หวั่นเป็นตกเป็นแพะ “ไฟป่า” ระหว่างสูญญากาศทางการเมือง
ชี้ความขัดแย้งพื้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการคณะกรรมการร่วม “พีมูฟ–รัฐบาล” จะดำเนินการใด ๆ ควรรอรัฐบาลใหม่ กำหนดทิศการจัดการ “อุทยานเตรียมการถ้ำผาไท”
ด้านเจ้าหน้าที่อุทยานแจง “แค่ขอข้อมูลจัดการไฟป่าตามนโยบายอธิบดี” ชาวบ้านยืนยัน “ไม่ให้สำรวจ-เดินหน้าพัฒนาพื้นที่-ตรวจสอบการชะล้างพังทลายหน้าดิน”

ยื่นค้าน “อุทยานสำรวจข้อมูล”
วันนี้ (18 พ.ค. 2566) ตัวแทนชาวบ้านชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง หมู่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ลำปาง ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (ลำปาง) และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช “เพื่อขอปฏิเสธการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ)”
“ตามที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้ประสานงานมายังผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ที่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อสำรวจการครอบครองสัตว์เลี้ยงของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ในวันที่ 18 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่อยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน และได้มีการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาด้านพื้นที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากชุมชนได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าของรัฐ รวมถึงมีความกังวลต่อบทบัญญัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานราชการในพื้นที่มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี เห็นได้จากการประชุมเพื่อจัดทำบันทึกการรับฟังความเห็น และตรวจสอบพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ตามข้อเรียกร้องของชุมชนบ้านกลาง และบ้านแม่ส้าน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566
ชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จึงขอปฏิเสธการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ด้วยเหตุผลดังนี้..” หนังสือระบุ

3 เหตุผล
“1. พื้นที่ทั้งหมดของชุมชนได้รับการกันออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามข้อเรียกร้องของชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
2. ชุมชนอยู่ในระหว่างการแก้ปัญหาร่วมกับขบวนการประชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และรัฐบาล ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ว่าด้วยการเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ซึ่งตามแนวทางข้อที่ 3 ที่ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562
3. ขณะนี้อยู่ในระหว่างบรรยากาศในการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ในขณะที่กระบวนการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนก็จะได้รับการสานต่อในรัฐบาลต่อไป” หนังสือระบุ

“แค่ขอข้อมูลจัดการไฟป่าตามนโยบายอธิบดี” อุทฯ แจง
“การดำเนินการเป็นนโยบายของอธิบดีคนใหม่ ท่านอรรถพล เจริญชันษา ว่าไฟป่าส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวกับเรื่องการเผาเพื่อให้หญ้ามันออก เราแค่ต้องการขอข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน จะได้รู้ว่ามีคนเลี้ยงกี่คน เลี้ยงกี่ตัว ที่ผ่านมาเราปล่อยอิสระ แต่เราจะได้บริหารจัดการร่วมกัน เจ้าหน้าที่จะได้ข่วยกันดูด้วย เผื่อมีเสือมากิน ขอความร่วมมือ
ข้อห่วงใยของชาวบ้านเราคือเราไม่อยากให้บัตรประชาชน และพิกัด เรามาแลกเปลี่ยนกันดีกว่า วันนี้มันเป็นงานด่วน ผมก็ขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านด้วย
โดยอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้นำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้าน เรื่อง สำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระบุว่า อธิบดีอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดความเสียแก่ป่าอนุรักษ์ ตลอดจนเกิดฝุ่นละออง และหมอกควันเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อนะบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และกระทบกับสุขอนามัยของประชาชน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าพื้นที่ป่า การเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่า และล่าสัตว์
รวมถึงการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อควบคุมและกำกับดูแล สกัดกั้นไม่ให้เกิดไฟป่าลุกลาม และรุนแรงมากขึ้น จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดดำเนินการสำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ/เขตรักษาสัตว์ป่า/เขตห้ามล่าสัตว์ป่า” ธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ชี้แจงกับชาวบ้าน

