ยื่นอุทธรณ์พรุ่งนี้ คดีฝุ่นชม. ดันบรรทัดฐานใหม่-ความรับผิดชอบลงทุนข้ามแดน

ทีมทนายชี้การรับคำฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ต่อผู้ถูกฟ้อง 3 – 4 “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.)” จะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ “ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยชน ของการลงทุนข้ามแดนนักลงทุนไทย”

แจง “ฟ้องนายกฯ โดยตำแหน่ง” ทำให้แม้มีรัฐบาลใหม่-รักษาการนายกฯ ประยุทธ์จะพ้นตำแหน่ง คดีจะยังเดินต่อ และนายกคนใหม่จะเป็นผู้ถูกฟ้อง 1 โดยอัตโนมัติ

ประชาชนยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อ 10 เม.ย. 2566 (ภาพ : ไทยรัฐ)

เหตุผลการอุทธรณ์

วันนี้ (17 พ.ค. 2566) ประมาณ 13:30 น. สมชาย ปรีชาศิลปกุล วัชลาวลี คำบุญเรือง ปารณ บุญช่วย

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ แถลงความคืบหน้าผ่านเพจ ประชาไท กรณียื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ให้ดำเนินการตามกฎหมาย และแผนวาระแห่งชาติแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่

โดยเปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ฅ. 2566) จะดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 3 (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และผู้ถูกฟ้องที่ 4 (คณะกรรมการกำกับตลาดทุน) ของศาลปกครองเชียงใหม่

“นับตั้งแต่ที่ชาวเชียงใหม่ได้รวมตัวกันฟ้องคดี PM2.5 โดยเราได้ฟ้องทั้งหมด 4 ฝ่ายด้วยกัน 1. นายกรัฐมนตรี ซึ่งเราฟ้องในตำแหน่งหน้าที่ที่มีอำนาจนหน้าที่ในขณะนั้น ไม่ได้ฟ้องที่ตัวบุคล 2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 3. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งฟ้องไปเมื่อ 10 เม.ย. 2566 ในเหตุผลที่ว่าทั้ง 4 มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

19 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งรับฟ้องคดีเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เท่านั้น แต่ในส่วนของผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ 4 ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ 4 เป็นผู้มีอำนาจตามพ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องการกำหนดมาตรการฝุ่นละอองที่ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน นั่นทำให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ 4 ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง

ดังนั้นพวกเราผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 คน จึงเห็นร่วมกันว่า เราจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองเชียงใหม่ โดยเราจะยื่นอุทธรณ์ในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ค. 2566)” เครือข่ายฯ แถลง

(จากซ้าย) วัชลาวลี คำบุญเรือง ปารณ บุญช่วย สมชาย ปรีชาศิลปกุล (ภาพ : ประชาไท)

เพื่อบรรทัดฐานใหม่ “ผ่านบทบาท กลต. -กทต.-ผ่านคดีนี้” 

“โดยมีเหตุผลโต้แย้งของศาลปกครองเชียงใหม่ดังนี้

ฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ ส่วนหนึ่งเกิดจากการประกอบธุรกิจเกษตรกรรม อ้อยและข้าวโพด เป็นแหล่งมลพิษที่สำคัญอันดับต้น ๆ เนื่องจากมีกระบวนการเผาในกิจกรรมทางการเกษตร ทั้งจากการปลูกข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ รวมถึงการผลิตน้ำตาลจากการปลูกอ้อย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 อย่างนี้ถือว่าเป็น แหล่งกำเนิดมลพิษ PM2.5 ที่เกิดทั้งในประเทศ และข้ามพรหมแดนด้วย โดยเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคธุรกิจ

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ ที่ 4 เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลภาคธุรกิจที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 และ มาตรา 16/6 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่ว่า บริษัทจดทะเบียนฯ นั้นจะกระทำเอง หรือโดยบริษัทลูก บริษัทร่วมกิจการร่วมค้า ห่วงโซ่อุปทาน เมื่อดำเนินการ ณ ที่ใด บริษัทจดทะเบียนฯ จะต้องดำเนินกิจการโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

และต้องประกอบธุรกิจตามหลัก “มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม มีการบริหารกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล” (Environment, Social and Corporate Governance: ESG) เพื่อให้เกิด “ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” (Sustainable Supply Chain) รวมถึงมีบทบาทอย่างสำคัญตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) และตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แต่อย่างไรก็ตามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 กลับละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข วิธีจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในแบบ 56-1 one report หรือกำหนดแบบ หรือวิธีรายงานในลักษณะอื่นเพื่อให้บริษัทจดทะเบียน รวมทั้งบริษัทที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน ให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านถึงผลกระทบ ความเสี่ยงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดจากการดำเนินกิจการทั้งในและต่างประเทศ หรือการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบข้ามพรหมแดนกลับมายังประเทศไทย ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผลิตผลทางการเกษตร ที่ต้องเผา อันถือเป็นแหล่งกำเนิดมลภาวะฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย และยังส่งผลกระทบข้ามพรหมแดนกลับมาที่ประเทศไทย

การไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 และประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่อาศัยในภาคเหนือ และจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศสะอาด โดยสิทธิดังกล่าวนั้นถูกกระทบทำให้สิทธิมนุษยชนที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่ดี และไม่ถูกรบกวน หรือกระทบต่อชีวิต และสุขภาพอนามัย จึงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติ และคุ้มครองไว้

นอกจากนี้คดีนี้เป็นคดีปกครองทางสิ่งแวดล้อม ที่ศาลปกครองควรต้องปฎิบัติตามคำแนะนำของศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. 2554 ที่ว่า ศาลพึงวินิจฉัย และให้เหตุผลในทุกข้อหา ทุกประเด็น หรือข้อโต้เถียงที่คู่กรณีกล่าวอ้างทั้งหมด รวมทั้งควรวินิจฉัยเพื่อวางบรรทัดฐานการปฎิบัติราชการที่ดี การสร้างบรรทัดฐานของสังคม และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ทั้งศาลยังสามารถยึดหลักป้องกันไว้ก่อน 

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 จึงข้ออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีคำสั่งรับฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 3 และ 4 ไว้พิจารณาพิพากษา ตามกระบวนการขั้นตอนแห่งกฎหมายต่อไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และประโยชน์สาธารณะ” แถลงการณ์จากเครือข่ายฯ 

(ภาพ : ข่าวสด)

ชี้ “ประยุทธ์ไป-คดีเดินต่อ-นายกคนใหม่รับผิดชอบต่อ”

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้แจงว่า คดีนี้สามารถดำเนินต่อได้หลังจากรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันหมดวาระลงแล้ว เนื่องจากการฟ้องต่อนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการฟ้องนายกฯ โดยตำแหน่ง ไม่ใช่ ฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตัวบุคล ทำให้ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่ได้ทำให้คดีนี้จบลง 

“มีคำถามบางส่วนที่บางท่านถามว่า การที่เราฟ้องเนื่องจากตอนนี้รัฐบาลรักษาการของประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ สิ่งที่เราฟ้องคือ เราฟ้องนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง เราไม่ได้ฟ้องพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาในแง่ของตัวบุคล 

เพราะฉะนั้นหมายความว่า ไม่ว่าใครที่เป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ตอนนี้ และที่จะเข้ามาในอนาคตข้างหน้า เมื่อเข้ามาแล้ว ก็จะต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ต่อไป เพราะว่าเป็นการฟ้องโดยตำแหน่ง

แต่เนื่องจากที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และไม่ได้ดำเนินการ (แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5) เราจึงดำเนินการฟ้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คดีนี้จะจบ 

ไม่ว่าใครก็ตามที่มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการ ถ้าสมมติว่า ศาลเห็นว่านายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้” สมชาย กล่าว

อ่านคำสั่งศาลปกครองคดีฝุ่น 19 เมษายน 2566

อ่านแถลงการณ์ อุทธรณ์คดีฝุ่นเชียงใหม่ 17 พค 2566