- มาเลเซีย : “พุ่งสูง” สถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นควันพิษ
- ลาว : “กว่า 2 ล้านไร่” กรมป่าไม้เปิดสถิติพื้นที่ป่าที่หายไปในรอบ 10 ปี
- จีน : “3.15 ล้านตารางกิโลเมตร” ประกาศเพิ่ม เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม “Red Lines”
- สหภาพยุโรป : ผ่าน “ซีรีส์กฎหมายตลาดคาร์บอน” และกฎหมายเกี่ยวข้องด้านสภาพภูมิอากาศ
- สหรัฐอเมริกา : เรียกร้องไบเดนใช้คำให้ตรงความหมาย “ก๊าซฟอสซิล ไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติ”

1.
มาเลเซีย : “พุ่งสูง” สถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นควันพิษ
“สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวมาเลเซียจำนวนมากเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลด้วยอาการของโรคภูมิแพ้ฉับพลัน หายใจลำบาก และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
ดัชนีมลพิษทางอากาศ (API) พบว่าสภาพอากาศค่อนข้างแย่และมีกลิ่นควันลอยอยู่ในอากาศ ขณะที่ข้อมูลจากเวบไซต์ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC) พบว่าไม่มีจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในที่โล่งในมาเลเซียมีเพียงจุดเดียวที่ตรวจพบในเกาะสุมาตรา
อย่างไรก็ตามภาพถ่ายดาวเทียมตรวจพบจุดความร้อนหลายร้อยแห่งครอบคลุมพื้นที่นับล้านเฮกตาร์ในทางตะวันออกของเมียนมาและลาว ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการเผาของเกษตรกร
Nik Nazmi Nik Ahmad รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบอกว่า ขณะนี้มาเลเซียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาของหมอกควันเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้” สื่อมาเลเซีย The Star รายงาน

2.
ลาว : “กว่า 2 ล้านไร่” กรมป่าไม้เปิดสถิติพื้นที่ป่าที่หายไปในรอบ 10 ปี
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าทำให้ลาวสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 2 ล้านไร่
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรม จุดไฟเผาเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ จุดไฟเผาเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเกิดความแห้งแล้ง
สำหรับปีนี้ ไฟไหม้ป่าเริ่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ทั้งในพื้นที่แขวงอุดมไซ หลวงพระบาง หลวงน้ำทา หัวพัน ไซยะบูลี บ่อลิคำไซ เวียงจันทร์ นครหลวงเวียงจันทร์ เป็นต้น โดยทางการลาวกำลังรวบรวมข้อมูลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า” กรมป่าไม้ กระทรวงกสิกรรม ประเทศลาว เปิดเผย Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz รายงาน

3.
จีน : ประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม “Red Lines” เพิ่ม 3.15 ล้านตารางกิโลเมตร
“รัฐบาลกลางจีนได้ประกาศขีดเส้นพื้นที่สีแดงเป็นเขตคุ้มครองทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติครอบคลุมพื้นที่ 3.15 ล้านตารางกิโลเมตร
เป็นพื้นที่ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
เป็นการประกาศเพิ่มเติมจากพื้นที่เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ ที่มีอยู่ปัจจุบันซึ่งครอบคลุมราว 30 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ทั่วประเทศจีน รวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางน้ำราว 150,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่คุ้มครองเขตที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต แม่น้ำเหลืองและแยงซี พื้นที่ป่าทางตะวันออกเฉียงเหนือและแนวเขตทะเลทรายตอนเหนือ และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้มีพื้นที่อีก 850,000 ตารางกิโลเมตรที่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทางธรรมชาติ อย่างเช่น พื้นที่อนุรักษ์ทางน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่อนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งแนวป้องกันลมและชายฝั่งทะเล” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีน เปิดเผย สื่อจีน China Daily รายงาน

4.
สหภาพยุโรป : ผ่านซีรีส์กฎหมายตลาดคาร์บอน และกฎหมายเกี่ยวข้องด้านสภาพภูมิอากาศ
“27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ลงนามผ่านซีรีส์กฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) ใหม่ เพื่อสร้างกลไกแรงจูงใจทางการเงินให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนบรรลุเป้าที่ลงนามไว้ และมีบทลงโทษหากไม่บรรลุ
การลงนามเกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 เม.ย. 2566) โดยซีรีส์กฏหมายตลาดคาร์บอน (The Bloc’s Carbon Market) ดังกล่าว มีสาระสำคัญรวมถึงการทำให้การปล่อยมลพิษมีราคาสูงสำหรับภาคธุรกิจในยุโรป และปรับกลไกให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยคาร์บอน
การเปลี่ยนแปลงระบบ EU ETS (ระบบการจัดสรรและการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก สหภาพยุโรป) เป็น 1 ใน 5 กฎหมายใหม่ที่ได้รับการลงนามครั้งนี้ หลังการเสนอของคณะกรรมาธืการยุโรป (European Commission) และชนะโหวตในรัฐสภายุโรป ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
การอนุมัติถูกประกาศกลางที่ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมที่บรัสเซลล์” รายงานข่าวเปิดเผย

5.
สหรัฐอเมริกา : เรียกร้องไบเดนใช้คำ “ก๊าซฟอสซิล ไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติ”
“นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศกดดันรัฐบาลไบเดนให้บริษัทพลังงานต่างๆ ยุติใช้คำว่า “ก๊าซธรรมชาติ” เนื่องจากการใช้คำดังกล่าวทำให้สาธารณะเข้าใจผิดคิดว่าการผลิตพลังงานนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Caleb Heeringa ผู้อำนวยการการรณรงค์ของกลุ่ม Gas Leaks กล่าวว่า ขณะนี้เขาและนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนกำลังผลักดันให้หน่วยงานของรัฐบาลกำหนดนโยบายเพื่อให้บริษัทต่างๆ หยุดการใช้ข้อความคำว่า “ก๊าซธรรมชาติ” ในการตลาด
โดยให้เหตุผลว่าการผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งควรใช้คำว่า ก๊าซฟอสซิลหรือก๊าซมีเทน การรณรงค์ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกดดันให้คณะกรรมาธิการการค้าแห่งรัฐได้ปรับปรุงข้อแนะนำทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งควบคุมการกล่าวอ้างทางด้านสิ่งแวดล้อมในการตลาด และยังเป็นการป้องกันไม่ให้นำคำนี้มาใช้อย่างมีกลยุทธ์เพื่อปิดบังผลกระทบจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากก๊าซควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ
คำดังกล่าวถูกนำมาใช้ในทศวรรษ 1820 เพื่อแยกผลิตภัณฑ์ออกจากก๊าซที่ผลิตจากการเผาถ่านหินและน้ำมัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตอบสนองจากคณะกรรมาธิการค้าแห่งรัฐต่อความพยายามของกลุ่ม Gas Leaks ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็น” รายงานข่าวเปิดเผย