ชาวอาเซียนกับสิ่งแวดล้อม “ระดับความตระหนัก-ระดับการลงทุนจริง”

“85% ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่าการลงมือทำระดับบุคคลสามารถร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีเพียง 10% เท่านั้นที่ลงมือลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมจริง” ผลสำรวจรับวันสิ่งแวดล้อมโลก 22 เมษา 66 (Earth Day 2023) โดย Milieu Insight เผย

ภาพสะท้อนน่าสนใจ ว่าด้วยระดับความตระหนักต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนอาเซียน และระดับการยอมจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมของคนในภูมิภาคนี้ พร้อมเหตุผลที่พวกเขา (เรา) ยอมหรือไม่ยอมจ่าย และแนวโน้มในอนาคต(บางส่วน)

GreenNews หยิบผลสำรวจมารายงาน พร้อมความคิดเห็นจาก 2 มุมมองคนไทย หนึ่งนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมสากล และอีกหนึ่งเยาวชนสิ่งแวดล้อมเชียงราย 

(ภาพ : unsplash.com/Naja Bertolt Jensen)

“ตระหนักสูง-ลงทุนต่ำ-ไทยลงทุนต่ำสุด” 

ความจริงขม ๆ คนอาเซียน-คนไทย

“จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค  4,800 คนใน 6 ประเทศอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม) เพื่อทำความเข้าใจความสนใจของผู้บริโภคและนักลงทุนเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในวาระวันสิ่งแวดล้อมโลก ของบริษัทวิจัยด้านผู้บริโภค Milieu Insight เมื่อ 19 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา  

พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 85 เปอร์เซนต์ เชื่อว่าการเลือกของผู้บริโภคแต่ละรายสามารถสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมได้ และ 54 เปอร์เซนต์เลือกที่จะนำวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้มากขึ้น อย่างเช่น การลดขยะพลาสติกหรือการรีไซเคิล

ราว 11 เปอร์เซนต์ ตอบว่า กำลังลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อดูรายประเทศ พบว่า มาเลเซียเป็นประเทศแถวหน้าของการเคลื่อนไหวทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยสัดส่วนนักลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดถึง 17 เปอร์เซนต์ ขณะที่ประเทศไทยสัดส่วนต่ำสุดเพียง 6 เปอร์เซนต์

ร้อยละ 70 ของผู้ที่สนับสนุนการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เปิดเผยว่าพวกเขาได้มีการเพิ่มการลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนสัญญาณบวกสู่ทิศและแนวโน้มความยั่งยืนที่มากขึ้นในอนาคต

สำหรับเหตุผลของการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 67 เปอร์เซนต์เป็นเพราะความตระหนักที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นต่อไป 48 เปอร์เซนต์ระบุว่า ต้องการจัดสรรให้กับพอร์ตการลงทุนในโครงการที่มีจุดมุ่งหมาย และ 43 เปอร์เซนต์ระบุว่า เพราะได้รับอิทธิพลจากเพื่อนหรือคนในครอบครัว” ผลสำรวจระบุ

“จัดการขยะ-พลังงานหมุนเวียน-ขนส่งสีเขียว” 

3 อันดับแรก ภาคการลงทุนสีเขียว

“3 อันดับแรกภาคส่วนที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดจากการสำรวจฯ คือ ภาคส่วนการจัดการขยะ อาทิ ศูนย์รีไซเคิล (57%) ภาคส่วนพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (54%) และภาคส่วนการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิยานยนต์ไฟฟ้า (50%)

พลังงานหมุนเวียนเป็นภาคส่วนที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดในประเทศไทย (74%) และสิงคโปร์ (62%) โดยนักลงทุนระบุว่ามีความสนใจลงทุนด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน (61%)

นักลงทุนบอกว่าแรงจูงใจที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูงสุดที่จะจัดสรรเงินให้กับโครงการสีเขียวนั้นได้แก่ ผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (76%) เพิ่มเสถียรภาพของตลาดให้ดีขึ้น (48%) กฎระเบียบเกี่ยวกับรายงานด้านสิ่งแวดล้อม ผลตอบแทนทางการเงินที่สูงขึ้นและสิ่งจูงใจของรัฐบาล (อย่างละ 39%)

ในขณะที่โลกตระหนักถึงความจําเป็นในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ผลสำรวจระบุว่า มากกว่าครึ่ง (53%) ยังไม่ได้ลงทุนแต่มีเจตน์จำนงที่จะลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต และ 41% ยังคงไม่แน่ใจเกี่ยวกับการลงทุนสีเขียว” ผลสำรวจระบุ

ดูข้อมูลการสำรวจฉบับเต็ม 

(ภาพ : Greenpeace Thailand)

“เห็นด้วย งบ-มาตรการสนับสนุนภาครัฐ ปัจจัยสำคัญ” ผอ.กรีนพีซไทย 

1. เห็นด้วยกับผลสำรวจนี้ โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาคเอกชนสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดทางธุรกิจได้ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีไอเดียทางด้านสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เติบโต

หรือแม้แต่การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนก็ยังเป็นลักษณะกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มทุนบางกลุ่มเท่านั้น เดิมที ระบบพลังงานไทยค่อนข้างผูกขาด แต่พอมีเรื่องพลังงานหมุนเวียน ก็ยิ่งมีความผูกขาดมากขึ้น  

แทนที่จะเอื้อให้เกิดการกระจายศูนย์ของการลงทุนให้ผู้ผลิตรายเล็ก ให้ผู้ผลิตระดับครัวเรือนได้มีโอกาสใช้ศักยภาพของระบบพลังงานหมุนเวียนเอามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลายเป็นว่าเม็ดเงินที่ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนกระจุกตัวไม่กี่บริษัท บางบริษัทมีทั้งพลังงานฟอสซิลและพลังงานเขื่อน บางบริษัทก็พยายามเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากถ่านหินไปเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 

พอการลงทุนกระจุกตัว ผมคิดว่ามันก็ไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ ถึงแม้จะเป็นการลงทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่มันก็ไปกระจุกตัว ไม่เกิดการกระจายเศรษฐกิจให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำ พอเป็นอย่างนี้ก็ไม่นับว่าเป็นการลงทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เต็มปากเต็มคำ

2. เงื่อนไขอีกอันที่เป็นตัวตั้งต้นที่จะวัดว่ามีการลงทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ก็คือมาตรการสนับสนุน อาจจะเป็นกรอบกฎหมาย มาตรการบังคับต่างๆ ที่มีความยืดหยุ่น อย่างประเทศมาเลเซียที่มีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ภาคครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้และมีรายได้ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือเกิดการลงทุนของธุรกิจเชิงสังคมหรือสตาร์ทอัพในระบบพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่มากในประเทศมาเลเซีย การผลิตไฟฟ้าระดับย่อยในระดับครัวเรือนแล้วพอไฟฟ้าเหลือจากการผลิตในบ้านก็สามารถส่งขายเข้าสู่ระบบสายส่งได้แล้วก็มีรายได้เข้ามา 

ขณะที่ของเราไม่มีกลไกเหล่านี้ ถ้าหากใครอยากติดรูฟท็อปที่ผ่านมา ก็แค่ลดลงค่าไฟ และต่อให้มีไฟฟ้าจากการผลิตจากแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเราเหลือ เราก็ไม่สามารถที่จะเอาไปหักลบกลบค่าไฟของเราได้ แต่เป็นการลดการใช้ไฟจากเดิมของเราที่ไม่มีแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้นเอง

3. การจัดสรรงบประมาณของภาครัฐทางด้านสิ่งแวดล้อม ปีที่แล้วต่ำมาก รวมทั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาด้วย ตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมถูกตัดลงอย่างเห็นได้ชัด มันสะท้อนให้เห็นว่า งบประมาณภาครัฐที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม มันเอื้อให้ภาคเอกชนที่สนใจลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง

เรามีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น แต่กลับสร้างปัญหาเรื่องการควบคุมดูแล กฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลก็เปิดโอกาสให้มีการฟอกเขียวหรือฟอกขาวในอุตสาหกรรมรีไซเคิลได้ เปิดโอกาสให้มีการนำขยะเข้ามารีไซเคิลเสร็จแล้วเกิดผลกระทบไปทั่วชุมชนจนมีการประท้วงหรือมีการปนเปื้อนมลพิษที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ขณะที่ภาครัฐไม่สามารถทำอะไรได้ภายใต้งบประมาณที่จำกัด” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ให้ความเห็นต่อผลสำรวจฯ กับ GreenNews

(ภาพ : ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์)

“หากเราไม่ทำ แล้วใครจะทำเพื่อเรา” เยาวชนสิ่งแวดล้อมเชียงราย

ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ หรือ แอนโทนี่ ยุวทูตองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ซึ่งกำลังดำเนินโครงการปลูกป่า 100 ล้านต้นในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อลดคาร์บอนและฝุ่น PM 2.5 กล่าวว่า การสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายและบางส่วนจากหน่วยงานราชการ ซึ่งการขอการสนับสนุนค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง

“ผมได้เจอคนที่ทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกับผมจากหลายพื้นที่ ก็พบว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน” แอนโทนี่กล่าว 

แอนโทนี่ได้เริ่มให้ความสนใจและทำกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เขาอายุ 8 ปี โดยในปี 2564 เขาได้นำเสนอโครงการเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนในอากาศแปลงเป็นออกซิเจนเพื่อเข้าแข่งขันชิงเงินรางวัลที่อีลอน มัสก์ นักธุรกิจและนักประดิษฐ์ชื่อดังชาวอเมริกันได้ประกาศสนับสนุนเงินรางวัล 100 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ผู้ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีเครื่องดักจับคาร์บอนเพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน และในปีนี้แอนโทนี่ก็ดำเนินโครงการปลูกป่า 100 ล้านต้นเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือโดยเขาได้รับคำปรึกษาจากชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและเตรียมนำเสนอต่อ SEAMEO และ UNEP เร็วๆ นี้ โดยโครงการนี้จะเริ่มในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้เพื่อช่วยจังหวัดเชียงราย

“ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำเพื่อพวกเรา” แอนโทนี่กล่าว