ไซโคลนโมคา “สภาวะอากาศสุดขั้ว-ผลพวงโลกร้อน?” นักวิทยาศาสตร์ตอบ

นักวิทยาศาสตร์เร่งศึกษาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหาความเชื่อมโยงส่งผลให้เกิดพายุไซโคลนโมคา จนมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 5 ล้านคนในเมียนมา

พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร GreenNews รายงาน

(ภาพ : องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก)

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ประกาศผ่านเว็บไซต์โดยระบุว่าพายุไซโคลนโมคาที่รุนแรงได้พัดขึ้นฝั่งในประเทศเมียนมาใกล้กับชายแดนของประเทศบังคลาเทศด้วยความเร็วลมที่ 180 – 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดลมกระโชกแรง ฝนตกหนักต่อเนื่องและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ซึ่งทำให้ประเทศบังคลาเทศและเมียนมาได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคาเนื่องจากทั้งสองประเทศมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่ม 

(ภาพ : สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ)

ล่าสุดสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศเมียนมา (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs : OCHA Myanmar) เปิดเผยในแถลงการณ์ว่าจำนวนผู้ที่ได้รับกระทบจากพายุไซโคลนโมคาในเมียนมาอาจมากถึง 5.4 ล้านคน โดยส่วนมากเป็นผู้ที่อยู่อาศัยตามแนวพายุพัดผ่านในพื้นที่รัฐยะไข่และตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา

ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมมากถึง 3.2 ล้านคนเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ รวมทั้งโรงพยาบาล ธนาคาร อาคารทางศาสนาต่างได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนโมคา

(ภาพ : สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ)

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศเมียนมาเปิดเผยอีกว่าพื้นที่ในรัฐยะไข่ห์ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคาในเมียนมาได้แก่เมือง Sittwe, Pauktaw, Yathedaung, Maungdaw, Ponnakyun และ Kyauktaw ขณะเดียวกันองค์กรทางด้านมนุษยธรรมต่างเร่งสำรวจความช่วยเหลือที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ได้รับกระทบในพื้นที่ดังกล่าว

(ภาพ : สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ)

นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนชาวเมียนมากว่า 100,000 รายในเมือง Magway และ Sagaing ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักเนื่องจากฝนตกหนักและน้ำท่วมหลังจากพายุไซโคลนโมคาได้เคลื่อนที่ขึ้นฝั่งและกลายเป็นพายุดีเปรสชั่นที่รุนแรง

นักวิทยาศาสตร์เร่งหาคำตอบเหตุพายุรุนแรง 

ผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคาที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งในประเทศเมียนมาและบังคลาเทศ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างเร่งหาคำตอบว่า การก่อตัวและความรุนแรงของพายุไซโคลนโมคามีส่วนสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์หรือไม่ อย่างไรบ้าง เนื่องจากในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนพายุหมุนในเขตโซนร้อนมีความแข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นทำให้หลายประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบ โดยงานวิจัยล่าสุดคาดการณ์ว่าพลังทำลายล้างของพายุอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในสิ้นศตวรรษนี้

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่เชื่อมโยงภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์กับพายุไซโคลนที่มีศักยภาพและพลังทำลายล้างมากขึ้น

อุณหภูมิน้ำทะเลยิ่งสูง ยิ่งเพิ่มความรุนแรงของพายุ

สำหรับพายุหมุนเขตร้อนนั้นดูดความร้อนในมหาสมุทรต้องใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 27 องศาเซลเซียสเพื่อก่อตัวและยิ่งมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ความชื้นก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยอุณหภูมิน้ำทะเลในอ่างเบงกอลปัจจุบันอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดเดือน พ.ค. ถึง 2 องศาเซลเซียส

ในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศก็ทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกได้ประมาณ 90% ซึ่งเป็นสภาวะเหมาะสมสำหรับพายุไซโคลนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ 

งานวิจัยล่าสุดยังระบุว่า มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นยังเพิ่มโอกาสให้พายุทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มความเสี่ยงและทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งจากพายุไซโคลน อีกทั้งยังทำให้พายุเคลื่อนตัวบนฝั่งได้ไกลขึ้นกว่าเดิม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้พายุในอ่าวเบงกอลทวีความรุนแรง

