ขณะที่คนไทยและชาวอาเซียนบางประเทศยังเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ 16 เมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลุ่มประเทศร่ำรวย G7 ได้รวมตัวกันที่ซัปโปโร เกาะฮอกไกโด ญี่ปุ่น ประชุมและประกาศเป็นครั้งแรกต่อเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน
“พลังงานลมนอกชายฝั่งขยายเป็น 150 กิกะวัตต์และกําลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รวมมากกว่า 1,000 GW ของเซลล์แสงอาทิตย์ภายในปี 2573” สาระสำคัญที่ปรากฎในถ้อยแถลง
แต่ในมุมมองสื่อและนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อย ยังคงกังขาและตั้งคำถามในหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะข้อสังเกตุถึงนัยที่ส่อความย้อนแย้งในภาคปฏิบัติต่อทิศและเป้า “การยกเลิกเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินและก๊าซ” ของ G7 ไม่รวมถึงเบื้องหลังการผลักดันพลังงานไฮโดรเจน
“คำประกาศที่ยิ่งใหญ่ หรือความเคลื่อนไหวสู่ฟอกเขียวอย่างเป็นระบบ?” ส่วนหนึ่งของเสียงวิพากษ์ รวมถึงจากนักรณรงค์โลกร้อนไทย ต่อความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรี G7 ครั้งนี้
กองบรรณาธิการ GreenNews รายงาน

สัญญาณดี จากซัปโปโร
“นับว่าเป็นครั้งแรกที่การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศ G7 มีข้อตกลงในเป้าหมายร่วมกันสำหรับการขยายพลังงานหมุนเวียน” โจนาธาน วิลคินสัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศแคนาดา กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรี G7 ล่าสุด
การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มประเทศ G7 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม (The G7 Ministers’ Meeting on Climate, Energy and Environment) จัดขึ้น ณ โรงงแรมซัปโปโร ปรินซ์ เมืองซัปโปโร เกาะฮอกไกโด ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15-16 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
“เป็นหนึ่งการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7 มีความสำคัญในการวางฐานการอภิปรายหารือในเวทีประชุมสุดยอดฯ (ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566)
ด้วยจิตวิญญาณของข้อตกลงปารีส เราจะหารือเรื่องการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวในระดับโลก และการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรม สังคม และเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนพลังงานสะอาดสู่ Net Zero (การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์) และเศรษฐกิจที่ส่งผลดีต่อธรรมชาติและเศรษฐกิจหมุนเวียน ในลักษณะบูรณาการ
เราจะหารืออย่างก้าวหน้าจากแง่มุมที่หลากหลาย รวมถึงแง่มุมมองประเทศ เมือง ข้ามชาติ อุตสาหกรรม ธุรกิจ และไลฟ์สไตล์ เพื่อส่งเสริมการลงมือทำที่ชัดเจนโดยทุกภาคส่วนและโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
เราจะหารือถึงการตอบสนองต่อวิกฤตพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของราคาพลังงานอันสืบเนื่องจากสถานการณ์โลก” กระทรวงสิ่งแวดล้อม ญี่ปุ่น ประเทศเจ้าภาพ ระบุถึงการประชุมครั้งนี้
กลุ่มประเทศ G7 (Group of Seven, G7) เป็นการรวมตัวของรัฐบาลประเทศร่ำรวยที่สุดของโลก 7 ประเทศ ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ กับสหภาพยุโรป ซึ่งล้วนเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ทุกปีจะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ G7 (G7 Summit) เพื่อหารือและกำหนดทิศนโยบายร่วมกันของกลุ่ม
ด้วยขนาดเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G7 ที่รวมกันแล้วมากถึง “เกือบครึ่ง” ของขนาดเศรษฐกิจโลก ทำให้ทิศนโยบายกลุ่มมีอิทธิพลระดับสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในแทบทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม

เป้า “ใหม่และใหญ่” ครั้งแรก
“รัฐมนตรีกลุ่มประเทศ G7 ประกาศตั้งเป้าใหม่-ใหญ่ สำหรับพลังงงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
โดยตั้งเป้าหมายร่วมสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมนอกชายฝั่ง ตกลงที่จะเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และเดินหน้าเร็วขึ้นในการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ก่อวิกฤตโลกร้อนหนักหน่วงในปัจจุบัน” สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน เมื่อ 17 เม.ย. 2566
“ในถ้อยแถลงของกลุ่ม (communique) ระบุว่าถึงเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนว่า พลังงานลมนอกชายฝั่งขยายเป็น 150 กิกะวัตต์และกําลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รวมมากกว่า 1,000 GW ของเซลล์แสงอาทิตย์ภายในปี 2573
