หลายคนมองว่าชาวบ้านดงมะไฟ หนองบัวบำภูได้ชัยชนะ หลังศาลปกครองตัดสินให้มีคำสั่งเพิกถอน ทั้งใบอนุญาตใช้ป่าสงวนและใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรเหมืองดงมะไฟไปแล้ว เมื่อ กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
มหากาพย์การต่อสู้ระหว่างคนดงมะไฟกับเอกชนเจ้าของเหมือง “บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด” ผู้ทำกิจการเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง บนเนื้อที่กว่า 175 ไร่ ที่ยืดเยื้อยาวถึง 30 ปี ส่อเค้าว่าจะ “จบสวย” พร้อมคำประกาศพัฒนาดงมะไฟให้เป็น “ดินแดนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ชุมชน” แทน “ดินแดนแห่งเหมือง” ตามการคาดการณ์ของหลายฝ่ายที่ติดตามกรณีมาต่อเนื่อง
แต่บททดสอบชาวดงมะไฟดูจะยังไม่จบ ล่าสุดยังคงมีเชื้อไฟอย่างน้อย 2 กองที่ยังคงคุกรุ่น รอวันจุดติด จากการเปิดเผยของคนในพื้นที่และทีมทนายที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ “ความขัดแย้งว่าด้วยพื้นที่ป่าสงวน 50 ไร่ ที่บริษัทอ้างว่าได้รับอนุญาตให้ใช้กองแร่-ทำสำนักงาน-เก็บวัตถุระเบิด” และ “คดีที่บริษัทแจ้งความ 3 แกนนำชาวบ้าน ข้อหาขัดขวางการทำงานจนบริษัทเสียหาย” ที่สำคัญ บริษํทฯ ยันจะเดินหน้าขอใบอนุญาตใหม่
นราวิชญ์ เชาวน์ดี GreenNews รายงาน
3 ทศวรรษ “จากความรุนแรงในพื้นที่ สู่ข้อยุติในศาล”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2536 มีการสำรวจพื้นที่ภูผายา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพื่อขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบริเวณภูผายาพบภาพเขียนสีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ในปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองได้ ด้วยความกังวลดังกล่าวชาวบ้านจึงรวมตัวกันออกมาคัดค้าน
ทำให้ในปีต่อมามีการเปลี่ยนพื้นที่จากภูผายามาเป็นภูผาฮวกซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู การคัดค้านการขอทำเหมืองในพื้นที่ของชาวบ้านก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2538 ชาวบ้าน 2 คนที่เป็นแกนนำในการคัดค้าน คือบุญรอด ด้วงโคตะ และสนั่น สุวรรณ ถูกลอบยิงเสียชีวิต
ซึ่งไม่ใช่ความสูญเสียครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นในปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม และสม หอมพรมมา ถูกลอบยิงเสียชีวิต ชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองหินต้องเสียชีวิตไปถึง 4 คน และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมารับโทษได้
แม้จะเกิดความรุนแรงแต่ในปี 2543 บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ได้รับประทานบัตรที่ 27221/15393 ให้ทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) เนื้อที่ 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา
และการคัดค้านของชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันในชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได” ซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
หลังจากใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูน และใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอย และป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน จะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2553 บริษัทขอต่ออายุใบอนุญาตเพื่อทำเหมืองหินปูน และโรงโม่หินต่อไปอีก 10 ปี ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ก็ได้อนุญาตทำให้บริษัทสามารถทำเหมืองหินได้จนถึง ก.ย. 2563
