิจกรรมและมาตรการป้องกันที่ต้องดำเนินการหรือแม้แต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่จะสวมใส่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งภายใต้สภาพอากาศอันร้อนระอุ

“เราคาดว่าจะมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากอากาศร้อน” รัฐมนตรีกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์กล่าว

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาสิงคโปร์ระบุว่ามีโอกาสประมาณ 70 เปอร์เซนต์ที่จะเกิดปรากฎการณ์เอลนิโญในปีนี้ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศทั่วโลกร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น 

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สิงโปร์มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์วัดได้ 37 องศาเซลเซียสในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ประสบกับคลื่นความร้อนและอุณหภูมิที่พุ่งสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ อย่างเช่น จีน ลาว ไทยและเวียดนาม 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ว่ามีโอกาส 98 เปอร์เซนต์ที่อย่างน้อยใน 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิจะร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

(ภาพ : Kingdom of the Netherlands in Vietnam)

2. เนเธอร์แลนด์ : แนะเวียดนามปรับตัวตามแนวปฏิบัติสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งออกอียู

กงสุลเนเธอร์แลนด์แนะผู้ส่งออกเวียดนามต้องส่งเสริมพฤติกรรมองค์กรที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั่วโลก เพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

Daniël Stork กงสุลใหญ่เนเธอร์แลนด์กล่าวในการประชุม Việt Nam ESG Investor Conference ในเมือง HCM ว่าสหภาพยุโรปกำลังนำกฎและข้อบังคับใหม่มาใช้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพอากาศ เช่น กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)

“กฎหมายจะบังคับใช้ภายในสหภาพยุโรป แต่ผลกระทบจะขยายออกไปนอกพรมแดนของสหภาพยุโรป แม้กระทั่งเวียดนาม” Stork กล่าว

กลไกดังกล่าวเป็นตัวเปลี่ยนเกมอย่างแท้จริงในวิธีที่บริษัทต่างๆ ดำเนินการตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกซึ่งจะกำหนดกฎด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสำหรับการนำเข้า

สำหรับผู้ส่งออกเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปจะมีแรงจูงใจอย่างมากในการลงทุนใน ESG เพื่อรับอัตราภาษีต่ำและเข้าถึงตลาดได้ง่าย 

ESG มาจากคำว่า Environment Social and Governamce ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาในการลงทุน

ขณะที่ Sirpa Jarvenpaa ผู้อำนวยการของ Southeast Asia Energy Transition Partnership กล่าวว่า กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับสหภาพยุโรปในการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิภายในปี 2593

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาการปล่อยคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าบางรายการไปยังสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของเวียดนาม 

(ภาพ : Xinhua/Li Xiang/EPA)

3. จีน : เริ่มขุด “หลุมลึกที่สุดในโลก” ปักธงศึกษาใต้พิภพ

รัฐบาลจีนได้เริ่มขุดหลุมในแอ่งทะเลทราย Tarim ในเขตซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนด้วยความลึก 11,100 เมตร โดยปล่องแคบนี้จะเจาทะลุชั้นดินมากกว่า 10 ชั้นและเข้าถึงชั้นครีเทเซียสในเปลือกโลกซึ่งเป็นชุดของชั้นหินที่มีอายุย้อนหลังไปถึง 145 ล้านปี

บริษัท China National Petroleum Corporation ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซชั้นนำของประเทศและเป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าวระบุว่า การสำรวจหลุมลึกนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาโครงสร้างภายในและวิวัฒนาการของโลก รวมทั้งให้ข้อมูลสำหรับการวิจัยทางธรณี

โครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 457 วันและได้รับการขนานนามจากสื่อของจีนว่าเป็น “แลนด์มาร์กในการสำรวจใต้พิภพของจีน”

หวัง ชุนเซิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการนี้อธิบายว่า เป็นความพยายามอย่างหาญกล้าที่จะสำรวจดินแดนที่ไม่รู้จักของโลกและขยายขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของประเทศในการสำรวจพรมแดนใหม่ในอวกาศและใต้พื้นผิวโลก ทั้งนี้ในปี 2562 ประธานาธิบดีจีนสี เจิ้นผิงได้เรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศทลายอุปสรรคใหม่ในด้านต่างๆ รวมถึงการสำรวจใต้พิภพอีกด้วย

นอกจากนี้สี เจิ้นผิงยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการจัดหาพลังงานภายในประเทศโดยผลักดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีนค้นหาทรัพยากรธรรมชาติ The Gardian รายงาน

(ภาพ : International Mining)

4. โปรตุเกส : ชาวบ้านกังวลผลกระทบเหมืองลิเธียมยักษ์

ทางการท้องถิ่นใน Covas do Barroso ซึ่งเป็นตำบลเล็กๆ ทางตอนเหนือของโปรตุเกสมีแผนที่จะสร้างเหมืองลิเธียมแห่งใหม่ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งสำรองลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยโครงการนี้จะสกัดลิเธียมสปอดูมีนเข้มข้นซึ่งเป็นหินแข็งที่เป็นที่ต้องการมากสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์

จากการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ พบว่าโปรตุเกสมีปริมาณสำรองลิเธียมใหญ่ที่สุดในยุโรปและใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก 

Dale Ferguson ซีอีโอชั่วคราวของบริษัท Savannah Resources ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าวอธิบายว่า โครงการนี้จะทำให้ Covas do Barroso เป็นเหมืองลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก โดยจะผลิตลิเธียมไฮดรอกไซด์ประมาณ 25,000 ตันซึ่งเพียงพอที่จะสร้างแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ประมาณ 500,000 คันทุกปี 

จากข้อมูลของ Savannah Resources บริษัทได้ใช้เงินหลายล้านยูโรในการทดสอบและวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ใน Covas do Barroso ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนา ทางบริษัทสามารถกำจัดลิเธียมออกจากหินได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ

แม้โครงการดังกล่าวได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในหมู่บ้านเพียง 100 คนและส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าเหมืองลิเธียมจะนำปัญหามากมากมายมาสู่ชีวิตและยังกังวลถึงคุณภาพของน้ำและคุณภาพอากาศอีกด้วย 

เนลสัน โกเมส ประธาน United in Defense of Covas do Barroso Association บอกว่า ทางสมาคมยังไม่เข้าใจวิธีกำจัดมลพิษ แต่ดูเหมือนว่าจะมีการทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายแหล่งน้ำ และทำลายชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ที่นี้ โดยพวกเขาจะเดินหน้าฟ้องร้องในชั้นศาลต่อไป EuroNews รายงาน

(ภาพ : GretaThunberg) 

5. สวีเดน : “หยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ” ครั้งสุดท้ายของเกรต้า

เกรต้า ธันเบิร์ก นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 20 ปีได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์โดยระบุว่า เธอได้จบการศึกษาจากโรงเรียนแล้วและเธอก็ไม่สามารถที่จะหยุดเรียนเพื่อประท้วงได้อีกต่อไป เนื่องจากเธอไม่ใช่นักเรียนแล้ว แต่เธอจะยังเข้าร่วมการประท้วงในวันศุกร์อีกต่อไป

ล่าสุดเธอได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ จัดกิจกรรม “หยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ” เป็นครั้งสุดท้าย โดยยืนประท้วงบริเวณด้านหน้ารัฐสภาของสวีเดนพร้อมกับถือป้ายที่มีข้อความเป็นภาษาสวีเดนและสวมหมวกที่เป็นสัญลักษณ์ของการจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในสวีเดน

ธันเบิร์กได้เริ่มประท้วงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศตั้งแต่เธออายุได้ 15 ปี โดยในปี 2018 เธอได้ยืนถือป้ายที่มีข้อความว่า “ หยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” ที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภาสวีเดนและยืนกรานว่าเธอจะหยุดกิจกรรมดังกล่าวก็ต่อเมื่อนักการเมืองได้เริ่มดำเนินการเท่านั้น

การประท้วงเดี่ยวของธันเบิร์กได้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของคนหนุ่มสาวเพื่อยุติการใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่างๆ ทั่วยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย หรือที่รู้จักในชื่อ Fridays For Future หรือ School Strike for Climate

นอกจากนี้ ธันเบิร์กยังได้ถูกเชิญให้ไปพูดกับผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจที่การประชุมองค์การสหประชาชาติและ World Economic Forum ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เธอถูกยกให้เป็นบุคคลแห่งปีโดยนิตยาสารไทม์ในปี 2019และถูกเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบล

ข้อมูล :

https://twitter.com/gretathunberg/status/1667090110414831620?s=61&t=htXjnEEg48iGePeJqG9JLw

https://apnews.com/article/greta-thunberg-climate-graduation-protests-fridays-c60cec5b666550b9240648227649e91f

https://www.bbc.com/news/science-environment-65858186