ผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศเผย ผลประชุมผู้นำ G7 ประเด็นแก้โลกร้อน “น่าผิดหวัง-ล้มเหลวที่จะขยับการดำเนินการให้เข้มงวดขึ้น-ยังคงไม่สามารถกำหนดกรอบเวลายุติถ่านหิน” หลังเยอรมันดันใช้ก๊าซและเจ้าภาพญี่ปุ่นดันใช้ถ่านหินต่อ
พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร GreenNews รายงาน

ชี้ “ล้มเหลว-น่าผิดหวัง”
ผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศต่างผิดหวังกับการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกหรือ G7 ที่ล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเข้มงวดกับเชื้อเพลิงฟอสซิล หลังจากประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นเดินหน้าใช้ก๊าซและเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง
ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งรวมทั้งผู้นำจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลีและแคนาดาได้ระบุในแถลงการณ์ว่าพวกเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานภายในปี 2035 อย่างเต็มที่หรือส่วนใหญ่ รวมทั้งเร่งการเลิกใช้พลังงานถ่านหิน แต่จากการประชุมในช่วงสุดสัปดาห์ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา ที่ประชุมกลับล้มเหลวในการกำหนดเส้นตายในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานี้
ตรงกันข้าม ที่ประชุมกลับอ้างการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงานและเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญที่เพิ่มการส่งมอบก๊าซธรรมชาติเหลว นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าการสนับสนุนการลงทุนในภาคก๊าซจะสามารถช่วยตอบสนองในสถานการณ์วิกฤตได้อย่างเหมาะสม
อัลเดน เมเยอร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก E3G ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานด้านการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงระบุว่า การยืนกรานที่จะลงทุนในก๊าซของเยอรมนี และการต่อต้านการเลิกใช้พลังงานถ่านหินของญี่ปุ่น ทำให้ความเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศ G7 ด้อยค่าไปอย่างมาก ในช่วงเวลาที่จำเป็นในขณะนี้
การที่ไม่กำหนดวันที่จะยกเลิกการใช้ถ่านหิน อีกทั้งยังรวมคำว่า “ส่วนใหญ่” สำหรับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นก็ทำให้เห็นได้ชัดว่าญี่ปุ่นตามหลังประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ภาคพลังงานปลอดจากการใช้ถ่านหิน
เมย์ โบฟ ผู้อำนวยการการรณรงค์กลุ่ม 350.org ซึ่งเป็นเครือข่ายปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่มีองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมมากกว่า 1,900 องค์กรระบุว่า คำมั่นสัญญานี้ดูอ่อนเกินไป และเต็มไปด้วยช่องโหว่ ซึ่งเป็นการเพิกเฉยอันยอมรับไม่ได้ต่อคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
การแย่งชิงนโยบายพลังงานระหว่างประเทศ G7 ยังนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มมากขึ้นจากประเทศยากจนที่เปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ หลังจากกลุ่มประเทศรำ่รวยทางเศรษฐกิจบอกว่า พวกเขาได้เปลี่ยนเป้าหมายที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
ขณะที่ประเทศชิลี เนเธอร์แลนด์และนิวซีแลนด์ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G7 เป็นผู้นำในการยกเลิกการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและเร่งการใช้พลังงานหมุนเวียน พร้อมกับระบุว่าเราต้องนำยุคพลังงานฟอซซิลไปสู่จุดจบให้ได้

ยังไม่สามารถบรรลุ “กำหนดกรอบเวลายุติใช้ถ่านหิน”
แม้ว่าการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมกลุ่มประเทศ G7 ในวันเสาร์ที่ผ่านมาจะเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานภายในปี 2035 แต่ที่ประชุมก็ไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการยุติการใช้ถ่านหิน หลังจากมีเสียงคัดค้านจากญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้
ประเทศญี่ปุ่นซึ่งพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซอย่างมากหลังจากเกิดสึนามิในปี 2011 และภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ได้ยืนยันมาตลอดว่าการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดจะต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริง
ขณะที่ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 บอกว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกันผ่านการยุติการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่ไม่มีการกักเก็บคาร์บอน
ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ยังระบุอีกว่า เชื้อเพลิง อย่างเช่น ไฮโดรเจนและแอมโมเนียถูกระบุว่าส่วนใหญ่ใช้ในภาคส่วนที่ยากต่อการลดคาร์บอนเนื่องจากความต้องการพลังงานยังสูง อย่างเช่น อุตสาหกรรมหนักและการขนส่ง
ทั้งนี้กลุ่มประเทศ G7 สนับสนุนการนำมาตรฐานสากลมาใช้ในการคำนวนความเข้มข้นคาร์บอนของไฮโดรเจน แม้ไฮโดรเจนถือว่าเป็นพลังงานสีเขียวเมื่อมีการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่ก็สามารถผลิตจากก๊าซและถ่านหินที่เป็นมลพิษได้เช่นเดียวกัน
กลุ่มประเทศ G7 ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในวงกว้างและอาจมีความสำคัญต่อการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมหนัก
ขณะเดียวกันก็มีความกังวลในวงกว้างเกี่ยวกับความมั่นคงในการจัดหาแร่ธาตุและเทคโนโลยีที่สำคัญที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้ก็ยังมีความกลัวว่าจีนอาจจะครอบงำอีกด้วย
ในส่วนการเงินสำหรับประเทศที่ยากจนกว่าในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ โดยกลุ่มประเทศ G7 บอกว่าได้มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการระดมทุน 100 ล้านเหรียญดอลลาร์ต่อปีสำหรับการสนับสนุนด้านการเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนาในปีนี้ ขณะที่คำมั่นสัญญาของสหประชาชาตินั้นมีอายุย้อนไปถึงปี 2552 และขณะนี้ก็ได้เกินกำหนดมาแล้ว
กลุ่มประเทศ G7 พยายามเน้นย้ำถึงความจำเป็นในระดับการปล่อยมลพิษสูงสุดทั่วโลกภายในปี 2568 อีกทั้งยังอ้างว่าการปล่อยมลพิษของพวกเขาได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว พร้อมกับเรียกร้องกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งหลายให้ความมั่นใจว่าการปล่อยมลพิษของแต่ละประเทศจะไม่เพิ่มขึ้นเกินปี 2568
แม้ว่าจะยังไม่มีการนิยมอย่างแน่ชัดว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักนั้นหมายถึงประเทศอะไรบ้าง แต่ในบริบทของการพูดถึงประเด็นสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักนั้นหมายถึงประเทศอินเดีย จีน บราซิล แอฟริกาใต้และรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษอย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดนได้ลงนามในข้อตกลงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดร่วมกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโทนี แอลบาเนซี ซึ่งนับว่าเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้งสองประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ นอกจากนี้ข้อตกลงดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับนโยบายทางด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ข้อมูล :
https://www.ft.com/content/18ae7257-dd02-4965-9de9-faec5e339be2