แต่การอนุญาตดังกล่าวชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการต่ออายุโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในพื้นที่ยังมีความขัดแย้งกับประชาชน รวมถึง มติอบต. ที่อนุญาตก็ไม่ชอบมาพากล จนนำไปสู่การฟ้องศาลปกครองอุดรธานีของชาวบ้าน
จากความไม่ชอบมาพากลทำให้ตัวแทนชาวบ้านจำนวน 78 คน ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (จำเลยที่ 1) อธิบดีกรมป่าไม้ (จำเลยที่ 2) และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู (จำเลยที่ 3) เมื่อ 19 ก.ย. 2555 ต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานรัฐดังกล่าวซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายอันไม่อาจประเมินค่า และขอให้ศาลปกครองคุ้มครองการทำเหมืองแร่หิน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
แต่กว่าศาลปกครองชั้นต้นจะตัดก็อีกเกือบ 6 ปีให้หลัง เมื่อ 14 มี.ค. 2561 โดยศาลตัดสิน
- ให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนฯ เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เนื่องจากก่อนที่จะมีการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนฯ จะต้องมีมติอบต. ออกมาก่อน ซึ่งศาลมองว่า มติอบต.ดงมะไฟฟังไม่ขึ้นเนื่องจากไม่น่าเชื่อว่ามีการประชุมเพื่อรับรองมติจริง
- เพิกถอนคำสั่งต่ออายุประทานบัตรที่ 27221/15393 โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่คู่ความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดคดีจึงยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งกลุ่มได้ทำการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ยุติกระบวนการทำเหมืองแร่หินปูนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ศาลไม่อนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราว บริษัทจึงระเบิดภูผาฮวกทำเหมืองอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563 ซึ่งเป็นวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ
ก่อนที่ชาวบ้านจะได้รับชัยชนะอีกครั้งเมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อ 17 ก.พ. 2566

“ใบอนุญาต” พื้นที่กองแร่ 50 ไร่ในเขตป่าสงวน
แม้ว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนฯ เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน และเพิกถอนคำสั่งต่ออายุประทานบัตรเหมืองแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ กิจการเหมืองยังคงไม่ได้ยุติอย่างสิ้นเชิง ด้วยบริษัทยังคงมีพื้นที่อีก 50 ไร่ ที่ใช้เป็นที่กองแร่ ตั้งสำนักงาน และเก็บวัตถุระเบิด โดยอ้างว่ามีใบอนุญาตให้ใช้ป่าสงวน
ข้อมูลจาก สำนักการอนุญาต กรมป่าไม้ ระบุว่าบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนฯ (เพื่อสร้างกองแร่) เนื้อที่ 50 ไร่ เป็นที่ที่บริษัทใช้เก็บสินแร่หิน เครื่องชั่ง รวมถึงเป็นสำนักงาน ซึ่งจะสิ้นสุดการอนุญาต 19 พ.ย. 2567
“ในตอนที่ชาวบ้านฟ้องต่อศาลปกครอง บริษัทยังไม่ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนฯ (เพื่อสร้างกองแร่) นี้ ทำให้ชาวบ้านไม่ได้ยื่นเรื่องฟ้องพื้นที่ตรงนี้เข้าไปด้วย” สุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม อธิบาย
“แต่ในความเห็นของผม มันควรจะหลุดไปด้วย ในเมื่อพื้นที่ทำเหมืองมันถูกเพิกถอนแล้ว เราเห็นว่าพ่วง มันพ่วงแน่ ๆ โดยหลักแล้ว เพราะว่ามันขอมาเพื่อใช้ประกอบการเหมืองแร่ พอศาลปกครองออกมาบอกว่าใบอนุญาตการเหมืองแร่ไม่ชอบ จะมาใช้ประโยชน์ตรงนี้อีกได้ยังไง” สุรชัย ให้ความเห็นเพิ่มเติม

“ใบอนุญาตออกโดยมิชอบ?” ข้อกังขา
