5 คำถามร้อน ว่าด้วย “มาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน – การแก้วิกฤตมลพิษฝุ่นควัน – ข้อตกลงอาเซียน – นโยบายที่ไทยต้องการ” กับคำตอบจาก “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BioThai) ผู้คร่ำหวอดและติดตามสถานการณ์เรื่องนี้มาหลายทศวรรษ
- จริงไหม ไทยจะออกกฎเกณฑ์ห้ามซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ก่อมลพิษฝุ่นนั้น ทำไม่ได้ เพราะจะขัดข้อตกลงอาเซียน
- หากไทยจะปรับใช้ “โมเดลสิงคโปร์” แก้ปัญหาเรื่องนี้ มีความเหมือนความต่างทางบริบทสำคัญที่ต้องพิจารณาไหม อย่างไร
- ล่าสุด สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ออกมาชี้ว่า “การยุติการนำเข้าข้าวโพด ไม่ตอบโจทย์การแก้มลพิษฝุ่น” คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
- หากจะออกนโยบายและมาตรการ “ห้ามนำเข้าข้าวโพด-แก้วิกฤตมลพิษฝุ่น” ใครคือเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ในทางปฏิบัติ
- ต้องปลดล็อกอะไรบ้าง หากไทยจะไปสู่ทิศจัดการวิกฤตฝุ่นอย่างยั่งยืนจริง ๆ

1. จริงไหม ไทยจะออกกฎเกณฑ์ห้ามซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ก่อมลพิษฝุ่นนั้น ทำไม่ได้ เพราะจะขัดข้อตกลงอาเซียน
การนำเข้าข้าวโพดของไทยอยู่ภายใต้ความตกลงการนำเข้าเสรีสินค้าของอาเซียน ( ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) จริง ความตกลงนี้ระบุให้แต่ละประเทศต้องลดภาษีสินค้าเกษตรให้เป็นศูนย์ คือไทยและประเทศอื่นๆ มีพันธกรณีลดภาษีพวกนี้ลง ซึ่งเป็นเกณฑ์หลักสำคัญ (ตามความตกลง)
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะไม่นำเข้า ก็จะต้องมีเหตุผลในการอธิบาย ว่าเหตุผลอะไรที่จะไม่นำเข้า ซึ่งต้องไปดูข้อยกเว้นที่ระบุไว้ในมาตรา 7 ของข้อตกลงนี้ ซึ่งระบุชัดเจน ว่าแต่ละประเทศสามารถที่จะไม่ดำเนินการตามพันธกรณีนี้ก็ได้ ด้วยเหตุผลในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์ สัตว์และพืช เขียนไว้ชัดเจน
นั่นหมายความว่า การที่ประเทศไทยจะปฏิเสธการนำเข้า ตั้งกำแพงภาษี หรือกำหนดโควต้าในการนำเข้า ข้าวโพดข้ามพรมแดนก็สามารถทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าแต่ต้องไม่เป็นไปเพื่อกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ต้องคำนึงเช่นเดียวกัน หมายความว่า ประเทศไทยจะปล่อยให้มีการเผากันต่อไป(ในประเทศ) แต่ไปห้ามประเทศอื่น แบบนี้ไม่ได้
ถามว่าการนำเข้าสินค้าพวกนี้จากต่างประเทศ ในกรณีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินการแบบนี้หรือไม่อย่างไร ตอบได้ว่ามีสองระดับ
ระดับแรก เป็นการตกลงเรื่องของฝุ่นพิษข้ามพรมแดนตามอนุสัญญามลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งมีการลงนามมานานกว่า 21 ปี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย มีความคืบหน้าน้อยมาก ที่จะมีก็เป็นเรื่องของความร่วมมือในการแชร์ข้อมูล ซึ่งไม่ได้มีผลต่อการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย ถ้าไปดูการวิเคราะห์เรื่องนี้ หลายประเทศก็ระบุตรงกันว่า
- ไม่มีมาตรการแซงชั่นบังคับ
- เป็นเรื่องของความร่วมมือ ยกตัวอย่างเช่น มาตรการขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีมาตรการที่สามารถที่จะฟ้องร้อง หากมีการละเมิดข้อตกลง เป็นต้น
- เป็นวิถีอาเซียน ซึ่งถือเป็นกิจการภายในของแต่ละประเทศที่จะต้องดำเนินการ ไม่ไปแทรกแซงกัน ยืดหยุ่นกันไป และในที่สุดไม่สามารถบังคับใช้ได้
ทั้งนี้ กลไกของอาเซียนที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็มีมาแล้วตั้งแต่ปี 2002 แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ
ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความตกลง ATIGA ซึ่งเป็นความตกลงเรื่องการค้ากลับมีผลอย่างสำคัญเพราะตอบสนองผลประโยชน์ของบริษัทค้าวัตถุดิบที่ได้ประโยชน์ แต่ว่าขณะเดียวกัน ความตกลงในระดับอาเซียนเช่นเดียวกันเป็น agreement เหมือนกัน แต่ว่าเป็นด้านสิ่งแวดล้อมกลับไม่บังคับใช้
ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของบริษัทที่เกี่ยวข้องมองแค่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ไม่ได้มีพันธกรณีมาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย แม้กระทั่งเรื่องรัฐในอาเซียนเองก็ตาม ไม่ได้ให้ความสำคัญจริงจังในเรื่องนี้ นั่นคือระดับอาเซียนที่จัดการเรื่องนี้ไม่เวิร์ค

แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือกรณีประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเจอปัญหาเรื่องนี้ ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ว่าปัญหาเรื่องมลพิษอะไรในประเทศที่ข้ามพรมแดน กรณีสิงคโปร์ถือว่าเป็นเคสแรกเลยที่ได้รับผลกระทบจากการขยายพื้นที่การผลิตโดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย
สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำหลังจากที่กลไกอาเซียนทำไม่สำเร็จ ก็คือการออกกฎหมายภายใน เพื่อควบคุมกำกับดูแลเอกชนสิงคโปร์เอง หรือบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนการค้าในสิงคโปร์หรือประกอบการในสิงคโปร์ ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบเรื่องของปัญหามลพิษ
สิ่งที่สิงคโปร์ทำก็คือ ประการแรก ควบคุมดูแลตัวการผลิตของบริษัทสิงคโปร์ หรือบริษัทอื่นใดก็ตามที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจในสิงคโปร์ที่ไปผลิตและก่อให้เกิดปัญหามลพิษ
ประการที่สองคือไม่ใช่แค่การผลิตอย่างเดียว แต่รวมถึงการค้าด้วย เพราะฉะนั้นในกรณีเรื่องของฝุ่นพิษกับปาล์มน้ำมัน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันปาล์มสิงคโปร์ อย่างที่เราทราบกันดี สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าในเรื่องของธัญพืช ในเรื่องของวัตถุดิบเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก แม้กระทั่งน้ำมันที่เราเห็น บริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าปาล์มมีมากถึง 30 กว่าบริษัทเป็นต้น และที่สำคัญบริษัทกลุ่มแรกที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ ผู้ลงทุนรายใหญ่ในกิจการปาล์มน้ำมันของโลก ผู้ผลิตที่ไปขยายการผลิตก็เป็นบริษัทสิงคโปร์ด้วย
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สิงคโปร์ทำเป็นการออกกฎหมายภายในประเทศ แต่ว่าสามารถบังคับใช้ข้ามพรมแดนได้เลย เพราะว่าเป็นการดำเนินการควบคุมบริษัทที่อยู่ในเขตแดนของสิงคโปร์เอง ถ้าไปดูสินค้าที่เป็นประเด็นจะควบคุม ก็จะมีความตกลงหรือเป็นกลไกจัดการดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มาตรฐานและผลิตภัณฑ์ที่ก่อผลกระทบ ซึ่งกรณีปาล์มน้ำมันมันมี Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) เป็นมาตรฐานสำคัญ ซึ่งมีเงื่อนไขชัดเจนว่า จะต้องไม่ขยายพื้นที่การผลิตไปในพื้นที่ป่าเขตร้อนหรือป่าพรุ ซึ่งเป็นเงื่อนไขประกอบกันอันที่สามที่สามารถทำให้การดำเนินการ สามารถทำให้มีการบังคับใช้ได้ เป็นการเสริมตัวกฎหมายไปในตัว
อีกประเด็นที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือ ตัวประชาชน ภาคประชาสังคมหรือกลุ่มธุรกิจหรือกลไกทางสังคมของสิงคโปร์ หรือในประเทศอินโดนีเซียเอง ที่องค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ฟ้องร้องให้บริษัทเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบด้วย กฎหมายฉบับนี้ เปิดให้เอื้ออยู่แล้ว แต่ว่าก็มีแอคชั่นด้วย ไม่ใช่มีกฎหมายแล้วไม่มีคนแอคชั่น
การดำเนินการเหล่านี้ล้วนอาศัยกฎหมายควบคุมฝุ่นพิษข้ามพรมแดนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ออกมา ก็เลยทำให้กระบวนการนี้สามารถแก้ปัญหาได้ มากกว่าความตกลงอาเซียนเพียงอย่างเดียว


2. หากไทยจะปรับใช้ “โมเดลสิงคโปร์” แก้ปัญหาเรื่องนี้ มีความเหมือนความต่างทางบริบทสำคัญที่ต้องพิจารณาไหม อย่างไร
ถามว่าของไทยกับสิงคโปร์เหมือนกันไหม เหมือนกันเลย เพียงแต่เปลี่ยนจากปาล์มเป็นตัวข้าวโพดเท่านั้นเอง ต่างกันนิดเดียว ประเทศไทยมีพื้นที่การผลิต แต่สิงคโปร์ไม่มีพื้นที่การผลิต แต่ว่าผลกระทบที่มีต่อประชาชนชัดเจนว่ามีเหมือนกันทั้งสองประเทศ แต่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตด้วย
ถ้าเทียบว่าบริษัทสิงคโปร์ที่ค้าปาล์มน้ำมันใหญ่ระดับโลกใช่ไหม และของไทยใหญ่อันดับโลกด้วยไหม ใช่เลย อันดับหนึ่งของโลกด้วยซ้ำ ซึ่งบริบทคล้ายกันมาก ต่างกันแค่นิดเดียว
แล้วประเทศไทยทำแบบสิงคโปร์ได้ไหม ทำได้เลยครับ เป็นกฎหมายภายในเพื่อจัดการกับบริษัทเอกชนของไทยเอง ที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหามลภาวะ เหมือนที่เราเจอกันอยู่ทุกวัน อันนี้ทำได้เลยโดยไม่มีปัญหาอะไรเลย โดยดูทั้งตัวสเกลของพื้นที่การปลูกหรือการผลิตก็ตาม
อาจจะชัดกว่าสิงคโปร์ในแง่พื้นที่การผลิตข้าวโพดในเมียนมา ซึ่งเอกชนไทยเล่นทุกบทบาทเลยคือ
- ข้าวโพดส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซนต์ที่ปลูกในเมียนมาส่งมายังประเทศไทยมาป้อนอุตสาหกรรมของไทย
- บริษัทสำคัญที่ไปส่งเสริมการผลิตและไปทำการค้าที่นั่นก็เป็นบริษัทไทย เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ส่วนใหญ่ที่เป็นไฮบริด จากรายงานของ USCA ระบุว่าเกือบทั้งหมดเป็นของบริษัทไทยที่ค้าขายอยู่ มิหนำซ้ำตัวข้าวโพด บางส่วนที่ได้ส่งมาไทย ที่ป้อนอุตสาหกรรมภายในของเขา ก็มีโรงอาหารสัตว์ของไทยที่ไปลงทุนที่นั้น
เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจที่เป็นปัญหาเรื่องของฝุ่นพิษข้ามพรมแดนสามารถดำเนินการได้ภายในประเทศไทย เป็นอธิปไตยของประเทศที่ออกกฎหมาย
การออกกฎหมายไม่ได้หมายความว่าห้ามนำเข้า แต่กฎหมายนี้จะบอกว่า การนำเข้าต้องมีเงื่อนไข ซึ่งเป็นกระบวนการที่เริ่มพัฒนาแล้วในประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขในการสร้างความชอบธรรมหรือประชาสัมพันธ์มากกว่าการบังคับใช้จริงจัง
ในต่างประเทศมีการออกมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) ขึ้นมารองรับ ซึ่งเป็นมาตรฐานสมัครใจ ซึ่งต่างจากการส่งออกทุเรียนไปยังจีน มันต้องเป็นมาตรฐานบังคับ ใครไม่มี GAP ในทุเรียนหรือมังคุด ก็ส่งออกไม่ได้ เป็นเงื่อนไขของรัฐบาลจีนที่ออกข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อควบคุมไม่ให้มีไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพไม่ดีหรือมีสารพิษเป็นต้น คือมีมาตรฐาน GAP ภาคบังคับ
แต่ของไทย ณ ขณะนี้ เป็นมาตรฐานที่เรียกว่าสมัครใจ ในขั้นต้นก็โอเค เพื่อที่จะสร้างกติกาเรื่องนี้ร่วมกันระหว่างบริษัท หน่วยงานราชการ หรือเกษตรกรที่เกี่ยวข้องถึงมาตรฐานสมัครใจ
แต่ (ตอนนี้) จำเป็นแล้ว ที่จะทำให้มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานบังคับ หมายความว่า ถ้าไม่มี GAP ซึ่งรวมถึงเรื่องของการเผาซึ่งตรวจสอบย้อนกลับแล้วมาจากการเผาก็ไม่สามารถที่จะนำเข้าได้ หรือบริษัทถ้ารับซื้อก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐานเชิงบังคับ
ประเด็นของผมอยู่ตรงนี้ ตอนนี้มันเป็นแค่ซีเอสอาร์ หรือใช้คำว่าเป็นกระบวนการที่ถูกใช้ในการประชาสัมพันธ์ สร้างความชอบธรรม แต่ไม่ได้ปฏิบัติจริง ผมไม่ได้กล่าวถึงบริษัทใดนะ แต่ในทางปฏิบัติมันตรวจสอบได้ยากหรือได้มีการดำเนินการว่ามีการปฏิบัติจริง
แต่มีบางบริษัทก็นำไปประชาสัมพันธ์นะครับโดยที่ยังไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ ถ้าเราต้องการทำ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีจีนก็ดี ในหลายประเทศที่รับซื้อสินค้าอยู่นี้ หรือในประเทศไทยก็ดีที่เราส่งสินค้าเกษตรไปยังอียูเป็นต้น เรามี GAP นะ ไม่มีไม่ได้นะ ไม่มีเราไม่ส่งนะ หรือหลายประเทศไม่ให้นำเข้าเหมือนในจีนเป็นต้น อันนี้เราก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่จะจัดการ หมายความว่าการบังคับใช้กฎหมายตรงนี้ของรัฐก็จะต้องชัดเจนด้วยไปพร้อมกัน การออกมาตรฐานและการตรวจสอบการบังคับใช้ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ซึ่งบริษัทก็โฆษณานะครับว่าเขาตรวจสอบย้อนกลับได้ ตอนนี้ 100% ก็แสดงว่าทำได้ ก็นี้ไงรัฐต้องทำเลยเพราะบริษัทประกาศแล้วทั้งในประเทศไทยถ้าไปดูข่าว บริษัทเอกชนยังประกาศเองว่าของเขา 100 % ไม่ปลูกในพื้นที่ป่า ไม่เผาไหม้ 100% นี้ไงทำได้แล้วนี้ไง เพียงแต่ว่าคุณทำให้เป็นมาตรฐานบังคับ
อย่างไรก็ตาม ผมขีดเส้นใต้ไว้ว่า การแก้ปัญหานี้จะใช้กระบวนการเรื่องกฎระเบียบอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิต การปรับโครงสร้างการผลิตหรือการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้เขาสามารถปรับตัวในการประกอบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กันไปด้วย ก็คือ เกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในระบบก็ควรได้รับการสนับสนุนไปพร้อมกันด้วย โดยปรับกลไกของรัฐหรืองบประมาณให้มาสนับสนุนการปรับเปลี่ยนครั้งนี้
และขีดเส้นใต้อีกว่า การประกาศครั้งนี้ก็ทำไปพร้อมกันเลย ระหว่างการผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ และบังคับใช้กับทุกบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเลยในกระบวนการผลิตนี้และทำไปพร้อมกัน

3. ล่าสุด สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ออกมาชี้ว่า “การยุติการนำเข้าข้าวโพด ไม่ตอบโจทย์การแก้มลพิษฝุ่น” คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
(บทความ “ยุติการนำเข้าข้าวโพด ไม่ตอบโจทย์ แก้ฝุ่นพิษ” โดยพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยแพร่ผ่านสื่อ ฐานเศรษฐกิจ)
(ประการแรก) การให้เหตุผลในบทความก็คือว่า
คนอื่นยังทำได้เลย ทำไมเราต้องทำแบบนั้น ในเมื่อประเทศอื่นก็ยังสนับสนุนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องทำสิ ตรรกะเรื่องนี้ผมว่าแย่มาก คุณไม่แสดงความรับผิดชอบเลย คุณพร้อมจะทำธุรกิจที่ให้ได้ของถูก โดยอ้างว่า ถ้าเราไม่ทำ ประเทศอื่นก็ทำ ถ้าเราไม่ซื้อประเทศอื่นก็ซื้อ อย่างนี้แย่มาก
ประการที่สองคือ ขัดแย้งกันเอง ถ้าเราไปดูบทความนั้นตอนต้นได้พูดว่าเราทำได้อย่างโน้นอย่างนี้ แต่ตอนท้ายบอกว่า ที่เราทำ เพราะมีการค้าระหว่างประเทศ มีกฎเกณฑ์ จริงๆ ไม่ใช่ คุณจะทำได้ตลอดไป ตอนนี้มันมีการค้าระหว่างประเทศ เขาบอยคอตเรื่องนี้ อย่างเช่น การใช้พาราควอตในการเกษตรก็ถูกบอยคอต การเผาก็ถูกคัดค้าน การปลูกอ้อยที่ไปบุกรุกยึดที่ดินรายย่อยก็ถูกจัดการแบบนี้ การประมงแบบทำลายล้างก็ถูกจัดการ และบริษัทเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยน
และที่บริษัทนั้นพูดแสดงว่าอะไร ที่ผ่านมานั้นเขาก็ทำ เพราะมีการค้าระหว่างประเทศที่ต้องปรับตัว แสดงว่าเขาคำนึงถึงผลประโยชน์ตัวเองในต่างประเทศ แต่ในประเทศคนจะตาย ไม่สนใจเหรอ แล้วถ้าเราจะทำมาตรการแบบเดียวกับในต่างประเทศ คุณจะบอกว่าเอาที่อื่นมาแทรกก็ทำได้สิ คนในประเทศกำลังจะตาย
ในส่วนประเด็นที่อ้างว่า ยังขาด(วัตถุดิบข้าวโพด) อีก 2 – 3 ล้านตันนั้น มีวิธีการจัดการเยอะแยะเลยในเรื่องนี้ สภาเกษตรกรก็เคยเสนอไว้ที่ว่า คุณสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างไรต่อ ทำได้
อันที่หนึ่งคือคุณต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้นในประเทศ ไม่ใช่ผลิตแบบทำลายสิ่งแวดล้อมแบบนี้ มันทำลายตัวประสิทธิภาพเอง จริงๆ คุณสามารถยกระดับการผลิตได้ถ้าคุณทำแบบยั่งยืน
อันที่สองประเทศไทยมีวัตถุดิบอื่นที่สามารถมาแทนได้ คุณต้องปรับได้ อย่างเช่น ปลายข้าว การใช้พวกแหล่งโปรตีนมาเสริมในการผลิตสัตว์แต่ละชนิดมันทำได้ แต่ก็ไปอ้างเรื่องโรงงานและต้นทุน แม้กระทั้งเรื่องของความจำเป็น หากจะต้องนำเข้าตัวผลผลิตอื่นมาทดแทนข้าวโพดก็ทำกันมาตลอด อย่างเช่น การนำเข้าข้าวสาลี แต่ต้องไม่กระทบกับชาวบ้าน ถ้ามีเงื่อนไขว่าต้องรับซื้อผลผลิตภายในก่อน ก็ไม่มีใครไปคัดค้านอยู่แล้ว
ซึ่งมีการจัดการเรื่องนี้ได้อยู่แล้วหลายวิธี หนึ่งปรับประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มขึ้น อันที่สองคือหาแหล่งวัตถุดิบอื่นที่มีความหลากหลาย ทำไมต้องไปพึ่งตัวข้าวโพดตัวนี้ ซึ่งสามารถนำเข้าข้าวสาลี มาแทนได้เลย ข้าวสาลีที่ไม่ใช่ฟู๊ดเกรด เป็นเกรดอาหารสัตว์

4. หากจะออกนโยบายและมาตรการ “ห้ามนำเข้าข้าวโพด-แก้วิกฤตมลพิษฝุ่น” ใครคือเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ในทางปฏิบัติ
คนที่ออกประกาศให้มีการนำเข้าก็คือกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการอาหาร โดยมีตัวแทนบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐ และมีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวโต๊ะและออกประกาศ ต้นเรื่องเลยคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีหน่วยงานของรัฐและเอกชนอยู่ในนั้น
รัฐมนตรีคนที่สองคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะในทางกฎหมายเป็นคนกำกับดูแลมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติซึ่งเป็นคนกำกับดูแลการออก GAP และการออกมาตรฐานอื่นๆ เป็นต้น ถ้ารัฐมนตรีเกษตรฯ เห็นว่า หรือรัฐบาลเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่หรือดำเนินการ คนที่ดำเนินการก็คือ อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศเรื่อง GAP ซึ่งจะทำให้สมูธ ก็คือ ไม่ได้ห้ามนำเข้าแต่เรามีเงื่อนไขการนำเข้า การนำเข้าต้องไม่มาจากพื้นที่เผาไหม้ที่ก่อมลพิษข้ามพรมแดน เราก็ประกาศให้ GAP เป็นมาตรการเชิงบังคับและกำหนดเรื่องนี้อย่างชัดเจน แทนที่จะเป็นมาตรการสมัครใจ
ถ้าถามว่าลำพังรัฐมนตรีสองกระทรวงนี้สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ไหม ในทางการบริหารจัดการประเทศ สองท่านนี้ก็ไม่พอ เพราะว่าการที่เราจะมีเหตุผลในระดับที่เราห้ามหรือมีเงื่อนไขการนำเข้า พวกนี้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากอีกสองกระทรวงก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูแลเรื่องของควันพิษทั้งหมด รวมทั้งควันพิษข้ามพรมแดนด้วย ก็คือต้องมีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ ในเชิงประจักษ์ ที่จะไปดำเนินการประกาศนโยบายเรื่องนี้ซึ่งสามารถทำได้
รัฐมนตรีที่สี่คือ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขแค่เพียงแต่ดูแลสุขภาพประชาชนตามอำนาจหน้าที่อย่างเดียวก็ทำได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องยืนยันชัดเจนในการปกป้องประโยชน์ประชาชน ต้องพูดถึงผลกระทบพวกนี้อย่างชัดเจน
ใน(ระดับ) ระหว่างประเทศ การมีเหตุผลแบบนี้ทุกประเทศในโลกก็เข้าใจ รวมทั้งประเทศคู่ค้าของเราด้วย
นี่คือสองรัฐมนตรีหลักที่ดูแลตามกฎหมาย และสองรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายสนับสนุนต้องดำเนินการ
แต่ว่าท้ายที่สุดที่เกี่ยวข้องก็คือ แน่นอน ผู้นำรัฐบาล คือท้ายที่สุดที่ผมบอกว่าประกาศ มันต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็คือนายกรัฐมนตรีไปเป็นประธาน ถ้านายกรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สำคัญ และชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่ต้องจัดการโดยให้บริษัทมารับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ชี้กล่าวหาประชาชนเพียงฝ่ายเดียว นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย
นี้คือฝั่งกลไกของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ ในทางกฎหมายมีสองกระทรวงหลัก ในทางการสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้มีสองกระทรวงคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข และการดำเนินการเรื่องนี้ที่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น นายกรัฐมนตรีก็ต้องแสดงบทบาทที่เป็นผู้นำดูแลสุขภาพของประชาชนด้วย

5. ต้องปลดล็อกอะไรบ้าง หากไทยจะไปสู่ทิศจัดการวิกฤตฝุ่นอย่างยั่งยืนจริง ๆ
ถ้าพูดตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องมีกฏหมายก็ได้นะ ที่พูดมาทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายก็ได้ ถ้าฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลมีเจตจำนงค์ที่ต้องการปกป้องผลผลิตของประชาชน พอ ๆ กับปกป้องบทบาทของเอกชนในการลงทุน เรื่องนี้สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอกฎหมาย
และถ้าจะให้มีความยั่งยืน ไม่รอเจตจำนงค์ของรัฐบาลอย่างเดียว ก็ต้องมีกฎหมายแบบเดียวกับสิงคโปร์ก็ช่วยได้ อันที่สามก็คือ การเปลี่ยนแปลงแบบแผนเรื่องการผลิตของประเทศ ที่มุ่งเน้นการผลิตเชิงเดี่ยว โดยการปลูกพืชราคาถูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรม อันนี้ต้องเปลี่ยน ยังไงก็ต้องเปลี่ยน เพราะไม่ดีต้องสิ่งแวดล้อม ไม่ดีต่อเกษตรกรด้วย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างมากมายอย่างในปัจจุบัน อันนี้ต้องปรับเปลี่ยน การผลิตเชิงเดี่ยวที่ผลิตวัตถุดิบราคาถูกที่ป้อนอุตสาหกรรม ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศน์ที่ไม่ก่อผลกระทบ
