1. ฟิลิปปินส์ : เตรียมรับมือ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่นมาวาร์” ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
2. จีน : ประกาศ “สำเร็จ” กำหนดพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั่วประเทศ
3. อินเดีย : บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อินเดียเล็งใช้ “เอไอช่วยเอเชียดูแลสิ่งแวดล้อมและรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”
4. ฮังการี : ประท้วงรัฐบาลหลังอนุญาตให้จีนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรีสำหรับรถไฟฟ้า หวั่นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
5. สหรัฐอเมริกา : งานวิจัยแนะกองทัพสหรัฐเตรียมรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร GreenNews รายงาน

1.ฟิลิปปินส์ : เตรียมรับมือ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่นมาวาร์” ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 สำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์แห่งฟิลิปปินส์ หรือ พีเอจีเอเอสเอระบุว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่นมาวาร์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเหนือทะเลฟิลิปปินส์และกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณพื้นที่ความรับผิดชอบของประเทศฟิลิปปินส์ (PAR – the Philippine Area of Responsibility)
การคาดการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าพายุไต้ฝุ่นอาจมีฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมหรือดินถล่มบริเวณเกาะลูซอนตอนเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นของวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้อาจทำให้พายุมีกำลังที่รุนแรงมากขึ้นและมีลมแรงมากขึ้นในทางตอนเหนือของเกาะลูซอน
พีเอจีเอเอสเอคาดว่าพายุมาวาร์อาจจะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้นำฝนมรสุมมาทางทิศตะวันตกของเกาะลูซอนตอนกลางและตอนใต้ รวมทั้งเกาะวิซายัสซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์หรือวันจันทร์นี้
จากการติดตามการพยากรณ์อากาศ พายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณพื้นที่ความรับผิดชอบของประเทศฟิลิปปินส์ในวันเสาร์และชะลอตัวลงในวันอาทิตย์เมื่อเริ่มเคลื่อนเข้าใกล้น่านน้ำทางตะวันออกของเกาะลูซอนตอนเหนือ
ทั้งนี้เมื่อพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณพื้นที่ความรับผิดชอบของประเทศฟิลิปปินส์ก็จะมีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า Betty
พายุลูกดังกล่าวเป็นพายุลูกที่สองที่พัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์ในปีนี้และเป็นครั้งแรกของเดือนนี้

2. จีน : ประกาศ “สำเร็จ” กำหนดพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั่วประเทศ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีนได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สามารถกำหนดพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศหรือเรียกว่าแนวเขตสีแดงทั่วประเทศสำเร็จ โดยแนวเขตดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ที่มีความสำคัญและความเปราะบางทางนิเวศวิทยาซึ่งพื้นที่เหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองที่จำเป็นและเข้มงวด ทั้งนี้จีนนับว่าเป็นผู้นำในการเสนอและใช้ระบบแนวเขตเส้นสีแดงเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
ประเทศจีนมีพื้นที่ที่อยู่ภายใต้แนวเขตสีแดงเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศไม่น้อยกว่า 3.15 ล้านตารางกิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่ในทะเลอีก 150,000 ตารางกิโลเมตร
โดยประเทศจีนได้กำหนดกฎเกณฑ์และใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อเสริมสร้างการติดตามและควบคุมพื้นที่ในเขตแนวเส้นสีแดงนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนับว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นับตั้งแต่มีการเปิดตัวการปฏิรูปและการเปิดประเทศ แต่ปัญหาทางนิเวศวิทยากลับกลายเป็นปัญหาคอขวดที่ชัดเจนและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากความเสื่อมโทรมทางระบบนิเวศและความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ทางระบบนิเวศก็ลดลงไปด้วย
การกำหนดและใช้เส้นแนวเขตสีแดงอย่างเคร่งครัดเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศเป็นการปรับใช้เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้จีนมีความก้าวหน้าทางนิเวศวิทยา

3. อินเดีย : บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อินเดียเล็งใช้ “เอไอช่วยเอเชียดูแลสิ่งแวดล้อมและรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”
บริษัททาทา (Tata Consultancy Service) ซึ่งให้บริการด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียเปิดเผยว่า ทางบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยให้ประเทศในเอเชียรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ สภาพการจราจรและมลพิษทางอากาศ
การใช้งานเอไอดังกล่าวยังช่วยลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล โดยผลการประเมินสามารถโพสต์ได้ในหลายช่องทางทั้งบนอินเตอร์เน็ต อินทราเน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักให้กับพลเมืองได้
นอกจากนี้ยังช่วยให้ประชาชนสามารถใช้โปรแกรม ChatGPT เพื่อค้นหาข้อมูลว่าประเทศพวกเขาอยู่ตรงจุดไหนของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งทำให้พวกเขาตระหนักมากขึ้นและขับเคลื่อนในสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาลได้

4. ฮังการี : ประท้วงรัฐบาล หลังอนุญาตให้จีนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า หวั่นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ชาวฮังการีนับร้อยคนรวมทั้งนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและนักการเมืองฝ่ายค้านรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลที่อนุญาตให้บริษัทจีน Amperex Technology Co. Limited ก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีสำหรับรถไฟฟ้าในประเทศ
แม้รัฐบาลอ้างว่าโครงการก่อสร้างกิกะโปรเจกต์นี้ใช้เงินลงทุน 7.3 พันล้านยูโรซึ่งนับว่าการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่มากที่สุดในประเทศฮังการีและจะทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน สำหรับรถไฟฟ้าซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ประชาชนยังมีข้อกังวลว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะสร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
นอกจากนี้พวกเขายังกังวลปริมาณน้ำจำนวนมากจะถูกผันไปใช้ในโรงงานเพื่อหล่อเย็นอุปกรณ์ต่างๆ และส่งผลต่อน้ำประปา รวมทั้งสารเคมีจากโรงงานอาจปนเปื้อนลงไปในดินและน้ำ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา Péter Szijjártó รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของฮังการีได้พบ Wang Wentao รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน พร้อมกับผู้แทนบริษัทยานยนต์ของจีนอีก 5 บริษัท โดยมีการหารือถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของจีนในฮังการี รวมทั้งการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าของบริษัท Amperex Technology Co. Limited อีกด้วย
โดย Péter Szijjártó บอกว่า เขารู้สึกซาบซึ้งอย่างมากที่ฮังการีได้กลายเป็นจุดมุ่งหมายอันดับ 1 ในยุโรปกลางที่บริษัทจีนจะเข้ามาลงทุนและฮังการีจะดึงดูดการลงทุนจากประเทศจีนได้มากกว่าประเทศอื่นในยุโรปกลาง EuroNews Hungary Today รายงาน

5.สหรัฐอเมริกา : งานวิจัยแนะกองทัพสหรัฐเตรียมรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
(Military Times)
งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจกระทบต่อศักยภาพของกองทัพสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทหาร การบำรุงรักษาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
การศึกษาจัดทำโดยบริษัท Rand Corp ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังความคิดที่ไม่แสวงหาผลกําไรในแคลิฟอร์เนียและเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
การศึกษานี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้กระทรวงกลาโหมหาวิธีปกป้องกองกําลังและทรัพย์สินของรัฐบาลจากความร้อนที่สูงขึ้น น้ําท่วม ไฟป่า และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนโดยหรือรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอภาพรวมของหลายวิธีที่สภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อความพร้อมทางทหารโดยเน้นย้ำถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ หากรัฐบาลยังไม่เตรียมความพร้อม
รายงานนี้เป็นรายงานล่าสุดในการระบุความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
ขณะเดียวกันกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ หรือ DHS ได้เตือนว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วต่างก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อความยืดหยุ่นของประเทศ