ร็อกซี่ แมทธิว คอลล์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศประจำสถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อน ในเมืองปูเน ประเทศอินเดีย บอกว่า พายุไซโคลนในอ่าวเบงกอลนั้นกำลังรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้พายุไซโคลนสามารถรักษากำลังไว้ได้หลายวัน อย่างเช่น พายุไซโคลนอำพันในอินเดียตะวันออกซึ่งเกิดขึ้นในปี 2563 ที่สามารถเคลื่อนตัวบนฝั่งและก่อผลกระทบในวงกว้าง

“ตราบใดที่มหาสมุทรอุ่นขึ้นและลมเอื้ออำนวย พายุไซโคลนก็จะก่อตัวได้นานขึ้น” คอลล์กล่าว

พายุหมุนเขตร้อนหรือที่เรียกกันว่าพายุเฮอริเคนหรือพายุไต้ฝุ่นขึ้นอยู่แต่ละภูมิภาคเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในโลกเมื่อเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง

เมื่อปี 2551 พายุไซโคลนนาร์กิสได้พัดคลื่นพายุถล่มเมียนมาและส่งผลกระทบต่อพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 138,000 รายและมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายนับหมื่นหลัง

พายุไซโคลนโมคาแรงสุดเท่าที่มีการบันทึกในมหาสมุทรอินเดีย

ด้านเจฟฟ์ มาสเตอร์ส นักอุตุนิยมวิทยาที่ Yale Climate Connections ระบุว่าพายุไซโคลนโมคามีกำลังลมสูงสุด 281 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและกลายเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมาในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ หลังจากพายุไซโคลนฟานิในปี 2562

พายุไซโคลนโมคาเป็นพายุลูกที่สี่ที่มีความรุนแรงระดับ 5 ควบคู่ไปกับพายุที่เกิดขึ้นในซีกโลกใต้อีกสามลูกได้แก่ พายุอิสลาในออสเตรเลียตะวันตกเฉียงเหนือ พายุเควินในตะวันออกเฉียงใต้ของวานูอาตูในแปซิฟิกใต้และพายุเฟรดดี้ในมาดากัสการ์ 

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวทะเลทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกด้วยดาวเทียมโดยทำลายสถิติในปี 2559 ซึ่งอุณหภูมิพื้นผิวทะเลวัดได้ 21 องศาเซลเซียส ทั้งนี้อุณหภูมิในช่วงต้นเดือนมีนาคมจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเกือบสองในสิบขององศาเซลเซียส และเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นลำดับที่สี่ในประวัติการณ์

กรมอุตุนิยมวิทยาไทยชี้พายุไซโคลนโมคาเป็นสภาพอากาศสุดขั้ว 

ขณะที่ สมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวกับกรีนนิวส์ว่า ถ้ามองระยะสั้นอาจมองไม่ชัดเจนว่าการก่อตัวและความรุนแรงของพายุไซโคลนโมคามีส่วนสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ เนื่องจากจะต้องมีดัชนีชี้วัดที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เบื้องต้นเห็นแล้วว่ามีความเกี่ยวข้องกันจริงๆ” สมควรกล่าวและอธิบายว่าปกติพายุในทะเลอันดามันเองจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ในช่วงที่เข้าสู่ฤดูร้อน แต่ในปีนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลในทะเลอันดามัน มีบางพื้นที่ยังมีอุณหภูมิที่สูงอยู่เลยทำให้การเตรียมตัวของอากาศค่อนข้างจะดีตั้งแต่เข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งยังไม่ปรากฎหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือมีพายุไซโคลนเกิดขึ้น จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูถึงมีพายุเกิดขึ้น แต่พอมีพายุเกิดขึ้นและมีกำลังแรง โดยปกติเมื่อเป็นพายุไซโคลนพอเข้าใกล้ฝั่งก็มีกำลังเบาลง แต่เมื่อเทียบกับพายุนาร์กิสเมื่อถึงฝั่งพายุก็มีความรุนแรงซึ่งเป็นช่วงเดียวกันซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 

แต่สิ่งที่ผิดปกติไปก็คือก่อนที่จะเกิดพายุจะต้องมีสิ่งก่อกวนในทะเล อย่างเช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงอย่างต่อเนื่อง มีหย่อมความกดอากาศเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ขณะที่อุณหภูมิน้ำทะเลก็ร้อนอยู่แล้วและค่อยแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภาวะปกติ  แต่สำหรับการก่อตัวของพายุโมคากลับไม่มีสัญญาณของพายุรุนแรงแล้วพัฒนาตัวเป็นระดับซุปเปอร์ไซโครนที่รุนแรงมากซึ่งยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ 

“เวลาขึ้นฝั่งมาก็ยังตกใจ ซึ่งจริงๆ บ้านเราก็ควรได้รับอานิสงค์ด้วย อย่างเช่น มีฝน มีเมฆเข้ามา อย่างระดับพายุไซโครน แม้รุนแรงขนาดนี้ การปาดรัศมีของพายุเองก็ต้องอย่างน้อย 300 – 400 กิโลเมตรก็ต้องมาถึงแถวแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ตากได้ แต่นี่กลับขึ้นฝั่งแล้วหายไปเลย หายไปแบบว่าเร็วมาก ภายใน 6 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง แล้วกลายเป็นพายุดีเปรสชั่นธรรมดาและหย่อมความกดอากาศต่ำอย่างเร็วเลย” สมควรกล่าว 

ปกติในช่วงนี้จะมีมวลอากาศเย็นทางด้านจีนลงมา แต่ว่าในปีนี้ไม่แรง และพอเข้ามาใกล้ๆ กับแนวพายุ ปรากฎว่าถูกดูดกลืนหายไปเลยซึ่งแสดงว่าตัวแปรอื่นก็เปลี่ยนด้วย แม้มวลอากาศเย็นยังคงอยู่ก็เลยทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนไปด้วย สมควรบอกว่าเป็นข้อสังเกตุ กำลังดูอยู่ว่ามีอะไรที่สอดคล้องหรือสัมพันธ์กับภูมิอากาศซึ่งเป็นการมองจากข้อมูลเบื้องต้น

“ยังไม่ฟันธงสักทีเดียวว่ามันเปลี่ยนแปลงไหม เพราะว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน (ฤดู) ซึ่งมักจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้อยู่ประจำอยู่แล้ว แต่ว่าระดับความรุนแรง เป็นเอ็กซ์ตรีมไหม มันมากกว่าปกติที่เคยมีไหมย้อนหลังไป 10 ปี 20 ปี ก็ต้องวิเคราะห์กันอีก” ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศกล่าว

ในส่วนของพายุโมคา สมควรบอกว่า ส่วนตัวคิดว่าเป็นสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) แต่ไม่ถึงระดับไซโครน ถึงแม้จะเข้าใกล้ฝั่งแล้วแต่ยังมีความแรงอยู่ อาจจะเป็นเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลที่เหมาะสม อุณหภูมิที่อากาศร้อนต่อเนื่องทางอินเดียซึ่งมีผลให้บริเวณใกล้แนวพายุมีอากาศร้อนและทำให้น้ำทะเลอุ่นมาก จนระดับความรุนแรงของพายุมันมากผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ค่อนข้างผิดปกติ เพราะปกติเวลาพายุพัดขึ้นฝั่งใกล้ๆ แถวบังคาลาเทศเลย มาอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมาก็เบาแล้วเพราะมีเทือกเขาสูงทำให้พายุพัดอยู่ในแอ่งไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ เหมือนถูกกดจากด้านบนไว้ แต่พอขึ้นฝั่งได้ก็ถูกกลืนเลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สภาพอากาศเปลี่ยนไป

“ปกติถ้าหน้านี้แล้ว มวลอากาศเย็นจะไม่ค่อยมาหรือมาแต่ไม่ได้ลงมาลึก จะอยู่แถวๆ เวียดนามตอนบนหรือจีนตอนใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน” สมควรกล่าว

ในส่วนการเฝ้าระวังสถานการณนั้น สมควรบอกว่าถ้าเป็นเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็จะเฝ้าระวังตั้งแต่เริ่มมีพัฒนาการของพายุซึ่งต้องติดตาม ปัจจัยแวดล้อมสำคัญ การก่อตัวพายุแต่ละตัวมีผลทั้งหมดเลย ถ้าปัจจัยแวดล้อมไม่ได้สนับสนุนหรือเอื้อมันก็ไม่แรง ต้องมานั่งดูว่าเวลาเกิดเหตุการณ์อาจจะต้องมองหลายๆ ด้าน ทั้งด้านผลกระทบ ด้านความแรงของพายุ พื้นที่เสี่ยงภัยที่จะเกิดพายุ ที่สำคัญคือเรื่องของทิศทางต้องชัดเจน ซึ่งตอนนี้ถือว่าการคาดการณ์ค่อนข้างถูกต้อง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศมองพายุโมคาถือเป็นเหตุการณ์ปกติ 

