ถอดบทเรียน “ไซโคลนโมคา” ระบบเตือนภัยล่วงหน้า กุญแจสำคัญ

พายุไซโคลนโมคาซึ่งนับว่าเป็นพายุรุนแรงระดับ 5 ได้พัดขึ้นฝั่งบริเวณชายฝั่งตะวันตกในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 5 ล้านคนและอาคารบ้านเรือน สาธารณูปโภคต่างๆ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติอันรุนแรงเช่นนี้ การเตือนภัยล่วงหน้ามีบทบาทสำคัญมากที่ช่วยให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมจัดเตรียมแผนและส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยตามพื้นที่ต่างๆ ได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงการรับมือกับภัยธรรมชาติอันรุนแรงนี้ของรัฐบาลทหารเมียนมาภายใต้การนำของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ว่าสามารถช่วยเหลือเหยื่อวาตภัยร้ายแรงนี้ได้ทันท่วงทีอย่างไรบ้าง ทำไมยังมีผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออยู่จำนวนมาก

พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร GreenNews รายงาน

(ภาพ : Red Cross Red Crescent Climate Centre)

ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่แม่นยำช่วยชีวิตผู้คนนับล้าน

การเตือนภัยล่วงหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมที่ดีโดยหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่างๆ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผู้คนนับหมื่นชีวิตให้รอดจากพายุไซโคลนอันรุนแรงที่ถล่มบังคลาเทศและเมียนมาเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

Azizur Rahman อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศบังคลาเทศ กล่าวว่า ระบบเตือนล่วงหน้าและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีทำให้ทางการสามารถอพยพผู้คนไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยได้ทันเวลา 

โดยหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของอินเดียและกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียสามารถตรวจเจอการก่อตัวของพายุได้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.และหลังจากนั้นก็เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียนับว่าเป็นหน่วยงานชั้นนำในการติดตามสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ โดยติดตามพายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือตั้งแต่ชายฝั่งทะเลของประเทศโอมานไปจนถึงประเทศเมียนมา 

ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียได้พัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามพายุและปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในระบบการพยากรณ์สภาพอากาศสุดขั้วและพายุไซโคลนที่แม่นยำที่สุด

“เมื่อครั้งตอนที่พายุไซโคลนนาร์กิสซึ่งมีความรุนแรงเช่นเดียวกับพายุไซโคลนโมคาได้ถล่มเมียนมาเมื่อปี 2551 และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 138,000 ราย เราได้พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อที่จะส่งต่อข้อมูลที่เราได้รวบรวมและวิเคราะห์มาให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามแนวชายฝั่งที่คาดว่าจะโดนพายุถล่ม” Mrutyunjay Mohapatra อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศอินเดียกล่าวและว่าทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยแพร่ข้อมูลที่อัพเดตเกี่ยวกับพายุไซโคลนทุกๆ สามชั่วโมงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่รายงานจากกรมอุตินิยมวิทยา ประเทศเมียนมา ระบุว่า พายุไซโคลนโมคาได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองชิตตเว รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาโดยมีความเร็วลม 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศอินเดียก็สามารถคาดการณ์พื้นที่และช่วงเวลาที่พายุไซโคลนโมคาจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งได้เหมือนกัน

“เราสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 4 วันซึ่งทำให้หน่วยงานต่างๆ มีเวลามากพอที่จะอพยพชุมชนตามแนวชายฝั่งไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศอินเดียกล่าว

ทั้งนี้การปรับปรุงวิธีการเตือนประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในเอเชียใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

(ภาพ : Red Cross Red Crescent Climate Centre)

องค์กรมนุษยธรรมเตรียมแผนช่วยเหลือได้ทันเวลา

(Myanmar Red Cross)

ขณะที่ศูนย์สภาพภูมิอากาศ สภาเสี้ยงวงเดือนแดงระบุว่า การพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้าที่แม่นยำทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งการเตือนภัยในระดับท้องถิ่น มีส่วนช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสามารถดำเนินการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที

Nadia Khoury หัวหน้าสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ประจำเมียนมา (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies: IFRC) กล่าวว่า อาสาสมัครกว่า 700 คนในรัฐยะไข่และแคว้นอิรวดีต่างช่วยกันกระจายข้อความเตือนภัยเพื่อช่วยเหลือชุมชนในการเตรียมความพร้อมและการอพยพ 

ด้าน Petteri Taalas เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาทั้งบังคลาเทศและเมียนมาต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากยอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเหตุการณ์พายุ แต่ปัจจุบันระบบการภัยเตือนล่วงหน้าและการจัดการภัยพิบัติได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภัยพิบัติเหล่านี้จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่คําเตือนล่วงหน้าได้ช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมาก

ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า ในระหว่างปี 2513 – 2564 มีเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและน้ำราว 11,778 เหตุการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคนและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 4.3 ล้านล้านดอลลาร์

“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ชุมชนเปราะบางมากที่สุดต้องมาเผชิญอันตรายจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศและอุทกภัยที่รุนแรง”เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าว 

นอกจากนี้รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยังพบว่า กว่า 90 เปอร์เซนต์ของรายงานผู้เสียชีวิตทั่วโลกเนื่องจากภัยพิบัติในช่วงระยะเวลา 51 ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา 

 

ยูเอ็นเตรียมติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก

ทั้งนี้การปรับปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการจัดการการประสานงานภัยพิบัติมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างมาก โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเตรียมงบประมาณเป็นจำนวน 3 พันล้านเหรียญสำหรับการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ยังไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า ขณะที่องค์การสหประชาชาติก็ได้เริ่มแผนเพื่อให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าครอบคลุมในทุกประเทศมากที่สุดภายในสิ้นปี 2570

รัฐบาลเมียนมาประกาศระงับความช่วยเหลือในบางชุมชน

อย่างไรก็ตามแม้หลายหน่วยงานได้เตรียมแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่หลังจากได้รับคำเตือนภัยพายุล่วงหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ แต่ยังต้องเผชิญอุปสรรคที่สำคัญหลังรัฐบาลทหารเมียนมาได้ระงับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในบางชุมชนที่ตั้งอยู่ในทางตะวันตกของรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พายุไซโคลนโมคาได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งกระทบกับความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของประเทศ

มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า มีความเสียหายและผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลนโมคาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากทางการเมียนมาได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับพายุดังกล่าวเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังปฏิเสธความช่วยเหลือจากองค์กรมนุษยธรรมนานาชาติที่จะส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์มาช่วยเหลือ

ยูเอ็นกดดันเมียนมาเปิดทางส่งต่อความช่วยเหลือ

ล่าสุด Volker Turk ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเปิดทางให้ความช่วยเหลือต่างๆ ส่งต่อไปยังประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด รวมทั้งอนุญาตให้การประเมินความเสียหายต่างๆ ได้ดำเนินการต่อไป

“ทั้งความเสียหายและการสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งสองอย่างนี้คาดการณ์ได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการปฏิเสธทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ” Turk กล่าวในงานแถลงข่าวที่เจนีวา

“มีความจำเป็นที่กองทัพจะต้องยกเลิกการห้ามเดินทางและอนุญาตให้มีการประเมินความจำเป็นและรับประกันการเข้าถึงและส่งมอบความช่วยเหลือต่างๆ” Turk กล่าวย้ำ

Ramanathan Balakrishnan เจ้าหน้าที่สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศเมียนมา กล่าวว่าแม้ว่าขณะนี้มีผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วนับพันคน แต่ก็หวังว่าทางการเมียนมาจะอนุญาตให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตามแผนงานส่งมอบความช่วยเหลือเป็นระยะเวลาสองอาทิตย์อีกครั้ง 

วอนสนับสนุนเงินทุนช่วยผู้ประสบภัยเมียนมา

ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติก็เรียกร้องให้มีการสนับสนุนเงินทุนจำนวน 333 ล้านเหรียญดอลลาร์เพื่อช่วยผู้ที่ได้รับกระทบจากพายุไซโคลนในเมียนมาซึ่งมีมากถึง 1.6 ล้านคนที่มาแสดงตัวเพื่อขอรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียบ้าน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล น้ำดื่มที่สะอาด อาหารที่ปลอดภัย ขาดอาหาร หรือแม้แต่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ไร้รัฐ ทั้งผู้หญิง เด็กและผู้พิการ

(ภาพ : กระทรวงการต่างประเทศ)

ไทยเร่งช่วยเหลือส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้เมียนมา

สำหรับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้ประสบภัยในเมียนมานั้น หลายประเทศต่างเร่งให้ความช่วยเหลือและจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานพิธีมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนเมียนมา ผ่านนายชิซเว (U Chit Swe) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล 

ความช่วยเหลือในครั้งนี้ประกอบด้วยสิ่งของบรรเทาทุกข์ เช่น อาหาร และสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิตต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย โดยดำเนินการผ่านหลายช่องทาง ทั้งในระดับทวิภาคีโดยความร่วมมืออย่างแข็งขันของภาครัฐและเอกชน และในกรอบอาเซียน โดยไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความต้องการของฝ่ายเมียนมา

พิธาเผยนโยบายต่อเมียนมาโฟกัสที่ความมั่นคงของมุนษย์ -มนุษยธรรม-เศรษฐกิจ

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวีตข้อความทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมาแสดงความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยชาวเมียนมาจากเหตุพายุไซโคลนโมคา โดยระบุว่า 

“ผมขอแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนชาวเมียนมา โดยเฉพาะผู้เสียชีวิต รวมถึงครอบครัวและครัวเรือนทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนโมคา

ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของไทยและประชาคมระหว่างประเทศ เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลน โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน โดยสิ่งนี้สอดคล้องกับนโยบายด้านการต่างประเทศใหม่ของผมในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี

นโยบายของผมที่มีต่อเมียนมาจะเกี่ยวพันกับทุกฝ่าย โดยมุ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมุนษย์ รวมถึงด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะได้รับการนำไปใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการมีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสำหรับประเทศไทย เมียนมา อาเซียน และประชาคมโลก”

ข้อมูล :

https://apnews.com/article/cyclone-mocha-preparedness-refugees-myanmar-bangladesh-6d7bacaf38171461436826a9757e2233

https://www.climatecentre.org/10269/cyclone-mocha-accurate-forecasts-and-storm-warnings-spur-preparedness-in-myanmar-and-bangladesh/

https://phys.org/news/2023-05-early-disaster-deaths-plunging.html

https://www.euronews.com/green/2023/05/23/alert-alert-early-warning-systems-have-saved-10000s-of-lives-as-extreme-weather-takes-hold

https://news.un.org/en/story/2023/05/1136937

https://www.irrawaddy.com/news/burma/cyclone-mocha-dead-refused-evacuation-myanmar-junta-boss.html

https://www.mfa.go.th/th/content/cyclonemocha220523?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b

https://twitter.com/pita_mfp/status/1660253710856110080?s=61&t=htXjnEEg48iGePeJqG9JLw