จังหวัดเหนือตอนบน “ยังสาหัส” – จุดความร้อนลาวเพิ่มบ่ายนี้

ค่าฝุ่น 14 จังหวัดยังพบเกินมาตรฐาน 29 จุด เมื่อ 17.00 น. กรมควบคุมมลพิษคาดฝุ่นเหนือ “สาหัสยาวถึง 7 เม.ย.” ขณะแผนที่จุดความร้อน GISTDA เผยบ่ายนี้ จุดความร้อน สปป.ลาว พุ่ง

นายกฯ แถลงอีกผ่านโฆษกฯ “อาเซียนบอกพร้อมช่วยขับเคลื่อน-ผ่านกลไกอาเซียน” 

ทนาย“ภูมิ” เสนอ “ร้องศาลรัฐธรรมนูญ เอาผิดนายก” ด้าน สภาลมหายใจเชียงใหม่เสนอสาธารณะ “13 ข้อเสนอนโยบายแก้มลพิษฝุ่นที่ต้องการ”

(ภาพ : สถานีฝุ่น)

จังหวัดเหนือตอนบน “ยังสาหัส” – จุดความร้อนลาวเพิ่มบ่ายนี้

“พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (เริ่มมี-มีผลต่อสุขภาพประชาชน) รวม 29 จุด (จากการตรวจวัดทั้งหมด 32 จุด)ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ 

โดยมากสุดที่เชียงใหม่ 6 จุด รองลงมาลำปาง 4 จุด เชียงรายและแม่ฮ่องสอนจังหวัดละ 3 จุด ลำพูนและน่าน 2 จุด และจังหวัดละจุดใน กำแพงเพชร ตาก พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และแพร่” Air4Thai รายงานเมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ (31 มี.ค. 2566)

(ภาพ : Air4Thai)

ขณะที่ ข้อมูลดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS แสดงให้เป็นถึงจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้อย่างชัดเจน ทั้งในเชิงปริมาณ และพื้นที่ที่ขยายเพิ่มจากช่วงเช้าที่จุดความร้อนพบในเมียนมาและไทยเป็นหลัก ในช่วงบ่ายพบจุดความร้อนขยายเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในเขต สปป.ลาว

คาดฝุ่นเหนือ “สาหัสยาวถึง 7 เม.ย.”

“1 – 6 เม.ย. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น  ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่

พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 1 – 7 เม.ย. 2566 อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ 1- 3 เม.ย. 2566 สถานการณ์อาจบรรเทาลงได้บ้างเนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น” กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 

ดร. เกา กิม ฮวน (ซ้าย) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ขวา) (ภาพ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

“อาเซียนบอกพร้อมช่วยขับเคลื่อน-ผ่านกลไก” นายกฯ

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงสถานการณ์หมอกควันข้ามแดน ที่เป็นความท้าทายที่รุนแรงของภูมิภาค พร้อมขอรับการสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียนในการผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขอให้ช่วยประสานหารือ หรือสนับสนุนการจัดการประชุมจัดอย่างเร่งด่วนกับประเทศสมาชิกเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะการลดจำนวนจุดความร้อน (hotspot) ให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นให้ได้โดยเร็ว เพราะส่งผลไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทั้งทางสุขภาพ และการท่องเที่ยว 

ซึ่งเลขาธิการอาเซียนกล่าวเห็นด้วยถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งอาเซียนมีกลไก (mechanism) ที่จะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือ และพร้อมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” 

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดร. เกา กิม ฮวน (Dr. Kao Kim Hourn) เลขาธิการอาเซียน เข้าเยี่ยม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วานนี้ (30 มี.ค. 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ภาพ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

“ภูมิ” เสนอ “ร้องศาลรัฐธรรมนูญ เอาผิดนายก” 

ภูมิ วชร เจริญผลิตผล ผู้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองจังหวัด เนื่องจากรัฐบาลได้ปล่อยปละละเลยในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จนทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งยกฟ้องเมื่อ 28 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดเผย ผ่านเฟสบุ๊ก กูร์ มัว วานนี้ โดยเห็นว่า ควรมีการนำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้พื้นที่ภาคเหนือมี PM 2.5  เกินมาตรฐานต่อเนื่องหลายวันขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“จากประสบการณ์นำปัญหา PM 2.5  ไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองที่ผ่านมา  เห็นชัดว่าปัญหา PM 2.5   ช่วงฤดูร้อนในระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่า 3 ปีมานี้ไม่ได้รับการแก้ไขโดยรัฐบาล  แม้มีประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา  เพราะ PM 2.5  มีอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต

การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา PM 2.5 โดยความเห็นผมต้องทำให้การเรียกร้องดังกล่าวมีสภาพบังคับให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาโดยผ่านองค์กรที่มีอำนาจออกคำสั่งบังคับรัฐบาลได้  และการที่ผมนำปัญหา PM 2.5  ไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลที่ผ่านมาเพื่อหวังให้ศาลมีคำสั่งบังคับรัฐบาลแก้ปัญหา  แต่การฟ้องคดีดังกล่าวแก้ปัญหาได้เฉพาะเหตุตามฤดูกาลเท่านั้น   

ผมเห็นว่าจำเป็นต้องนำปัญหา PM 2.5  ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้พื้นที่ภาคเหนือมี PM 2.5  ในช่วงฤดูร้อนเกินมาตรฐานต่อเนื่องหลายวัน  ซึ่งเหตุการณ์มีมาต่อเนื่องหลายปี  ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  เพื่อรัฐบาลแก้ปัญหา PM 2.5  ให้ลดลงและหมดไปโดยเร็ว โดยกำหนดระยะเวลาเห็นผลชัดเจน 

ด้วยเหตุที่ผมไม่มีสื่อ,  มวลชน,  และทุนทรัพย์  แต่เห็นประเทศมีปัญหา  และตัองการมีส่วนร่วมกับประชาชนเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหา  ผมเลือกวิธีดังกล่าวซึ่งเหมาะสมกับสภาพและฐานะผม   ผมหวังว่าวิธีเรียกร้องของผมนี้แม้ทำโดยลำพังคนเดียวจะทำให้บังคับรัฐบาลแก้ปัญหา PM 2.5  ได้” ภูมิ วชร เปิดเผย

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ (ภาพ : The Reporters)

13 ข้อเสนอนโยบาย “สภาลมหายใจเชียงใหม่”

“PM2.5 มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แนวโน้ม 16 ปีที่ผ่านมา จากงานวิจัย มีผู้สูญเสียชีวิตอย่างน้อย ปีละ 40,000 คน ผมเชื่อว่าจะมากขึ้น ภาคธุรกิจคุยให้ฟังว่าปัญหาฝุ่นส่งผลกระทบเศรษฐกิจปีละนับแสนล้าน และมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างยิ่ง

ซึ่งเป็นชะตากรรมที่รับผิดชอบ แต่รัฐบาลชุดนี้พิสูจน์แล้วว่าแก้ไม่ได้” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวใน เวทีนโยบายสาธารณ: ข้อเสนอภาคประชาสังคมด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่อพรรคการเมือง ที่จัดขึ้นวานนี้ (30 มี.ค. 2566)

โดยชัชวาลย์เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาหลาย ๆ ด้าน แบ่งเป็น

  1. ต้องมีการศึกษาหาที่มาของแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ให้แน่ชัด มาจากในประเทศ และนอกประเทศเท่าไหร่
  2. ต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชน เนื่องจากปัจจุบัน ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่รู้ว่า ทางภาครัฐดำเนินการชิงเผา ทำแนวกันไฟ ตรงไหน
  3. สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง PM2.5 อย่างชัดเจนต่อประชาชน
  4. ต้องออกกฎหมายบริหารจัดการอากาศสะอาด ปัจจุบันใช้กฎหมายป้องกัน บรรเทาสาธารณภัยที่ยังล้าหลัง
  5. เปลี่ยนการแก้ปัญหาโดยสั่งการจากบนลงล่าง เป็นการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นแกนประสาน ภาคส่วนอื่น ๆ ร่วมสนับสนุน โดยเป็นการแก้ปัญหาตามสภาพ และบริบทของพื้นที่จริง
  6. มีนโยบายปลดล็อกให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีน้อยเกินไปไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน
  7. เสนอการจัดการบริหารเชื้อเพลิง ให้การใช้ไฟทุกระบบเข้ามาสู่ระบบการควบคุม ชาวบ้านเผาที่ไหนก็ต้องเข้ามาสู่ระบบ รัฐเผาที่ไหนก็ต้องเข้ามาสู่ระบบการจัดการบริหารเชื้อเพลิง และการบริหารเชื้อเพลิงของรัฐต้องเปิดเผย และโปร่งใส
  8. ต้องมีนโยบายการลดพืชเชิงเดี่ยวในประเทศ และต้องมีมาตรการจัดการกับบริษัทที่ลงทุนพืชเชิงเดี่ยวในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบกลับมาถึงในประเทศ
  9. ต้องมีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศทุกตำบล
  10. ต้องมีการประกาศภาระวิกฤตทางสุขภาพ เมื่อคุณภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน รวมถึงต้องมีระบบสวัสดิการในการดูแลรักษาด้วย เพราะปัจจุบันประชาชนดูแลตังเองทั้งหมด
  11. เสนอพลังงานสะอาด ขนส่งมวลชน โรงงานอุตสาหกรรม ต้องปลอดมลพิษ โดยจูงใจโดยใช้นโยบายลดหย่อนภาษีก้าวหน้า
  12. เลิกปลูกป่าในป่า เพราะเป็นการทำลายป่ามากมาย แต่ต้องหันมาเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง และต้องจัดการบริหารพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
  13. เสนอให้มีนโยบายสนับสนุนการรวมตัวกันของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหามลพิษ เพราะว่าทุกคนมีส่วนในการสร้างมลพิษ ทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย

รับชม เวทีนโยบายสาธารณ: ข้อเสนอภาคประชาสังคมด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่อพรรคการเมือง