ยื่นค้านการจ่าย “ค่าลอดใต้ถุน” เหมืองโพแทชอุดร ยันให้รอผลคดีศาลปกครอง

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ยื่นหนังสือผู้ว่าอุดรค้านการเดินหน้าจ่ายเงินทดแทน ค่าเหมืองโพแทชลอดใต้ถุนชาวบ้านเรียกร้องให้ยุติจนกว่าผลตัดสินคดีศาลปกครองที่กลุ่มฯ ยื่นฟ้องเพิกถอนโครงการฯ และศาลเพิ่งรับคำฟ้อง

ชี้อัตราค่าทดแทนก็ไม่เป็นธรรมเฉลี่ยเพียงวันละ 63 บาทต่อไร่ แบ่งจ่าย 24 ปีเรียกร้องเปิดข้อมูลจ่ายไปแล้วเท่าไร

อุตสาหกรรมจังหวัดแจงในนามตัวแทนจังหวัดเพิ่งมารับตำแหน่งอัตรากำหนดมานานแล้วตั้งแต่ปี 57-ขอเวลาทำหนังสือแจงข้อมูลที่ขอยินดีทำตามคำสั่งศาลปกครองพิพากษา

(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)

รวมตัวยื่นค้านผ่านผู้ว่าฯ

เมื่อเวลาเวลา 10.00 . วันนี้ (25 .. 2566) ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีราว 60 คน ได้เดินทางจากอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ไปที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการจ่ายเงินค่าทดแทน กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทน ตามพ...แร่ พ..2560 ด้วยเหตุผล การกำหนดเงินค่าทดแทน หรือที่เรียกกันว่าค่าลอดใต้ถุนดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้รวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าของศาลากลางจังหวัด โดยแกนนำได้นำไมโครโฟนและตู้ลำโพงขยายเสียงเคลื่อนที่ที่เตรียมมา พลัดเปลี่ยนกันกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ อาทิ นายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ผู้ว่าราชการจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดที่ได้อนุมัติอนุญาตออกประทานบัตรให้แก่บริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ขณะที่ประชาชนในพื้นที่คัดค้านกันเป็นจำนวนมากเพราะมีความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกระทั่งมีการฟ้องศาลปกครองและคดีความก็ยังอยู่ในชั้นศาล

จนเวลาผ่านไปประมาณ 30 นาที นายวิมล สุระเสน รักษาราชการปลัดจังหวัดอุดรธานี ได้ออกมาพบปะกับชาวบ้าน และแจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่อยู่ ติดราชการ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้าน ระหว่างนั้นนายวิมล จึงเร่งประสานงาน ฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทน เดินทางมาชี้แจงและรับหนังสือกับกลุ่มชาวบ้าน

(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)

อัตราไม่เป็นธรรมเหตุผลการคัดค้าน

สืบเนื่องจาก พ...แร่ พ..2560 มาตรา 92 ได้ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทําหน้าที่กําหนดจํานวนเงินค่าทดแทน ภาย ใน120 วันนับแต่วันที่ได้มีการยื่นคําขอประทานบัตรทําเหมืองใต้ดิน ให้แก่ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินในเขตประทานบัตรที่มีความลึกเกินกว่า 100 เมตรจากผิวดิน

ช่วงเดือนมิ..-.. 2565 รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้อนุญาตประทานบัตรให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำเหมืองใต้ดิน ชนิดแร่โพแทช จำนวน 4 แปลง ครอบคลุม 5 ตำบล ในพื้นที่อ.ประจักษ์ศิลปาคม และอ.เมืองอุดรธานี รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ และมีแผนการผลิตแร่ 2 ล้านตันต่อปี 

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้พบเห็นการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมจากการกำหนดราคาเงินค่าทดแทนให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ในเขตเหมืองกว่า 26,400 ไร่ซึ่งจะขอแจกแจงรายละเอียดดังต่อไปนี้

การจ่ายเงินค่าทดแทน ในอัตรา 45,500 บาทต่อไร่ แต่บริษัทจะแบ่งจ่ายเป็น 24 งวด หรือปีละครั้ง ได้แก่

