กลุ่มอนุรักษ์ยื่นศาลปกครอง ฟ้องเจ้าท่า-ผู้ว่าภูเก็ต “กรณีท่าเทียบเรืออ่าวกุ้งมารีน่า”

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง ยื่นศาลปกครองภูเก็ต ฟ้อง “คณะกรรมการขุดลองร่องน้ำ-ผู้ว่าภูเก็ต-กรมเจ้าท่า” เรียกร้องให้ “เพิกถอนคำสั่ง-มติที่ประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย” กรณีโครงการท่าเทียบเรือสำราญ และกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า

ยัน “เอกชนอ้างมีร่องน้ำเดิม เพื่อไม่ต้องทำ EIA – คณะกรรมการฯ มีปัญหา ทำเกินหน้าที่ – ไม่ทำตามมติที่ประชุม” 

เผย “หากขุด ส่อกระทบหนัก โดยเฉพาะกลุ่มประมงจน-ไม่มีเรือ”

(ภาพ : มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน)

ยื่นฟ้องศาลปกครองภูเก็ต

“เมื่อ 22 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้ส่งตัวแทนพร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รวม 15 คน เดินทางไปยังศาลปกครองศาลปกครองภูเก็ต “เพื่อยื่นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่ง เพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานราชการ รวมถึงมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีที่ภาคเอกชนจะดำเนินโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า ในพื้นที่บริเวณอ่าวกุ้ง (ท่าเล)”

โดยยื่นฟ้อง 3 บุคคล/คณะกรรมการ ดังนี้

1. คณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง (ท่าเล)

2. ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานราชการ สังกัด กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการบริหารราชการ ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ 

3. ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการภายใต้สังกัดกรมเจ้าท่า มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย

เจ้าหน้าที่ศาลได้รับเรื่องไว้ เป็นแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2566 เพื่อให้ศาลพิจารณาต่อไป” มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเปิดเผยวันนี้ (24 พ.ค.2566)

(ภาพ : รักษ์อ่าวกุ้ง รักษ์ปะการัง ป่าชายเลน)

ชี้ “เอกชนอ้างมีร่องน้ำมาก่อน หวังไม่ต้องทำ EIA”

“ในพื้นที่บริเวณอ่าวกุ้ง (ท่าเล) ได้มีภาคเอกชนจะดำเนินโครงการท่าเทียบเรือสำราญ และกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า ซึ่งในการเดินเรือของเรือที่จะเข้ามาใช้บริการมารีน่าดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีร่องน้ำเพื่อเป็นทางเข้า – ออกเรือ ปรากฏว่า ในขณะที่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว ได้มีการอ้างถึงร่องน้ำในพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปรากฏเกี่ยวกับร่องน้ำบริเวณหน้าพื้นที่อ่าวกุ้ง (ท่าเล) แต่อย่างใด

ประชาชนในพื้นที่จึงได้พากันคัดค้านว่าไม่เคยมีร่องน้ำในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทางเจ้าของโครงการอ้างว่า เคยมีร่องน้ำในพื้นที่ ซึ่งในการดำเนินการเพื่อให้เรือในโครงการมารีน่าสามารถเข้าออกได้ จำเป็นจะต้องมีการขุดลอกร่องน้ำ โดยกฎหมายกำหนดว่า หากเป็นการขุดลอกร่องน้ำที่เป็นร่องน้ำเดิมจะไม่จำเป็นต้องจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แต่หากเป็นร่องน้ำใหม่จะต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการขุดลอกร่องน้ำ จึงเป็นที่มาของข้อขัดแย้งกันระหว่างชุมชน เจ้าของโครงการมารีน่า และหน่วยงานต่าง ๆ” มูลนิธิฯ ระบุ

“เราเองรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่อง โครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณะประโยชน์บ้านอ่าวกุ้ง เนื่องจากเดิมมันไม่มีร่องน้ำ แต่มันมีขบวนการที่สร้างร่องน้ำขึ้นมา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้โครงการท่าเทียบเรือสำราญ และกีฬาอ่าวกุ้ง มารีน่า ซึ่งถ้าเป็นร่องน้ำเดิม ร่องน้ำธรรมชาติ มันไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ เพื่อศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แค่ขุดลอกเฉย ๆ คุณก็สามารถดำเนินการได้แล้วในแง่กฎหมาย

โดยข้อเท็จจริง ในเชิงประจักษ์ชุมชนของเราก็ไม่เคยเจอร่องน้ำตรงนี้มาก่อน และกิจกรรมที่เราทำตรงนี้ก็เป็นกิจกรรมฟื้นฟูเรื่องป่าชายเลน และการดำรงชีพเป็นพื้นที่จับสัตว์น้ำของพวกเรา ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จะมีร่องน้ำ” พิเชษฐ์ ปานดำ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้งวัย 54 ปี  หนึ่งในผู้ฟ้องคดี เปิดเผย

(ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์)

“ปัญหา” คณะกรรมการฯ

“มีความพยายามที่จะกล่าวอ้างว่าบริเวณนี้เคยมีร่องน้ำมาก่อน จนนำมาสู่ของการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้น เพื่อที่จะดูเรื่องนี้ 

แต่ตัวคณะกรรมการเองก็มีปัญหา เพราะว่า หนึ่ง บทบาทหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คือ ให้มีหน้าที่ดูแล และศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำเท่านั้น

อย่างที่สอง ในกระบวนการของคณะกรรมการชุดนี้เองไม่ได้มีการดำเนินการตามมติของที่ประชุม ซึ่งมติของที่ประชุมมีการเสนอว่า จะดูพื้นที่ว่าเป็นร่องน้ำเดิมหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร มันควรจะต้องประสานงานไปยังคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือ กบร. เพื่อที่จะหาผู้เชี่ยวชาญมาแปรภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ ในเชิงข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มีการประสานงานไปยัง กบร. อย่างที่ว่าเพื่อให้มาดำเนินการ แต่กลับมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้มาแปรภาพถ่ายทางอากาศไปยังบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการ และเคยทำงานให้บริษัทเอกชนมาเป็นคนแปร

ดังนั้น ที่มันเป็นปัญหาก็เพราะขอบเขตของคณะกรรมการเอง มีหน้าที่เฉพาะเรื่องการศึกษาในแง่มุมกฎหมายอย่างเดียว มันไม่น่าจะมีบทบาทไปถึงเรื่องของการตัดสินใจว่า ตรงนั้นเป็นร่องน้ำหรือไม่อย่างไร ซึ่งในการตัดสินใจแบบนี้มันมีผลทางกฎหมายในการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ร่องน้ำ

บทบาทคณะกรรมการตรงนี้ มันไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญพอ ไม่มีอำนาจพอที่จะดูรอบด้านตรงนั้น คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่ได้มีอะไรรองรับ เพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหาตรงนี้จริง ๆ” พิเชษฐ์ กล่าว

(ภาพ : รักษ์อ่าวกุ้ง รักษ์ปะการัง ป่าชายเลน)

ส่อกระทบหนัก หากขุด โดยเฉพาะกลุ่มประมงจน-ไม่มีเรือ

“พื้นที่เดิมตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าชายเลน มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ คือเป็นเส้นทางเดินจากชุมชนผ่านไปเพื่อจับสัตว์น้ำ ผู้ใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่หลัก ๆ ของเส้นทางนี้ ก็จะเป็นกลุ่มชาวประมงที่ยากจน ยากจนสุดเลย เพราะเขาไม่มีเรือที่จะไปประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำในทะเลลึก เขาก็ใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อเดินไปจับสัตว์น้ำที่อยู่ริมชายฝั่ง ไม่ว่าจะหาพวกหอยก็ดี หว่านแห หรือจับปูดำ ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องใช้เรือหรือเครื่องมือขนาดใหญ่ อันนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ในการดำเนินชีวิต

นอกจากนี้การขุดแปลงเป็นร่องน้ำก็มีความกว้าง ก้นร่องถึง 30 เมตร ถ้าเราดูข้อมูลจากที่กรมเจ้าท่าเคยนำเสนอ ปากมันกว้างเกือบ 60 เมตร มันก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก และยาว 1.2 กิโลเมตร อย่างนั้นผลกระทบทางระบบนิเวศต่อตัวฐานทรัพยากร ทั้งปะการังน้ำตื้นและกัลปังหา อันนี้มันกระทบแน่นอน

บริเวณนี้เป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชน ถ้ามีการขุดมันกระทบแน่นอน กระทบพื้นที่ทำมาหากินของคนจนๆ เพราะเขาต้องขุดลึกลงไป พื้นที่ที่เขาเคยใช้จับสัตว์น้ำมันหายไปแน่ มันเปลี่ยนสภาพพื้นที่แนวโคลน ก็จะกลายเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ เดินไปไม่ได้มันจม ทั้งปะการังน้ำตื้นและกัลปังหาก็จะหายไป” พิเชษฐ์ กล่าว

(ภาพ : รักษ์อ่าวกุ้ง รักษ์ปะการัง ป่าชายเลน)