กระแสพลังงานยั่งยืน ดึงดูดนศ.วิศวะ-ธุรกิจไทยสนใจทำงานอุตฯพลังงานเพิ่ม

“นักศึกษาสาขาวิศวกรรม และนักศึกษาสาขาธุรกิจ สนใจทำงานในอุตสาหกรรมพลังงานเพิ่มขึ้น 19% และ 3.9% ตามลำดับ” Universum Talent Research เผยผลสำรวจล่าสุด

“การที่อุตสาหกรรมด้านพลังงานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่คนไทยรุ่นใหม่ สอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืนที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในปีนี้” ทีมวิจัยวิเคราะห์

(ภาพ :  สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน)
(ภาพ : Universum Talent Research)

แนวโน้มจากผลการสำรวจ

“คนรุ่นใหม่มีความสนใจทำงานในอุตสาหกรรมพลังงานเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 19% ในกลุ่มนักศึกษาสาขาวิศวกรรม และเพิ่มขึ้น 3.9% ในกลุ่มนักศึกษาสาขาธุรกิจ” 

ผลสำรวจ Universum Talent Research ประจำปี 2566 โดย ยูนิเวอร์ซัม (Universum) บริษัทด้านการวิจัย ให้คำปรึกษาและการสื่อสารแบรนด์องค์กร เปิดเผย โดยอ้างอิงผลการสำรวจล่าสุด 

ผลสำรวจที่ได้มาจากการจัดทำแบบสอบถามนักศึกษา 8,437 คน ที่เรียนสาขาวิชาธุรกิจและพาณิชย์ วิศวกรรม ไอที วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/ครุศาสตร์ นิติศาสตร์ และสุขภาพ/การแพทย์ ใน 112 สาขาวิชาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษา 23 แห่งทั่วประเทศ
ระหว่างเดือนกันยายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566

โดยผู้ตอบแบบสำรวจได้ตอบคำถามเกี่ยวกับคุณค่าความต้องการด้านอาชีพ ความคาดหวัง และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อประเมินและจัดอันดับองค์กรไทยและสากลจำนวน 128 ราย ที่มีการคัดสรรและจัดอันดับผ่านขั้นตอนการคัดเลือกและประเมินอิสระที่มีระบบเพื่อ
ป้องกันไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งแทรกแซงผลการประเมิน โดยการจัดอันดับดังกล่าวมาจากการคัดเลือกองค์กรที่ได้รับการประเมินว่าเป็นองค์
กรที่นักศึกษาอยากร่วมงานด้วยผ่านกระบวนการคัดกรองที่เป็นระบบ” ทีมวิจัยระบุ

“การที่อุตสาหกรรมด้านพลังงานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่คนไทยรุ่นใหม่ สอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืนที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะด้านการผลิต และการหันมาใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน 

สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ดีกับสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนมากขึ้น 

ดังนั้นองค์กรที่สามารถสื่อสารนโยบาย และเป้าหมายธุรกิจในด้านความยั่งยืนได้อย่างชัดเจน จะมีโอกาสดึงดูดคนเก่งรุ่นใหม่ให้มาร่วมงานได้มากกว่า” ไมค์ พาร์สันส์ (Mike Parsons) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของยูนิเวอร์ซัม กล่าว

(ภาพ : Universum Talent Research)

3 อันดับแรก อุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจ

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมพลังงานก็ยังไม่ติด 3 อันดับที่นักศึกษาสาขาธุรกิจและนักศึกษาสาขาวิศวกรรม ระบุว่า ให้ความสนใจมากที่สุด 

โดย 3 อันดับอุตสาหกรรมยอดนิยมที่นักศึกษาสาขาธุรกิจสนใจมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ (33%) วิจัยการตลาด (28%) และโฆษณา (27%) 

ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิต (35%) ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (30%) และการปรึกษาด้านไอทีและวิศวกรรม (28%) คือ 3 อุตสาหกรรมที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมสนใจมากที่สุด

และผลสำรวจเผยว่า นักศึกษาสาขาวิศวกรรมอยากทำงานกับปตท. (PTT) มากที่สุด ตามด้วยกูเกิล (Google) ปูนซิเมนต์ไทย (Siam Cement Group: SCG) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนักศึกษาสาขาธุรกิจอยากทำงานด้วยมากที่สุด โดย กูเกิล (Google) ครองอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GMM Grammy) ยูนิโคล่ (UNIQLO) และไลน์ คอร์ปอเรชั่น (LINE Corporation)

(ภาพ :  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ความคาดหวัง-ปัจจัยที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ

นอกจากนั้นผลการสำรวจในครั้งนี้ได้เปิดเผยเกี่ยวกับความต้องการ ความคาดหวังต่อองค์กร รวมถึงปัจจัยหลักที่ให้ความสำคัญ ช่องทางสื่อสารหลักที่นักศึกษาใช้หาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร และจำนวนเงินเดือนที่คาดหวัง

“ผู้ตอบแบบสอบถาม 34% มีความต้องการ และความคาดหวัง ที่จะทำงานในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสมดุลในการใช้ชีวิต และการทำงาน มากที่สุด รองลงมาคือ การทำงานที่มีความท้าทาย และความรับผิดชอบ 24% ทำงานในหน่วยงานที่มีโอกาศเดินทางไปต่างประเทศ 15% และสุดท้าย 14% ต้องการการทำงานที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับโลก และเปลี่ยนแปลงสังคม

สำหรับปัจจัยหลัก ๆ ที่นักศึกษาให้ความสำคัญคือ 1. เงินเดือนที่ไม่น้อยกว่าบริษัทอื่น และ 2. ผลตอบแทนอื่น ๆ แต่การร่วมงานกับองค์กรที่มีบรรยากาศการทำงานที่ดี มีความมั่นคงด้านอาชีพการงาน มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถรักษาสมดุลชีวิตกับการงาน เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงศักยภาพความสามารถได้เต็มที่ มีความเคารพต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม และมองเห็นโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานที่ชัดเจน ก็เป็นเรื่องที่นักศึกษาต้องการเช่นกัน 

โดยวิธีการหาข้อมูลขององค์ที่นักศึกษาสนใจ 80% ใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก และให้ความสำคัญกับ ความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เงินเดือนและผลตอบแทน และโอกาสในการเติบโตในอาชีพการงาน 

สำหรับความคาดหวังด้านเงินเดือน ผลสำรวจปีนี้เผยว่า เงินเดือนโดยเฉลี่ยที่คนรุ่นใหม่คาดหวังอยู่ที่ 466,379 บาทต่อปี ลดลง 3% จากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 479,000 บาทต่อปี โดยเงินเดือนที่นักศึกษาสาขาธุรกิจคาดหวังอยู่ที่ 441,195 บาทต่อปี ขณะที่เงินเดือนที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมคาดหวังในปีนี้อยู่ที่ 464,538 บาทต่อปี

ความแตกต่างของเงินเดือนที่คาดหวังระหว่างเพศชายและหญิงปีนี้อยู่ที่ 10% โดยเงินเดือนที่คนรุ่นใหม่เพศชายคาดหวังอยู่ที่ 484,303 บาทต่อปี ส่วนเงินเดือนที่คนรุ่นใหม่เพศหญิงคาดหวังอยู่ที่ 437,455 บาทต่อปี” รายงานผลสำรวจเผย