คาดหนักไปตลอดสัปดาห์ จังหวัดเฝ้าระวัง “น่าน เชียงราย” ด้านกรมอุทยานสั่งปฎิบัติการเชิงรุก “เคาะประตูบ้าน คุมเข้มไฟป่า” ขณะข้อเรียกร้อง “ประกาศเขตภัยพิบัติ” ยังคงไร้แววจากรัฐบาล
ฝุ่นเหนือยังหนัก จับตาเชียงใหม่
เมื่อเวลา 20.00 น. วันนี้ (29 มี.ค. 2566) สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงหนักต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ในเชียงรายบรรเทาลงบ้าง แนวโน้มฝุ่นเชียงใหม่จะรุนแรงขึ้น
“พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 24 จุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ มากสุด 5 จุดในจังหวัดเชียงใหม่ ตามด้วย 4 จุดในลำปาง 3 จุดในเชียงรายและแม่ฮ่องสอน 2 จุดในลำพูน น่านและตาก และ 1 จุดในพะเยาและแพร่
สูงสุด 3321 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ ต.เวียงพานคำ อ.แม่สาย เชียงราย รองลงมา 318 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว เชียงใหม่” ข้อมูล Air4Thai ระบุ
บัณรส บัวคลี่ หนึ่งในแกนนำภาคีสภาลมหายใจเผยผลการติดตามสถานการณ์ฝุ่นเชียงใหม่ ล่าสุดว่า แนวโน้มฝุ่นจากไฟป่ารอบนอกจะถูกพัดเข้าพื้นที่เมืองเชียงใหม่คืนนี้ ด้วยปัจจัยหลักสภาพอากาศและทิศทางลม พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกเครือข่ายระดมห้ามการเผาโดยด่วน
“ผมทำแบบจำลองลมในอีก 24 ชม ข้างหน้า ด้วย hysplit trajectory ลมระดับ 10 ม / 50 ม./ 100 ม. เข้าสู่เขตเมืองเขียงใหม่ทั้งหมด ทุกระดับชั้นลม
เข้าเวียงเต็มๆ หางดง ปง น้ำแพร่ ออบขาน โซนใกล้เมือง มีญาติพี่น้องเกี่ยวข้องบอกเขาหยุดเถอะครับ ลามทั้งวันคืนจนบัดนี้ไม่จบ มันเป็นต้นลมเข้าเมืองเชียงใหม่ ทำให้ค่าฝุ่นบ่ายนี้ไม่ยก เช้าพรุ่งนี้จะถึงสาหัส คนเดือดร้อนเป็นแสนๆ ระดมได้ ระดมเถอะครับ” บัณรส ระบุในโพสต์เฟสบุ๊ก

คาดหนักไปตลอดสัปดาห์ เฝ้าระวัง น่าน เชียงราย
กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝุ่นโดยรวมในเขตภาคเหนือพรุ่งนี้จะอยู่ระดับสีส้ม “เริ่มมีผลต่อสุขภาพ” โดยมี 4 จังหวัดต้องเฝ้าระวังคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่านและเชียงราย และหลังจากนั้น น่านและเชียงรายจะเป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องไปตลอดสัปดาห์ (31 มี.ค.- 5 เม.ย.) เช่นเดียวกับสถานการณ์ฝุ่นโดยรวมของ 17 จังหวัดภาคเหนือที่จะอยู่ระดับสีส้มไปตลอดสัปดาห์เช่นกัน

กรมอุทยานสั่งปฎิบัติการเชิงรุก เคาะประตูบ้าน คุมเข้มไฟป่า
อรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งทุกอุทยานฯ ยกระดับ ปฏิบัติการเชิงรุก คุมเข้มไฟป่า กระจายกำลังเคาะประตูบ้านทำความเข้าใจ “ห้ามเผาป่า” หากพบการกระทำความผิดจับกุมดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
“สั่งการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการเชิงรุก หยุดการเผาป่า และยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรี
โดยให้ปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤต หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง ระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์ เครื่องมือ อากาศยาน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง และปฏิบัติการค้นไฟอย่างเข้มข้น เนื่องจากขณะนี้ปัญหาไฟป่าเป็นวิกฤตระดับชาติ
ขอทุกหน่วยงาน ร่วมกับฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหาไฟป่า เคาะประตูบ้านเพื่อประชาสัมพันธ์และป้องปรามการลักลอบเผาป่า หากพบการกระทำความผิดจับกุมดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
และเน้นย้ำความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ สามารถบัญชาการสถานการณ์ได้ ต้องมีการแสดงสถานะตำแหน่งระหว่างปฏิบัติงานตลอด เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ให้มีการบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า (WAR ROOM) อย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังอย่าให้ไฟป่าลุกลาม และขอให้จัดทำแผนการ มาตรการลดและจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์รายพื้นที่ด้วย”
อรรถพล กล่าวในการประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน และการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมมอบนโยบาย การยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต ผ่านระบบ VDO Conference จากอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ วันนี้

ไร้แวว “ประกาศเขตภัยพิบัติ” จากรัฐบาล
“นายกรัฐมนตรียอมว่าปัญหา และผลกระทบจากหมอกควันฝุ่นพิษหรือ PM 2.5 ในขณะนี้เป็นวาระของชาติ ที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาทั้งต้นทางกลางทาง และปลายทาง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนเพื่อส่วนรวม
นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้ส่งหนังสือไปขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วในหลายประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็เกิดปัญหาคล้ายกันคือประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความร่วมมือต้องอาศัยการเข้าไปทำความเข้าใจ
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไทยได้มีการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องของการดับไฟป่า โดยเฉพาะปัจจุบันอาศัยการทำฝนหลวงเข้ามาช่วยแต่ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละพื้นที่สภาพอากาศต่างกันไม่ใช่ว่าจะขึ้นทำฝนหลวงแล้วฝนจะตกไปในพื้นที่เลย และตกก็ตกไม่ทั่วถึง” The Reporters รายงาน คำสัมภาษณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 วันนี้ (29 มี.ค. 2566)
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีข้อสงสัยในสังคมที่ภาครัฐ ไม่ประกาศพื้นที่ประสบภัยภิบัติจากปัญหาหมอกควัน และฝุ่นพิษ หรือ ฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะภาคเหนือที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แต่คาดว่า เป็นหน้าที่ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องพิจารณาโดยตรง
“แต่แม้จะไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ กระทรวงสาธารณสุขก็จะเตรียมความพร้อมรักษาผู้ป่วยซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษดังกล่าว” อนุทินกล่าวหลัง กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ และสาธารณสุข รับมือการรักษาประชาชน ที่เจ็บป่วยจากผลกระทบ ปัญหา หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
“ข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-19 มีนาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 1,730,976 ราย โดยสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 228,870 ราย กลุ่มโรคที่พบสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ” นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยวานนี้ ถึงกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศไทย ที่สูงเกินค่ามาตรฐานในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่

หลากความเห็น “ฝุ่น-ทางแก้” จากนักการเมือง
“ปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทั้งพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมารักษา ประมาณ 3,500 คน เฉพาะที่อำเภอแม่สาย มีประมาณ 370 คน ส่วนใหญ่มีอาการแสบจมูกและเจ็บคอ นอกไปจากนี้เมืองใหญ่อย่างจังหวัดเชียงใหม่ก็มีค่าฝุ่นดังกล่าวอยู่ 237 US AQI และเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกครั้งหนึ่ง
ปริมาณฝุ่นที่สูงขนาดนี้สร้างผลกระทบเชิงลบทั้งสุขภาพของพี่น้องประชาชนบนดอย ทั้งระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ต้องซบเซาและเสียหายจากพิษฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะเครื่องยนต์การท่องเที่ยวที่สำคัญของคนเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ
พรรคเพื่อไทยมีมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเบื้องต้นที่เคยเสนอไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- ระยะสั้น (แก้ไขทันที) หน่วยงานรัฐต้องแจ้งเตือนค่าฝุ่นล่วงหน้าให้ประชาชน กรณีฝุ่นสูงจะมีการอพยพกลุ่มเสี่ยงให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงสั่งหยุดโรงเรียนเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้จะบูรณาการกับหน่วยงานที่มีกำลังคนและอุปกรณ์ เช่น กองทัพและมหาดไทยให้ไปช่วยดับไฟป่าได้ทันท่วงที
- ระยะกลาง เพื่อไทยจะประสานกับกรมชลประทานให้ปล่อยน้ำเข้านาหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อเปลี่ยนตอข้าวให้เป็นปุ๋ย สำหรับอ้อยจะประสานโรงงานน้ำตาลให้ลงทุนตัดอ้อยไถกลบแทนการเผา ควบคู่กันไปจะมีการปลูกต้นไม้เพื่อดักจับฝุ่น และจูงใจให้คนหันมาใช้รถพลังงานสะอาดด้วยมาตรการทางภาษี
- ระยะยาว ต้องมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดฯ ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการปัญหาฝุ่น บังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันยุติปัญหาฝุ่นทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือเกษตร ไม่เผา เพื่อจัดการฝุ่นให้ถึงต้นตอ” จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าววันนี้
นิติพล ผิวเหมาะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว กรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า เป็นอำนาจของผู้ว่าทั่วประเทศ ไม่ว่าอำนาจเคอร์ฟิว หรือการสั่งหยุดใช้ยานพาหนะซึ่งถือเป็นสาเหตุรองจากการเผาในที่โล่งแจ้ง พร้อมบอกด้วยว่า เพราะคนไทยไม่ร่วมมือกันจึงไม่สามารถดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาได้ โดยกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องใช้ระดับรัฐบาลในการแก้ปัญหา
“สำหรับเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับรัฐบาล ถือเป็นวาระแห่งชาติแต่ก็ยังโบ้ยไปให้ผู้ว่าฯ ทั้งที่รู้ดีว่าปัญหาใหญ่ที่สุดมาจากการเผาพืชผลการเกษตร และไฟป่าที่ฝุ่นควันลอยข้ามพรมแดนมา โดยมีนายทุนยักษ์ใหญ่การเกษตรไทยได้ประโยชน์จากการไม่ออกนโยบายควบคุมของรัฐ
สิ่งที่พวกท่านต้องทำคือเรียกนายทุนมาคุย และต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศในระดับผู้นำคุยกันเท่านั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและเร็วที่สุด แต่ท่านโบ้ยไปที่ผู้ว่าฯ โบ้ยไปเรื่องควันรถยนตร์ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาหลักของสิ่งที่กำลังเกิดเวลานี้ ถามหน่อยว่าผู้ว่าฯจะเอาอำนาจอะไรไปคุยกับผู้นำเมียนมา ผู้นำลาว หรือเจ้าสัวนายทุน
ถ้าท่านอยากให้ผู้ว่าฯ มีส่วนในความรับผิดชอบด้วย อันดับแรกเลยคือควรสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับจังหวัด มาจากการเลือกตั้งก่อน แล้วกระจายงบและอำนาจไปอยู่ที่เขา ปภ.หน่วยดับเพลิง หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้องต้องมอบให้ท้องถิ่นตัดสินใจจริงๆ ถึงวันนั้นถ้ามีปัญหาในพื้นที่อีกท่านค่อยไปโทษผู้ว่าฯ แต่ตอนนี้ ท่านและรัฐมนตรีทั้งหมดในรัฐบาลนี้ต้องรับไปเต็มๆ เพราะอำนาจในการแก้ปัญหาทั้งหมดมีอยู่เต็มมือพวกท่าน เป็นชายชาติทหารกันทั้งนั้น ถึงเวลารับผิดชอบก็รู้จักแอ่นอกรับผิดชอบบ้าง อย่าเอาแต่โยนปัญหาให้ลูกน้องมันไม่สง่างามครับ” นิติพลให้ความเห็นผ่านเฟสบุ๊ก