ล่าสุดของกลุ่มอนุรักษ์ฯ เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ เพื่อยื่นหนังสือให้อบต. เปิดเผยข้อมูลมติการประชุมสภาอบต.ดงมะไฟ กรณีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและนากลาง เนื้อที่ 50 ไร่ (เพื่อสร้างกองแร่) ของ บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด
และฉบับที่สอง ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายงานการจ่ายค่าบำรุงพิเศษท้องที่ หรือค่าภาคหลวงแร่ หรือผลประโยชน์อื่นใดตามกฎหมาย ของ บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่จ่ายให้กับ อบต.ดงมะไฟ
“เราอยากทราบข้อมูลว่าใบอนุญาต 50 ไร่ มีมติเห็นชอบของอบต.ดงมะไฟหรือไม่ ถ้าไม่มี ใบอนุญาตนี้ก็จะมิชอบ เราก็จะดำเนินการขอให้เพิกถอนต่อไป นอกจากนั้นก่อนหน้านี้เราก็ไปยื่นต่อกรมป่าไม้ที่มีอำนาจออกใบอนุญาตทำประโยชน์ในป่าสงวนฯ ให้ตรวจสอบ และเพิกถอนในอนุญาต แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า
สำหรับการยื่นหนังสือเพื่อให้เปิดเผยค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่จ่ายให้กับ อบต.ดงมะไฟ ถ้าเราได้ข้อมูลนี้ เราจะสื่อสารกับชาวบ้านว่า ที่บริษัทเข้ามาทำเหมืองที่นี้ สิ่งที่เราได้มีความคุ้มค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหมืองไหม ทั้งฝุ่นควัน เสียงระเบิด อย่างเหมืองทองเหมืองเลย ที่ทำเหมืองกว่า 10 ปี แต่ให้จ่ายค่าบำรุงแร่แค่ 8 หมื่นบาท” ไชยศรี สุพรรณิการ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ PPM ให้สัมภาษณ์กับ GreenNews

ความเสี่ยงคนในชุมชน จากวัตถุระเบิด
นอกจากปัญหาในพื้นที่ 50 ไร่ วัตถุระเบิด (รวมถึงสารแอมโมเนียมไนเตรท) เป็นอีกเรื่องที่สร้างความกังวลให้ชาวบ้านในพื้นที่ ไชยศรี เปิดเผย
“ในเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมาเกิดไฟป่าลุกลามใกล้กับจุดเก็บวัตถุระเบิดของบริษัท ซึ่งถ้าในอนาคตเกิดไฟป่าอีกแล้วไฟลามเข้าไปยังบริเวณเก็บวัตถุระเบิด ก็จะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
ซึ่งศูนย์ดำรงธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู บริษัท หน่วยงานราชการในพื้นที่ และชาวบ้านได้มีการจัดประชุมเพื่อค้นหาและประเมินแนวทางในการขนย้ายออกจากพื้นที่” ไชยศรีกล่าว
ในวันที่ 31 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา อนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมว่าควรขนย้ายหรือไม่ หรือทำลายในพื้นที่เคยทำเหมืองแร่เลย แต่ต้องประเมินว่าอย่างไหนจะดีกว่ากันโดยดูจากปริมาณที่คงเหลือ และหน่วยอีโอดียืนยันว่าการทำลายจะไม่สงผลกระทบได ๆ กับพื้นที่
ทั้งนี้นักปกป้องสิทธิฯกลุ่มอนุรักษ์ฯยืนยันว่า ให้ขนย้ายออกไปทำลายที่อื่นเท่านั้น และต้องขนย้ายแค่ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทกับแก๊ปเท่านั้น จะไม่มีการขนแร่หินที่เหลือในพื้นที่ 50 ไร่ หรือพื้นที่เขตโรงโม่หินอย่างเด็ดขาด เพราะแร่หินที่กองอยู่บริเวณเขตโรงโม่หินได้มาจากประทานบัตรที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประทานบัตร อีกทั้งพื้นที่ 50 ไร่ ที่ถูกขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯเพื่อทำโรงโม่หินนั้นยังไม่ได้มีมติขององค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ (อ่านรายละเอียดผลการประชุม)

บริษัทฯ ประกาศ “ขอใบอนุญาตใหม่”
“ในวันที่ศาลปกครองอุดรธานี อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทนายความของบริษัทประกาศว่า ทางบริษัทจะดำเนินการขออนุญาตทำเหมืองอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด
เขายังมีความหวังว่าจะมาเปิดได้ แต่ทางเราคิดว่ามีโอกาศน้อยมากที่เขาจะทำสำเร็จ แต่เขามีเงิน เขาเป็นกลุ่มทุนที่มีเงิน แล้วบางครั้งรัฐก็มีนโยบายเอื้อให้ด้วย อย่างบทเฉพาะการของ พรบ. แร่ 2560” ไชยศรี กล่าว

คดีบริษัทฟ้อง 3 แกนนำชาวบ้าน
“เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566 หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสิน 3 เดือน ปรากฎว่าชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้รับหมายศาล มีสาระสำคัญว่า ธีรสิทธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ เจ้าของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด เป็นโจทก์
ฟ้องชาวบ้าน 3 คน ขัดขวางเส้นทางขนแร่ ทำให้บริษัทฯ ส่งรายงานผลสิ่งแวดล้อมฯ ให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภูไม่ได้ ทำให้ถูกสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ แจ้งความต่อ สภ.สุวรรณคูหา ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าบริษัทสามารถใช้เส้นทางอื่นได้ ในขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการของศาล” ไชยศรี เปิดเผย

ดันเปลี่ยน “เหมือง” เป็น “แหล่งท่องเที่ยว”
“ชาวบ้านเข้าไปฟื้นฟูปลูกต้นไม้ในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2564 หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอน เราเปิดระดมทุนในเพจ เหมืองแร่หนองบัว ได้เงินมาประมาณ 50,000 บาท ก็นำมาฟื้นฟูพื้นที่ที่บริษัททำเหมืองไปประมาณ 60 ไร่ จากทั้งหมด 175 ไร่ ตอนนี้ต้นไม้ก็พอขึ้นบ้าง แต่ค่อนข้างที่จะโตช้า
และการอ้างสิทธิในการครอบครองพื้นที่ดังกล่าวของบริษัทฯ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ทั้งหมดได้อย่างที่ตั้งใจ
เมื่อก่อนภูผาฮวก มีทั้งกระรอง ลิง นกเขา ไก่ป่า แต่ในช่วงที่มีการทำเหมือง สัตว์ต่าง ๆ หายไปหมดเลย หลังจากมีการฟื้นฟูก็เริ่มมีหน้าดิน หญ้าขึ้นมาบ้าง ในอนาคตเราก็อยากให้พื้นที่กลับมาอุดมสมบูรณ์มากที่สุด สัตว์ต่างกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ก็เริ่มมีนก ไก่ป่า กระรอก กระแตกลับมาบ้างแล้ว และคิดว่าอีก 5 ปีลิงน่าจะกลับมาบ้าง
ช่วงที่ยังทำเหมืองอยู่ ตอนเช้ามีแต่เสียงรถขุดหิน รถแมคโค เสียงระเบิด แต่ปัจจุบันกลายเป็นเสียงนก เสียงกา เสียงธรรมชาติ
ชาวบ้านในพื้นที่มีความต้องการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ในอนาคต
สิ่งที่เราคาดหวังคือ 1. ปิดเหมืองหิน และโรงโม่ ซึ่งสำเร็จแล้ว 2. ฟื้นฟูภูผา ป่าไม้ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ 3. พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งกำลังทำอยู่
เราอยากทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นเหมืองเป็นจุดชมวิว เป็นแหล่งท่องเที่ยว แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกท่องเที่ยวถ้ำ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวิติศาสตร์ อารยธรรม ที่เป็นประวิติศาสตร์ยุคก่อน เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ก็มีทรัพยากรครบ มีการพบภาพเขียนสี กลอง มโหระทึก ไห
ส่วนที่สอง แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคนี้เกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติกว่า 29 ปี” ไชยศรี เปิดเผยเกี่ยวกับแผนการในอนาคตของพื้นที่ที่เคยเป็นเหมืองหินดงมะไฟ
อ่านเพิ่มเติม : 11 ปีแห่งการรอคอยคำพิพากษา บรรทัดฐานการรับรองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ชัยชนะที่ไม่หยุดนิ่งของ “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได” บทความโดย ENLAW