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นพ้องร่วมกันที่จะเร่งการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยปราศจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อบรรลุเป้าหมายระบบพลังงานเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อย่างช้าที่สุด
ในส่วนประเด็นพลังงานถ่านหินนั้น ประเทศสมาชิกเห็นด้วยที่จะจัดลำดับความสำคัญของขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมและทันเวลาในการเร่งยกเลิกการผลิตพลังงานถ่านหินภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาในปีที่ผ่านมาเพื่ออย่างน้อยบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานส่วนใหญ่ที่ปราศจากคาร์บอนภายในปี 2035
ขณะที่ประเทศแคนาดา อังกฤษ และประเทศสมาชิกบางประเทศมีความชัดเจนว่าจะเลิกใช้พลังงานถ่านหินภายในปี 2030 แต่บางประเทศกำลังพิจารณาว่าพวกเขาจะดำเนินการไปสู่เป้าหมายภายใต้กรอบเวลานี้อย่างไร”
รอยเตอร์ส รายงานถึงถ้อยแถลงที่ประกาศหลังการประชุมในวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา การประชุมซึ่งได้มีการยกประเด็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นประเด็นเร่งด่วนใหม่ขึ้นมาพูดคุยในที่ประชุมหลังจากรัสเซียได้รุกรานยูเครนด้วย

ยังคาใจ “ท่าที G7 ต่อถ่านหินและก๊าซ”
“ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ได้มีมติร่วมกันในการเดินหน้าใช้พลังงานหมุนเวียน แต่พวกเขากลับหยุดรับรองการกำหนดเส้นตายปี 2030 สำหรับยกเลิกการใช้ถ่านหินที่ประเทศแคนนาดาและประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ร่วมกันผลักดัน
อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังได้เปิดประตูสำหรับการลงทุนในก๊าซอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าภาคส่วนนี้สามารถช่วยจัดการปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่อาจเกิดขึ้นได้” ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตุผ่านรายงาน
“ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีมาตรการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมๆ กัน” ยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นกล่าวในการแถลงข่าว
สำนักข่าวเอ็นเอชเค เวิลด์ รายงานว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ประเด็นสำคัญคือการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ความสนใจส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ประเทศญี่ปุ่นว่าจะสามารถสร้างฉันทานุมัติในประเด็นนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะที่สหรัฐอเมริกาและบางประเทศในยุโรปต้องการกำหนดเป้าหมาย แต่ญี่ปุ่นกลับสงวนท่าทีอย่างระมัดระวังเนื่องจากรถยนต์ไฮบริดที่ใช้ก๊าซและไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายภายในประเทศ
ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้แบ่งออกเป็นสองฝั่งด้วยกัน โดยประเทศในยุโรปต้องการกำหนดวันที่จะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ชัดเจน ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงมีบทบาทสำคัญในอนาคต
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งเป็นข้อตกลงแรกสำหรับกลุ่มประเทศ G7
ที่สำคัญมีความคาดหวังว่ารัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมจะหาฉันทามติเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และเรียกร้องการใช้แผงผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตทั่วโลกให้ได้ 1 เทราวัตต์ภายในปี 2030 ซึ่งเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1,000 แห่ง
ที่ประชุมยังมีแนวโน้นที่จะเรียกร้องสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมีจุดสูงสุดภายในปี 2025 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการจัดกัดการเพิ่มขึ้นของอุญหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ด้านสำนักข่าวยูมิอูริของญี่ปุ่นรายงานว่า ความพยายามในการยกเลิกการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินได้ถูกระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีในการประชุม G7 เมื่อปี 2565 ที่ประเทศเยอรมนี โดยบางประเทศอย่างเช่น อังกฤษ ได้เรียกร้องให้แถลงการณ์ของ G7 ได้รวมกรอบระยะเวลาในการยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเข้าไปด้วย แต่ญี่ปุ่นก็ยังสงวนท่าทีอย่างระมัดระวัง

คำประกาศที่ยิ่งใหญ่ หรือความเคลื่อนไหวสู่ฟอกเขียวอย่างเป็นระบบ?
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า คำมั่นสัญญาด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมต่างเป็นแถลงการณ์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับความสำคัญที่ประเทศเหล่านี้จะพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
เว็บไซต์ Clean Energy Wire ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่รายงานข่าวเกี่ยวกับพลังงานสะอาดระบุว่า แม้รัฐบาลเยอรมันและองค์กรพัฒนาเอกชนได้ยินดีกับความมุ่งมั่นครั้งแรกของกลุ่มประเทศ G7 ต่อเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมสำหรับพลังงานหมุนเวียน แต่นักสิ่งแวดล้อมต่างเตือนว่าข้อสรุปของกลุ่มประเทศร่ำรวยที่เกี่ยวกับการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน ( Carbon Capture and Storage) อาจนำไปสู่การฟอกเขียวอย่างมโหฬาร
สเตฟฟี่ เลมเคอ (Steffi Lemke) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเยอรมัน กล่าวว่า กลุ่มประเทศ G7 ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษและสหรัฐต่างมีความรับผิดชอบพิเศษในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอันมาจากการใช้ทรัพยากรและความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ
“ กลุ่มประเทศ G7 ได้บรรลุความรับผิดชอบซึ่งเป็นภาระหน้าที่เช่นกัน” รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเยอรมันกล่าว
เช่นเดียวกับ แพทริค แกรเจน เลขาธิการด้านพลังงานและสภาพอากาศแห่งรัฐ กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศ G7 ถือว่าเดินมาถูกทางในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและส่งสัญญาณที่ถูกต้องไปยังประเทศหุ้นส่วนที่อยู่นอกกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางไปสู่การประชุม COP28 รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายในภาคธุรกิจและประชาสังคม
“แต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเรา เราจำเป็นต้องก้าวให้ทันและระดมการลงทุนที่จำเป็นต่อไป” เลขาธิการด้านพลังงานและสภาพอากาศแห่งรัฐกล่าวกับ Clean Energy and Wire

“น่ากังขา และต้องจับตา” นักรณรงค์โลกร้อนไทย
วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการ Climate Watch Thailand ให้สัมภาษณ์ GreenNews ว่า นับตั้งแต่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ในปี 2564 ซึ่งได้ให้คำมั่นสัญญาและมีแถลงการณ์ว่าจะเดินหน้าพลังงานสะอาด เราเห็นหลาย ๆ คำพูดและหลาย ๆ คำประกาศ เรื่องการส่งเสริมพลังงานรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฟอสซิล นับตั้งแต่การประชุมที่กลาสโกว์เป็นต้นมา
“ไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไมถึงมีแผนเรื่องพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น แต่ยังไม่เคยเห็นและยังไม่เคยได้ยิน ว่ากลุ่มประเทศ G7 จะประกาศว่าเมื่อไหร่จะยกเลิกและหยุดฟอสซิล ทั้งๆ ที่ได้ประกาศไว้แล้วในการประชุมที่กลาสโกว์ว่าจะหยุดการสนับสนุนฟอสซิลในระดับนานาชาติ
เรายังมีข้อสงสัยอยู่ว่า รูปแบบจะทำในแบบไหน จะทำได้จริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เรายังไม่เห็นว่า ความชัดเจนในเรื่องการลดละเลิกฟอสซิลมันอยู่ตรงไหน พูดง่ายๆ ว่า ถ้าไม่ลดฟอสซิล จะเอาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานลมมาใส่ตรงไหน
ไม่ใช่เพียงแค่ภายในกลุ่มประเทศ G7 เอง แต่ในเรื่องของการลงทุนภายใน พลังงานสะอาดและฟอสซิล เป็นเรื่องการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งหมายความว่า ตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งปี 2020 และ 2022 เราเห็นการสนับสนุนระดับนานาชาติของกลุ่มประเทศ G7 ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Banks) อย่างเช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนที่เรามองเห็นว่าเป็นการลงทุนที่อยู่ในฟอสซิล แม้ไม่เป็นถ่านหิน แต่เป็นก๊าซ
เพราะฉะนั้น อาจตั้งคำถามได้ว่า พลังงานลมที่ประกาศว่าจะทำนั้นเป็นการฟอกเขียวไหม หรือเป็นเพียงแค่บางส่วนที่เอามาแปะ ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกใคร ๆ ก็พูดถึงพลังงานหมุนเวียนว่าเป็นทางออกของเรื่องโลกร้อน เพราะฉะนั้นพลังงานหมุนเวียนจะต้องอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แต่เอาแค่พลังงานหมุนเวียนมาแปะไว้ แต่การลงทุนหลักยังคงอยู่ในธุรกิจฟอสซิลอยู่
เราแค่คิดว่าเป็นการประกาศไว้เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมา นับตั้งแต่ช่วงกลาสโกว์” วนันกล่าว
สำหรับนัยสำคัญของการประชุมครั้งนี้ วนันมองว่า แม้มีแถลงการณ์ออกมา มีคำประกาศออกมา แต่สิ่งเหล่านี้ออกมาตรงกับช่วงที่ทั่วโลกกำลังจับตาเรื่องโลกร้อน และความเป็นผู้นำของกลุ่ม G7 รวมกับที่ G7 ได้ริเริ่มว่าจะไม่มีการสนับสนุนนานาชาติ (international support) และการเดินหน้าเรื่องพลังงานหมุนเวียน เขาก็เลยทำเรื่องนี้
แต่ไม่สามารถมองด้านเดียวได้ เพราะถ่านหินยังไม่เคยแตะเลย นอกจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานลมแล้ว เราเห็นพลังงานอื่นที่ยังมีข้อกังวลอยู่ อย่างเช่น ไฮโดรเจน ซึ่ง G7 เดินหน้าเรื่องไฮโดรเจนเยอะเพราะการประชุมสุดยอดผู้นำปีที่แล้วออกแผนมาว่าทำอย่างไรจะใช้กับไฮโดรเจน เพราะฉะนั้นในเรื่องของไฮโดรเจนมีหลายความพยายามที่จะนำเอาไฮโดรเจนมาใช้โดยยังใช้พลังงานฟอสซิลหรือถ่านหินมาเผาเพื่อให้เกิดไฮโดรเจนอยู่ เพราะฉะนั้นยังเรียกว่าเป็นพลังงานสะอาดอยู่หรือไม่
ทั้งหมดทั้งปวง เราตั้งข้อสังเกตุเฉยๆ ไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นแบบไหน เป็นความพยายามที่จะคงไว้เรื่องฟอสซิลไหม เพราะมีหลายรูปแบบในการได้มาไฮโดรเจนซึ่งเป็นแผนของพวกเขาด้วย
ที่ผ่านมาเห็นแต่การประกาศ แม้กระทั่งการประชุมที่ผ่านมาที่ เยอรมนีซึ่งได้มีการหยิบยกประเด็นกำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินและเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่เห็นแม้กระทั่งวันหรือปีที่แน่นอนที่การใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะหมดไป ไม่ต้องฟอสซิลทั้งหมดก็ได้ อย่างน้อยยกเลิกหรือหยุดการใช้ถ่านหินในภาคส่วนพลังงาน ก็ยังไม่เห็นวันที่แน่นอนสำหรับเรื่องนี้” วนันให้ความเห็น
ต่อความคาดหวังต่อการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2566 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น วนันกล่าวว่า ทำอย่างไรภาคพลังงานจึงจะสอดรับกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งภายในกลุ่มประเทศ G7 และการสนับสนุนระดับนานาชาติ
“อยากเห็นวันที่แน่นอนในการหยุดการใช้ถ่านหินในภาคพลังงานอย่างแรก และตามมาด้วยวันหรือความชัดเจนว่าจะยุติการใช้เชื้อเพลิงพลังงานเมื่อไหร่ อย่างที่สองเรามองเห็นว่ากลุ่มประเทศ G7 ลงทุนในธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี และยังคงเป็นการลงทุนในเรื่องของฟอสซิล ซึ่งเยอะมากกว่าในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
เราจึงอยากมองเห็นว่าการลงทุนในฟอสซิลทั้งในประเทศและนอกประเทศต้องยุติลงทันที แล้วหันไปลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน” ผู้อำนวยการ Climate Watch Thailand กล่าว
แหล่งที่มาข้อมูล :
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20230415_03/
https://www.env.go.jp/content/000127577.pdf
https://www.env.go.jp/en/earth/g7/2023_sapporo_emm/
https://japannews.yomiuri.co.jp/science-nature/environment/20230415-103815/
https://www.cleanenergywire.org/news/right-path-germany-welcomes-first-g7-renewables-targets