ขณะที่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากงานวิจัยของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในนัยยะของพายุที่มีความรุนแรง พายุที่เป็นไต้ฝุ่นจะกลายเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น หมายความว่าที่รุนแรงจะรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบกับพายุที่เบา ในส่วนพายุที่เป็นพายุดีเปรสชั่นหรือพายุโซนร้อนยังไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าเป็นไต้ฝุ่นก็พร้อมที่จะเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น 

นอกจากนี้จำนวนรวมพายุที่เกิดขึ้นก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ปัจจุบันจำนวนพายุเฉลี่ยต่อปีมีประมาณ 26 ลูก แต่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงในประเภทของพายุ ยกตัวอย่างเช่น พายุไต้ฝุ่นก็จะกลายเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นมากขึ้น หรืออย่าง พายุมาวาร์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็มาจากสองปัจจัยหลักๆ ได้แก่ อุณหภูมิของน้ำทะเลที่ร้อนมากประมาณ 29 – 30 องศา โดยเมื่อพายุยกระดับสูงขึ้น ความเร็วลมจะแรงขึ้นและต่างกันอย่างมหาศาลซึ่งมันจะไม่ค่อยเกิด แต่จะราบรื่นมากขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งลมหมุนอย่างราบรื่นมากเท่าไหร่และความร้อนเพิ่มขึ้นก็ยิ่งทำให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวของพายุ ซึ่งสองปัจจัยนี้ทำให้ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นเกิดขึ้นได้

ในส่วนของพายุโมคาที่เกิดขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้ผิดปกติ เป็นเพียงแต่ว่าที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุนาร์กิส แต่เนื่องจากว่ามนุษย์ไม่ได้มีการเตรียมตัว รู้อยู่แล้วว่าพายุนาร์กิสมีความรุนแรงแค่ไหนซึ่งในขณะนั้นคลื่นพายุซัดฝั่งมีความสูงประมาณ 5 เมตร แต่ครั้งนี้ความสูงของคลื่นพายุซัดฝั่งวัดได้ประมาณ 3 เมตร แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เตรียมตัว อีกทั้งยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีความเสียหายเป็นเรื่องปกติ 

คาดพายุปีนี้ 29 ลูก

“ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดพายุประมาณ 29 ลูก (มากกว่าปกติ 3 ลูก) แต่เนื่องจากเป็นปีเอล นิญโญ (El Nino) พายุจึงมักมีอายุยาว กล่าวคือมีจุดกำเนิดและเดินทางไกล ดังนั้นความแปรปรวนระหว่างทางจึงทำให้ไม่ค่อยเข้ามาทางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียนงใต้ (แต่ก็อาจจะมีบางลูกเข้ามาได้) ดังนั้นจึงควรเร่งเก็บน้ำไว้ตอนต้นๆ ฝน และติดตามสถานการณ์ต่อไป” ดร.เสรี กล่าวผ่านเฟสบุ๊ก

(ภาพ : องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก)

ข้อมูล :

https://public.wmo.int/en/media/news/extremely-severe-cyclonic-storm-mocha-hits-myanmar-bangladesh

https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/feart.2021.769005/full?utm_source=fweb&utm_medium=nblog&utm_campaign=ba-sci-feart-changing-impacts-tropical-cyclones-east-and-southeast-Asian-inland-regions-in-the-past-and-globally-warmed-future-climate

https://edition.cnn.com/2023/05/13/asia/cyclone-mocha-aid-agencies-myanmar-bangladesh-climate-intl-hnk/index.html

https://www.euronews.com/green/2023/05/16/cyclone-mocha-how-many-were-killed-in-myanmar-and-bangladesh-and-is-climate-change-to-blam

https://earth.org/cyclone-mocha/

https://elevenmyanmar.com/news/number-of-people-affected-by-cyclone-mocha-in-myanmar-could-be-over-five-million-un

https://www.irrawaddy.com/news/burma/cyclone-mocha-dead-refused-evacuation-myanmar-junta-boss.html