ชี้เป็นความเดือดร้อนประชาชน และเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นท่ามกลางปรากฎการณ์เอลนิญโญในปีหน้า พุฒิชัยพัฒน์ สารสมัคร GreenNews รายงาน

MOU พรรคร่วมรัฐบาล
เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกลเปิดเผยกับ GreenNews วันนี้ ( 16 พ.ค. 2566) ว่า พรรคก้าวไกลเตรียมนำอย่างน้อย 3 ประเด็นนโยบายสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายฝุ่น PM 2.5 นโยบายเปิดเสรีโซลาร์เซลล์และนโยบายแก้ปัญหาขยะ เข้าหารือกับ 5 พรรคการเมืองจัดทำข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาล ชี้เป็นความเดือดร้อนประชาชนและเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นท่ามกลางปรากฎการณ์เอลนิญโญในปีหน้า
“นโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะหารือใน MOU อีกด้วย อย่างเช่นเรื่อง PM 2.5 การจัดการขยะและเรื่องโซลาร์เซลล์ เนื่องจากเรื่องโซลาร์เซลล์กับค่าไฟเป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
ส่วนเรื่อง PM 2.5 ก็ต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับต้นปีหน้าเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนี้อีก โดยเฉพาะปีหน้ามีเอลนิญโญก็จะมีความแล้งเยอะ เพราะฉะนั้นปัญหามันอาจจะเยอะกว่าปีนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมเรื่องนี้เอาไว้
และเรื่องสุดท้ายคือเรื่องขยะคิดว่าจำเป็นต้องเริ่มแต่ว่าขยะอาจไม่สามารถทำได้ เปลี่ยนแปลงใน 100 วันแรกแต่คงต้องเจรจาว่านโยบายขยะจะเอาอะไรบ้างซึ่งจะแยกเป็นอย่างเช่นขยะอุตสาหกรรมจะเอาอย่างไร ขยะมลพิษจะเอาอย่างไร
เราคงต้องไปคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพียงแต่ว่าบอกได้ว่าเรื่องนี้อย่างไรคงต้องคุยแน่ (เรื่องนี้ต้องอยู่ใน MOU แน่นอน?) ใช่ครับ” เดชรัตน์เปิดเผย
สืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีชนะการเลือกตั้งพร้อมกับเก้าอี้ สส.เขต 112 ที่นั่งและ สส.บัญชีรายชื่ออีก 39 ที่นั่ง
หลังทราบผลการเลือกตั้งไม่นาน นายพิธาได้ประกาศความพร้อมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเดินหน้าเจรจาพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอีก 5 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยต้องมีการเซ็นข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลหรือ MOU เหมือนการเมืองสากลและจะได้เห็นความคาดหวังในการทำงานและประชาชนจะได้เห็นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในช่วง 100 วัน 1 ปีหรือสมัยแรก
หลายฝ่ายต่างจับตาการเจรจาหารือ MOU ร่วมกับ 5 พรรคการเมืองได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทยและพรรคเป็นธรรม
นอกจากตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ แล้วทั้งตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรองประธานทั้ง 2 ตำแหน่ง ประเด็นนโยบายต่างๆ ที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้งก็ถูกจับตาเช่นเดียวกัน
“วันนี้ (16 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงพร้อมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีรายงานว่าวันนี้ แกนนำและตัวแทนของพรรคการเมืองที่จะร่วมรัฐบาล ได้นัดหารือเพื่อยกร่างข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) รวมถึงการการเสนอชื่อผู้เหมาะสมนั่งตำแหน่งประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรองประธานทั้ง 2 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เผยสถานที่หารือ แต่แกนนำ ตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันมีพรรคละ 3 คน โดยพรรคก้าวไกล มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สำหรับแกนนำพรรคเพื่อไทยคาดว่าจะมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และนายภูมิธรรม เวชยชัย” ไทยพีบีเอส รายงานในช่วงเที่ยงวันนี้

ลำดับความสำคัญ “สิ่งแวดล้อม” ใน MOU
เมื่อถามต่อว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมอยู่ในลำดับความสำคัญอย่างไรบ้าง ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกลตอบว่า มันแยกกันไปแต่ละเรื่อง มันคงจะไม่ได้หมายความว่าจะเอามาเทียบกัน
เมื่อถามว่าต้องไปดูนโยบายของพรรคการเมืองอื่นด้วยหรือไม่เพื่อที่จะนำมาจัดทำร่าง MOU เดชรัตน์ตอบว่า ตอนนี้ดูหมดแล้ว
“นโยบาย 2 ข้อแรกเรื่อง PM 2.5 และเรื่องโซลาร์แล้วเป็นนโยบายที่อยู่ในแผนงานพรรคก้าวไกลทีจะดำเนินงานใน 100 วันแรกหากได้เป็นรัฐบาล” เดชรัตน์กล่าวเพิ่มเติม
นโยบายค่าไฟแฟร์
ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกลได้ระบุ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 100 วันแรกหลังได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีประเด็น “ค่าไฟแฟร์” ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน และนโยบายหลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน
ในส่วนนโยบาย “ค่าไฟแฟร์” ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน เว็บไซต์พรรคก้าวไกลระบุว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาพลังงานสูงเพราะนโยบายของรัฐบาลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการอนุมัติสัมปทานโรงไฟฟ้าให้กับทุนใหญ่พลังงานเป็นจำนวนมาก สุดท้ายกลายเป็นประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไปแล้วถึง 60%
สิ้นปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศไทยมี 13 โรง ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว 7 โรง แต่กลายเป็นว่าประชาชนยังต้องจ่ายเงินค่าบริการให้กับกลุ่มทุนพลังงานที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยเหล่านี้ เพราะรัฐบาลไปทำสัญญาประกันกำไรให้กับกลุ่มทุนพลังงาน สุดท้าย ประชาชนจึงต้องแบกภาระค่าความพร้อมจ่าย หรือค่ามีโรงไฟฟ้าเกินความต้องการนั่นเอง
โดยเสนอลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติให้โรงแยกก๊าซร่วมหารต้นทุนก๊าซใน Energy Pool ด้วย และให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น)
เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง

นโยบายโซลาร์เซลล์
สำหรับนโยบายหลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือนนั้นในเว็บไซต์พรรคก้าวไกลระบุว่า ปัจจุบัน หลายๆ ประเทศตั้งเป้าและเอาจริงเอาจังกับการเดินหน้ามุ่งสู่สังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission แต่การตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลไทยในปี 2030 ไว้ที่ 333 ล้านตัน CO2 ในปี 2030 เท่ากับว่า จริงๆ แล้วการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 10% เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยในปี 2018 (373 ล้านตัน CO2 ในปี 2018) เท่านั้น
พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายกว่านั้น โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ที่ 300 ล้านตัน CO2 หรือเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 19.5% เมื่อเทียบกับการปล่อยในปี 2018 แทนที่จะเป็น 10% อย่างที่รัฐบาลไทยเสนอ
การตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 73 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ จะมาจากการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วขึ้น ตามมาด้วยการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะให้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการจัดการของเสีย ตามลำดับ โดยการดำเนินการทั้งหมดจะต้องยึดหลักการที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวอย่างกว้างขวางที่สุด และร่วมได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านของระบบพลังงานนี้อย่างเป็นรูปธรรม หรือที่เรียกว่า Just Energy Transition การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานที่เป็นธรรม โดยมีข้อเสนอสำคัญดังนี้
- ปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ด้วยระบบ net metering (หักลบหน่วยขาย/ซื้อ) เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด
- เพิ่มแต้มต่อให้ประชาชนผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยการสนับสนุนให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน (จากระบบ net metering) จากโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ในราคาที่สูงกว่าตลาด และประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ หากยังไม่มีตลาดที่ 2.2 บาท/หน่วย
นโยบายฝุ่น PM2.5
ในส่วนนโยบายฝุ่น PM 2.5 นั้น พรรคก้าวไกลระบุว่า จะมีการส่งเสริมขนส่งสาธารณะ อุดหนุนรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนใช้รถยนต์ขนส่งสันดาปลดลง และใช้รถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) ให้ได้มากที่สุด
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วเมืองผ่านการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มเปราะบาง
- ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร สนับสนุนงบตำบลละ 3 ล้านบาทในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ชุมชนจัดการปัญหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
- ตรวจวัดสภาพอากาศ-เตือนภัยให้เร็ว ครอบคลุม ตามมาตรฐานสากล ด้วยการเพิ่มงบประมาณเพื่อจัดหาเทคโนโลยีการตรวจวัดค่าฝุ่นในอากาศที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก และ
- พัฒนาระบบเตือนภัยเมื่อฝุ่นในอากาศเกินค่ามาตรฐานให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ระวังและป้องกันสุขภาพตนเอง
- ทำงานเชิงรุกในเวทีโลก โดยเฉพาะเวทีอาเซียน เร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาในที่โล่ง
นโยบายขยะ
4 นโยบายหลักด้านขยะที่ระบุใน “300 นโยบายเปลี่ยนประเทศ” ของพรรคก้าวไกล รวมถึง
- นโยบายเพิ่มค่าบริการขยะอาหารสำหรับห้างใหญ่ บังคับแยกขยะ-เก็บข้อมูล-ทำบัญชีชยะอาหาร
- ยกเลิกคำสั่ง คสช. ด้านขยะอุตสาหกรรม ให้อำนาจท้องถิ่นปิดโรงงานชั่วคราว
- ออกธรรมนูญจัดการขยะ กำหนดมาตรฐานทั่วประเทศ
- ยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ
นอกจากนี้มีนโยลายที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึง
- นโยบายเก็บภาษีถุงพลาสติกเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม
- นโยบายถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่น (ถนน-คูคลอง-แหล่งน้ำ-ขนส่ง-สิ่งแวดล้อม-พิสูจน์ที่ดิน-โรงงาน-โรงแรม-สถานบริการ)
- นโยบายเครือข่ายเฝ้าระวัง (Watchdog) และระบบร้องเรียน (hotline) ด้านสิ่งแวดล้อม
- นโยบายส่งเสริมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการ
