“จากวิกฤตสงคราม สู่หายนะภัยด้านนิเวศที่เลวร้ายที่สุด?” เขื่อนแตก ยูเครน

ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเกิดขึ้นบริเวณต้นน้ำ เนื่องจากน้ำกำลังจะระบายออกจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ทำให้น้ำบริเวณต้นน้ำเหือดแห้งและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างมาก ทั้งพืชและสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำมานานถึง 7 ทศวรรษ

กระแสน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลดำอย่างรวดเร็วอาจสร้างความเสียหายต่อการประมงและระบบนิเวศในวงกว้างของพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเล

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวต่อโรงงานนิวเคลียร์ Zaporizhzhia ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและอาจแพร่กระจายสารพิษทั้งจากพืชและปิโตรเคมีลงสู่ทะเลดำ

ขนาดความเสียหายขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาและขอบเขตของความเสียหายต่อสิ่งกีดขวางซึ่งทั้งสองอย่างนี้ยังไม่ทราบข้อมูล แต่อย่างน้อยสุดก็ทำให้เกิดการอพยพประชาชนหลายพันคน และได้ท่วมอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง อีกทั้งยังทำให้แหล่งน้ำกระทบต่อผู้คนนับล้าน

คาดการณ์ล่าสุด หายนะด้านนิเวศจากการแตกของ “เขื่อนโนวา คาคอฟกา” หนึ่งในเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในยูเครนที่เพิ่งแตกด้วยสาเหตุที่ยังไม่สามารถสรุปได้ กลางสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อ 6 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังวันสิ่งแวดล้อมโลก

พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร GreenNews รายงาน

(ภาพ : Defense of Ukraine)

เขื่อนใหญ่แตกในยูเครนอาจเป็นภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด

นักวิทยาศาสตร์ยูเครนเตรียมประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมหลังจากเกิดเหตุการณ์เขื่อนขนาดใหญ่โนวา คาคอฟกาในภูมิภาคเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครนแตกเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน 25 แห่งส่งผลให้ประชาชนราว 17,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ขณะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติยูเครนประกาศว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนในปี 2529

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างกังวลถึงสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยของตัวเองจากเหตุการณ์ครั้งนี้

“สิ่งมีชีวิต รวมทั้งผู้คนที่อยู่ที่นี่จะถูกน้ำท่วม ทั้งหมดกำลังจะตาย” Serhiy ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองเคอร์ซอนซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนประมาณ 50 ไมล์กล่าวพร้อมกับชี้ไปยังบ้านหลายหลังและสวนหลายแห่งที่จมอยู่ใต้น้ำในละแวกใกล้ๆ

Lyudmyla ชาวเมืองเคอร์ซอนอีกรายบอกว่า เธอกลัวน้ำท่วมและกำลังขนส่ิงของขึ้นไปอยู่บนที่สูง ส่วน Andriy ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับเขื่อนบอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะรัสเซียต้องการจมเมืองของพวกเขา

“จุดยุทธศาสตร์สำคัญ” กระจายไฟฟ้า-แหล่งน้ำในพื้นที่ขัดแย้ง

เขื่อนโนวา คาคอฟกา เป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกาในแคว้นเคอร์ซอน ซึ่งเป็นดินแดนของยูเครนแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย 

เขื่อนนี้ถูกสร้างขึ้นที่แม่น้ำดนิโปรในปี 2499 ในสมัยสหภาพโซเวียต มีความสูง 30 เมตร ยาว 3.2 กิโลเมตร โดยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำห่างออกไปประมาณ 70 กิโลเมตรอยู่ทางตะวันออกของเมืองเคอร์ซอนซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งที่รัสเซียอ้างว่าได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแต่ยังไม่ได้ควบคุมเต็มที่

เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าแล้ว เขื่อนแห่งนี้จะช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้า ชลประทานและน้ำดื่มให้กับพื้นที่กว้างขวางทางตอนใต้ของยูเครน รวมถึงคาบสมุทรไครเมียซึ่งถูกรัสเซียยึดครองอย่างผิดกฎหมายในปี 2557

พื้นที่ทางการเกษตรอันกว้างใหญ่ของยูเครนซึ่งบางส่วนหล่อเลี้ยงโดยแม่น้ำดนีโปรมีความสำคัญต่อแหล่งธัญพืชทั่วโลก รวมทั้งน้ำมันดอกทานตะวันและอาหารต่าๆ โดยราคาข้าวสาลีและข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเนื่องจากมีความกังวลว่าการผลิตอาจหยุดชะงัก 

เขื่อนแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากความจุของอ่างเก็บน้ำและที่สำคัญน้ำในแม่น้ำยังถูกจัดส่งไปเลี้ยงระบบหล่อเย็นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Zaporizhzhia อีกด้วยซึ่งการสู้รบในครั้งนี้ได้สร้างความหวาดกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง 

“ยังไม่สรุป” สาเหตุเขื่อนแตก

สาเหตุการแตกของเขื่อนในครั้งนี้ยังไม่แน่ชัดซึ่งทั้งยูเครนและรัสเซียต่างกล่าวหากันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ยูเครนระบุว่ารัสเซียจงใจระเบิดเขื่อนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าร่วมกัน ขณะที่รัสเชียกล่าวหาว่ายูเครนได้โจมตีและต้องการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการตอบโต้ของรัสเซียที่ไม่ประสบผลสำเร็จและต้องการตัดการส่งน้ำไปยังไครเมีย 

ขณะเดียวกันก็มีข้อสันนิษฐานจากหน้าที่ที่รัสเซียแต่งตั้งเข้ามาดูแลพื้นที่ว่าเขื่อนอาจถล่มลงมาเอง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด 

ส่วนทางการสหรัฐระบุว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าฝ่ายใดอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ด้านผู้ช่วยผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติระบุว่า ข้อสันนิษฐานที่ชี้ว่ายูเครนระเบิดเขื่อนตัวองไม่ค่อยสมเหตุสมผล

ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากเยอรมนีบอกว่าไม่มีทางที่จะซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเขื่อนได้เลย เนื่องจากปริมาณน้ำมหาศาลที่ไหลทะลักออกมาจากเขื่อนในขณะนี้

“หายนะทางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุด”ยูเครนประกาศ

(ภาพ : vanek_nikolaev)

แม้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุการแตกของเขื่อน แต่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมต่างมีความกังวลและส่งสัญญาณเตือนถึงหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าและระบบนิเวศในยูเครน และพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ 

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ได้เรียกประชุมฉุกเฉินสภาความมั่นคง หลังจากเหตุการณ์เขื่อนแตก พร้อมกับบอกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระเบิดทางสิ่งแวดล้อมที่การทำลายล้างสูง ขณะที่พนักงานอัยการของยูเครนกำลังสืบสวนถึงความเป็นไปได้ของกรณีที่เรียกว่า อีโคไซด์ (ecocide) หรือการทำลายสิ่งแวดล้อมแบบล้างผลาญ (ซึ่งกำลังมีการผลักดันโดยกลุ่มนักกฎหมายให้เป็น “อาชญากรรมข้ามชาติ” อีกรูปแบบ)

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติยูเครน Ostap Semerak กล่าวว่า ในความเห็นของเขา เหตุการณ์นี้เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดจากการแตกของเขื่อน แต่สิ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอีกกี่วันข้างหน้าคือน้ำจะท่วมมือง ปั๊มน้ำมันและฟาร์ม อีกทั้งจะปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีทางการเกษตรและน้ำมันก็จะไหลลงสู่ทะเลดำซึ่งจะกระทบไปหมดทั้งภูมิภาครวมทั้งประเทศโรมาเนีย จอร์เจีย ตุรกีและบัลแกเรีย

“รัฐบาลเราได้ประกาศว่าเหตุการณ์นี้เป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในรอบ 10 ปีและผมคิดว่าอาจจะเลวร้ายที่สุดในยูเครนตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิลในปี 1986” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติยูเครนกล่าว

ขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวเพิ่มเติมว่าห้องกังหันของโรงไฟฟ้าพลังน้ำจมอยู่ใต้น้ำแล้วและน้ำมันหล่อลื่นกว่า 150 ตันก็รั่วไหลปนเปื้อนสู่แม่น้ำดนิโปร์

รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี Annalena Baerbock กล่าวโทษการรุกรานยูเครนของรัสเซียว่าเป็นสาเหตุของการล่มสลายและบรรยายการระเบิดนี้ว่าเป็น “ หายนะทางสิ่งแวดล้อม”

(ภาพเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2566 : Maxar Tech/Planet Labs PBC)
(ภาพเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 : Maxar Tech/Planet Labs PBC)

หวั่นพื้นที่ต้นน้ำได้รับผลกระทบหนัก

Mark Muligan ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและสิ่งแวดล้อมที่วิทยาลัยคิงคอลเลจลอนดอนและหัวหน้าร่วม Global Dam Watch ซึ่งเป็นโครงการที่ติดตามเขื่อนและอ่างเก็บน้ำกล่าวว่า ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเกิดขึ้นบริเวณต้นน้ำ เนื่องจากน้ำกำลังจะระบายออกจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ทำให้น้ำบริเวณต้นน้ำเหือดแห้งและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างมาก ทั้งพืชและสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำมานานถึง 7 ทศวรรษ อีกทั้งกระแสน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลดำอย่างรวดเร็วอาจสร้างความเสียหายต่อการประมงและระบบนิเวศในวงกว้างของพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเล

ทั้งนี้นักวิเคราะห์บอกว่า ขนาดความเสียหายขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาและขอบเขตของความเสียหายต่อสิ่งกีดขวางซึ่งทั้งสองอย่างนี้ยังไม่ทราบข้อมูล แต่อย่างน้อยสุดก็ทำให้เกิดการอพยพประชาชนหลายพันคน และได้ท่วมอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง อีกทั้งยังทำให้แหล่งน้ำกระทบต่อผู้คนนับล้าน 

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวต่อโรงงานนิวเคลียร์ Zaporizhzhia ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและอาจแพร่กระจายสารพิษทั้งจากพืชและปิโตรเคมีลงสู่ทะเลดำ 

Olena Kravchenko ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมยูเครนกล่าวว่า การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงของรัสเซียเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อพื้นที่ปากแม่น้ำและท้ายน้ำของแม่น้ำดนิโปรและระบบนิเวศในพื้นที่ชายฝั่งของทะเลดำ

Kravchenko บอกว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นว่ามีบ้านนับร้อยหลังจมอยู่ใต้น้ำซึ่งจะทำให้แม่น้ำปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอันตรายและเศษซากต่างๆ ขณะที่แหล่งน้ำสะอาดอาจลดลงหรือถูกตัดขาดในหลายเมือง รวมทั้งเมืองเคอร์ซอนด้วย

ทั้งนี้อาจจะเห็นสัตว์น้ำหลายชนิดตายจำนวนมากรวมทั้งปลาและหอย และอาจทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หยุดชะงักอีกด้วย รวมทั้งผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับอุทยานแห่งชาติที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศหลายแห่ง และเขตสงวนชีวฆณฑลทะเลดำซึ่งประกาศโดยยูเนสโกและอุทยานภูมิทัศน์ภูมิภาค Kinburn Spit

นอกจากนี้ทุ่นระเบิดอาจจะถูกเคลื่อนย้ายและปกคลุมไปด้วยตะกอนซึ่งจะทำให้การค้นหาและเก็บกู้เป็นไปได้ยากขึ้น

รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมยูเครน Ruslan Strilets บอกว่าสัตว์ป่าหายากที่อยู่พื้นที่ใต้น้ำซึ่งไม่พบที่ไหนในโลกตกอยู่ในโลกอย่างเช่นตุ่นหนู (sandy blind mole-rat) ก็ตกอยู่ในอันตราย 

กระทรวงกลาโหมของยูเครนรายงานผ่านทวิตเตอร์ว่ามีสัตว์ตายกว่า 300 ตัวที่สวนสัตว์โนวา คาคอฟกาและถือว่าเป็นอีโคไซด์ที่เกิดจากการทำลายเขื่อนซึ่งรัสเซียต้องการทำลายทุกชีวิต

(ภาพ : Defense of Ukraine)

Denys Tsutsaiev จากกรีนพีซประจำภูมิภาคยุโรปตอนกลางและตะวันออกกล่าวว่า การทำลายเขื่อนที่เกิดจากกองทัพของรัสเซียได้ทำให้พลเรือนหลายพันชีวิตและธรรมชาติตกอยู่ในอันตรายอีกครั้ง นับเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่มาก แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบและยากที่จะเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เนื่องจากเรายังไม่รู้เลยว่าเขื่อนเสียหายมากน้อยแค่ไหน

แหล่งข้อมูล : 

https://www.theguardian.com/world/2023/jun/06/dam-breach-could-be-ukraines-worst-ecological-disaster-since-chornobyl

https://www.bbc.com/news/world-europe-65819591

https://apnews.com/article/kakhovka-dam-ukraine-russia-war-whats-at-stake-a417dafefa79462bef5e4e63c0a94c8c?utm_campaign=TrueAnthem&utm_medium=AP&utm_source=Twitter

https://edition.cnn.com/2023/06/07/europe/ukraine-nova-kakhovka-dam-environment-damage-intl-hnk/index.html

https://www.thaipbs.or.th/news/content/328554

https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/ecocide/