ปีแรกหรืองวดที่ 1 จ่ายก่อน 10 % คือ 4,550 บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก 379.16 บาทต่อเดือน หรือ 12.46 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ 1 ซอง ไข่ไก่ 1 ฟอง

ปีที่ 2-23 หรืองวดที่ 2-23 จ่าย 1,780 บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก 148.33 บาทต่อเดือน หรือ 4.87 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อไข่ไก่ได้ 1 ฟอง

ปีที่ 24 หรืองวดสุดท้าย จ่าย 1,790 บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก 149.16 บาทต่อเดือน หรือ 4.90 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อไข่ไก่ได้ 1 ฟองสาระสำคัญหนังสือฯ ระบุ

(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)

เรียกร้องยุติการจ่ายรอผลตัดสินคดีศาลปกครองก่อน

พิกุลทอง  โทธุโย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า อยากให้อุตสาหกรรม ชี้แจงว่าขณะนี้มีประชาชนในเขตประทานบัตรยื่นเรื่องขอรับเงินค่าทดแทน หรือค่าลอดใต้ถุน ทั้งหมดจำนวนกี่ราย คิดเป็นเนื้อที่กี่ไร่ และบริษัทได้จ่ายเงินไปแล้วจำนวนกี่บาท

เราเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในขอบเขตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการเอาเงินค่าลอดใต้ถุน แต่ต้องการมาบอกว่าค่าลอดใต้ถุน คือความอัปยศที่นายทุนและรัฐกดหัวเรา เพื่อต้องการขุดเอาแร่ใต้ถุนบ้านเรา แล้วทิ้งเศษเงินให้เพียงน้อยนิด เฉลี่ยต่อวันแล้วเทียบได้กับซื้อไข่ไก่ 1 ฟอง

กลุ่มฯ ได้คัดค้านในทุกกระบวนการขอประทานบัตรมาโดยตลอด และพบว่าการออกประทานบัตรดังกล่าว มีความไม่ถูกต้องเหมาะสมตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตร และศาลก็ได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว

เมื่อเรื่องทั้งหมดอยู่ที่ศาลปกครอง และศาลก็ประทับรับฟ้องแล้ว อุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องจะต้องหยุดกระบวนการทั้งหมดไว้ก่อน ควรรอขอให้ศาลมีคำพิพากษาก่อนพิกุลทองกล่าว

(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)

คำชี้แจงจากจังหวัด

ข้อแรกเลย คือเรื่องของค่าการกำหนดเงินค่าทดแทน ขอชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่มีคณะกรรมการฯ พิจารณาและมีมติจ่ายตามราคาดังกล่าว มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ในส่วนของตนที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติราชการ จึงมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ แนวทางและขั้นตอนปฏิบัติ แต่ถ้าพี่น้องต้องการทราบข้อมูลตนก็จะดำเนินการให้

ผมจะขออนุญาตทำหนังสือเป็นทางการชี้แจงรายละเอียด จำนวนคนยื่นขอรับเงินค่าทดแทนเท่าไร ได้รับไปแล้วกี่คน คิดเป็นเนื้อที่กี่ไร่ และบริษัทจ่ายไปแล้วกี่บาท แล้วจะเร่งดำเนินการส่งไปให้กลุ่มฯ ภายใน 1 อาทิตย์

ส่วนข้อสองเรื่องของศาลปกครอง โดยหน้าที่ของอุตสาหกรรม หรือผู้ถูกฟ้องก็มีหน้าที่ชี้แจงตามคำสั่งศาล ส่วนทางศาลปกครองจะมีคำสั่งศาลออกมาอย่างไร เราก็ต้องดำเนินการตามนั้น ในส่วนที่ว่าทางกลุ่มอนุรักษ์ อยากให้ศาลมีคำสั่งระงับ ก็มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่ง​​ได้

ถึงตรงนั้นหากทางศาลมีคำสั่งมายังอุตสาหกรรมจังหวัด ผมก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดครับ​​ฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ในฐานะตัวแทนจังหวัด ชี้แจงกับกลุ่มชาวบ้าน

(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)
(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)
(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)
(ภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)