“อย่าฉวยโอกาส ทำให้เราเป็นแพะไฟป่า” ชาวบ้าน
“บ้านเราเป็นที่อุทยานฯ ที่มีการกันพื้นที่อุทยานฯ ออกแล้ว เราควรเป็นป่าสงวนฯ หรือไม่ ทำไมต้องมีอุทยานฯ มาดำเนินการ และเราไม่ยอมรับกฎหมายอุทยานฯ ปี 2562 เรากังวลหลายเรื่อง เราก็ดูแลป่า บริหารจัดการป่าอยู่แล้ว แล้วสำรวจวัวควายโดยอุทยานฯ นี่มันก็จะกระทบต่อชาวบ้านด้วย วัวควายเราไม่ได้เลี้ยงเป็นแหล่ง ตามธรรมชาติของเราคือเราเลี้ยงตามธรรมชาติอยู่แล้ว” แก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ส้าน หมู่ 6 กล่าว
“ถ้าดูจากหนังสือของอธิบดีคือชัดเจนมากว่าเป็นการพยายามจะเอาคนในป่าเป็นแพะรับบาปในเรื่องไฟป่า ไม่ได้บอกเลยว่าไฟป่าเกิดจากพืชเลี้ยงเดี่ยว ข้าวโพด มันชอบธรรมไหมที่จะบอกว่าให้คนเลี้ยงวัวควายเป็นควันรับบาป อยู่ ๆ คุณก็จะมาสำรวจด้วยสมมติฐานแบบนี้ ซึ่งมันเป็นความไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนในป่าที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ซึ่งล่อแหลมมาก
หัวหน้ามีเงินเดือน 3 – 4 หมื่น ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ผมไม่มีเงินกัน ต้องเลี้ยงลูก ส่งเรียน ก็ต้องเลี้ยงวัวควาย ถ้ามองความเป็นจริงมัน คือการละเมิดสิทธิ ไม่มีความเป็นธรรม แล้วจะเอาบัตรประชาชนของชาวบ้านไปเราก็กลัว ว่าใครเลี้ยงที่ไหน เกิดไฟไหม้ ผมก็ตายสิ เพราะไฟป่าทุกวันนี้เราทำสุดความสามารถแล้ว แต่มันไหม้มาจากที่อื่น มันเป็นเรื่องอคติ และการเหมารวมของอธิบดี มันจะเกิดปัญหาในอนาคต
รวมถึงขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งชาวบ้านกำลังจับตานโยบายการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน – ป่าไม้ของรัฐบาลเช่นกันว่าจะมีทิศทางอย่างไร ก็มาดำเนินการในขุมชนในช่วงเวลานี้จึงเหมือนเป็นการฉวยโอกาสจากสุญญากาศทางการเมือง” สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ 5 กล่าว
หลังจากนั้นชาวบ้านได้ยื่นหนังสือ โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) รับว่าจะนำไปรายงานผู้บังคับบัญชาต่อไป

เดินหน้าพัฒนาพื้นที่-ตรวจสอบการชะล้างพังทลายหน้าดิน”
“เมื่อวันที่ 8-12 พฤษภาคม 2566 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมกับทีมวิจัยชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน หมู่ที่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ดำเนินงานวิจัยการติดตามตรวจสอบการชะล้างพังทลายของหน้าที่ หรือ Soil Erosion Monitoring ในระบบการเกษตรกรและพื้นที่จัดการทรัพยากรของชุมชน
กระบวนการเริ่มจากการเลือกพื้นที่วิจัย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ไร่หมุนเวียนปัจจุบัน 2. ไร่หมุนเวียนพักฟื้น 3 ปี 3. ไร่ข้าวโพดที่ทำซ้ำทุกปี และ 4. ป่าธรรมชาติ แล้วจึงตีแปลงในพื้นที่เหล่านั้นขนาด 2×10 เมตร (กว้างxยาว) โดยใช้สังกะสีล้อมรอบ ติดตั้งถังน้ำพลาสติกขนาด 200 ลิตรไว้ข้างล่างแปลงเพื่อเก็บน้ำฝนที่ชะล้างจากแปลง ใช้ท่อ PCV เพื่อระบายน้ำลงสู่ถัง
นอกจากนั้นยังมีการเก็บตัวอย่างดินในแต่ละแปลงเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และวางแผนร่วมกับทีมวิจัยในการเก็บข้อมูลหลังจากนี้ โดยต้องเก็บข้อมูลทุกวันที่ฝนตก ทั้งปริมาณน้ำฝนในแต่ละแปลง และตัวอย่างน้ำรวมถึงตะกอนในแต่ละแปลงเช่นกัน และต้องใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปีหลังจากนี้
งานวิจัยนี้เป็นไปตามโครงการส่งเสริมนวัตกรรมชุมชนชาติพันธุ์ในการจัดการฝุ่นควันไฟป่า และมลพิษทางอากาศเพื่อสุขภาวะ ภายใต้แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยง กับสุขภาวะเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือเปิดเผย