1. อินโดนีเซีย : เปลี่ยนผ่านพลังงงานด้วย “นิวเคลียร์” อุตสาหกรรมปุ๋ย–อาหาร
2. เวียดนาม : หวั่นระเบียบใหม่อียู “ต่อต้านการตัดป่า” กระทบส่งออกสินค้าเกษตร
3. จีน : “เปิดใช้อีกแห่ง” โซลาร์ฟาร์มโฮตัน ป้อนไฟ 200 เมกะวัตต์เข้าระบบ
4. ญี่ปุ่น : เรียกร้องที่ประชุมผู้นำ G7 “รักษาสัญญา ให้เงินรับมือโลกร้อน 1 แสนล้านดอลลาร์”
5. สหรัฐอเมริกา : เตรียมคุมเข้ม “เถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินห้ามปนเปื้อนน้ำใต้ดิน” อีกมาตรการเร่งเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศ

1. อินโดนีเซีย : เปลี่ยนผ่านพลังงงานด้วย “นิวเคลียร์” อุตสาหกรรมปุ๋ย–อาหาร
“4 บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก Topsoe – Alfa Laval – Copenhagen Atomics และ Aalborg ได้บรรลุข้อตกลงที่จะผลิตพลังงานนิวเคลียร์สำหรับผลิตแอมโมเนียให้กับ 2 บริษัทสัญชาติอินโดนีเซีย Pupuk Kaltim และ Pertamina New and Renewable Energy โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวจะมีขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์โดยเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กรวม 25 เตา
พลังงานนิวเคลียร์ที่พัฒนาโดยบริษัทเดนมาร์กนี้จะช่วยอินโดนีเซียผลิตแอมโมเนียที่ปล่อยมลพิษต่ำซึ่งนำไปผลิตปุ๋ยและอาหาร รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่กว้างขึ้นและเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น
โรงงานแห่งนี้จะใช้พลังงานนิวเคลียร์จาก Copenhagen Atomics ซึ่งมีส่วนร่วมในการขยายตัวระหว่างประเทศเพื่อสร้างและจัดหาเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก
แม้เตาปฏิกรณ์ถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ต้นทุนและอุปสรรคด้านกฎระเบียบทำให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า
อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าการเดินเครื่องโรงงานแห่งนี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1.7 ล้านเมตริกตันเมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม” environmentalleader รายงาน

2. เวียดนาม : หวั่นระเบียบใหม่อียู “ต่อต้านการตัดป่า” กระทบส่งออกสินค้าเกษตร
“การดำเนินการตามกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปที่ต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนามไปยังยุโรป
ข้อกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สภาสหภาพยุโรปได้ผ่าน new law on deforestation-free products กฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของสภาพป่า
กฎระเบียบใหม่นี้กำหนดให้บริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังสภาพยุโรปต้องให้คำชี้แจงการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและการรับรองที่ตรวจสอบได้และยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้มาจากที่ดินที่ถูกตัดไม้ทำลายป่าหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2020
กฎระเบียบนี้มุ่งเป้าไปที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับการระบุว่าเป็นตัวขับเคลื่อนการตัดไม้ทำลายป่าที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการเกษตร สินค้าเหล่านี้ได้แก่ ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ กาแฟ ยาง ถ่าน รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูป อย่างเช่น หนัง ช็อกโกแลตและเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
นอกจากกลไกการปรับภาษีและคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่กำลังจะมีขึ้นแล้ว กฎระเบียบฉบับนี้นับว่ามีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อการส่งออกและผู้ส่งออกของเวียดนาม” Vietnam Briefing รายงาน

3. จีน : “เปิดใช้อีกแห่ง” โซลาร์เซลล์โฮตัน ป้อนไฟ 200 เมกะวัตต์เข้าระบบ – เตรียมสร้างอีก 400 เมกะวัตต์
“บริษัท สเตท พาวเวอร์ อินเวสเมนต์ คอร์ปอเรชัน จำกัด (State Power Investment Corporation Limited) หนึ่งในห้ายักษ์บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6,600 เฮกตาร์และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 200 เมกะวัตต์ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้เริ่มป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สวนพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองโฮตัน ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยวิศวกรได้คำนวนและปรับให้แผงโซลาร์เซลล์ทำมุม 37 องศาซึ่งเป็นมุมที่ดีที่สุดในการรับแสงอาทิตย์
นอกจากนี้ทางบริษัทกำลังขยายโครงการการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์อีกหนึ่งโครงการและคาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้
ความเคลื่อนไหวในการจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีนเป็นผลมาจากการที่จีนจะต้องเร่งหาพลังงานใหม่เพื่อมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล รวมทั้งช่วยให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ท่องถิ่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยจีนลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์อีกด้วย โดยคาดว่าจะสามารถลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ได้มากถึง 110,000 เมตริกตันต่อปีและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนต่อปีได้มากถึง 330,000 ตันและ 1,300 ตันตามลำดับ” China Daily รายงาน

4. ญี่ปุ่น : เรียกร้องที่ประชุมผู้นำ G7 “รักษาสัญญา ให้เงินรับมือโลกร้อน 1 แสนล้านดอลลาร์”
การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ซึ่งประกอบไปด้วยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและสหภาพยุโรปได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่เมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
แม้ประเด็นหลักจะมุ่งไปที่เศรษฐกิจและมีประเด็นใหญ่เพิ่มเติมเข้ามาอีกสองประเด็นได้แก่ สงครามยูเครนและอาวุธนิวเคลียร์ ที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงและกระทบเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่นักวิเคราะห์มองว่าการประชุมดังกล่าวก็ไม่ควรละเลยในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศตามที่ผู้นำแต่ละประเทศได้เคยประกาศไว้
Deepali Khanna รองประธานสำนักงานภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่า ผู้นำกลุ่มประเทศร่ำรวยที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่ประเทศญี่ปุ่นในสุดสัปดาห์นี้มีโอกาสที่จะผิดคำมั่นสัญญา แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพการประชุมที่เคยสัญญาว่า จะให้การสนับสนุนทางการเงินมากกว่า 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ประเทศที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในซีกโลกเหนือ ซึ่งล้มเหลวในการปฏิบัติตตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้ในการลดช่องว่างในการระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังขาดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ใน การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ในการระดมเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพอากาศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ทางซีกโลกใต้ อย่างเช่น ตุรกี อินโดนีเซีย และปากีสถาน เป็นต้น และยังมีประชากรโลกอีก 3.6 พันล้านคนที่เสี่ยงต่อผลกระทบที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นกลุ่มประเทศ G7 ต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ประกาศไว้และสร้างพันธสัญญาใหม่ในการลดผลกระทบจากภัยธรรมชาตินี้

ขณะเดียวกันกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้รวมตัวกันบริเวณด้านหน้าสถานฑูตญี่ปุ่นในกรุงมะนิลาและอีก 12 เมืองทั่วประเทศเพื่อต่อต้านประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศ G7 ที่ยังเดินหน้าสนับสนุนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศยังกล่าวถึงท่าทีที่น่าเบื่อของรัฐบาลต่อการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการยืนกรานที่จะส่งเสริมก๊าซฟอสซิลและวิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เช่น เทคโนโลยีไฮโดรเจนและแอมโมเนีย

5. สหรัฐอเมริกา : เตรียมคุมเข้ม “เถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินห้ามปนเปื้อนน้ำใต้ดิน” อีกมาตรการเร่งเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศ
“สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานได้วางแผนเตรียมออกกฎระเบียบเพื่อบังคับให้โรงไฟฟ้าทำความสะอาดเถ้าถ่านหินที่เป็นพิษเพื่อป้องกันการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน
การออกกฎระเบียนข้อบังคับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้หยุดการยกเว้นเถ้าถ่านหินปี 2015 ที่เปิดให้งานสาธารณูปโภคทั่วประเทศได้หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการจัดการกากพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งมากถึงครึ่งพันล้านตัน
ข้อเรียกร้องนี้ขอให้มีการจัดการเถ้าถ่านหินที่ปลอดภัยซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งในพื้นที่ที่ไม่มีการควบคุม รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎระเบียบปี 2015 ที่ออกโดยฝ่ายบริหารของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา
การออกกฎระเบียบนี้นับว่าเป็นครั้งแรกของสำนักงานสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ ที่มุ่งควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานไฟฟ้าในปัจจุบันและแห่งใหม่ โดยกฎระเบียบนี้จะเป็นตัวเร่งให้มีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศ พร้อมทั้งติดตั้งเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนภายในปี 2573 อีกด้วย” สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงา