กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประกาศวันนี้ (29 มี.ค. 2566) “ไม่เลือกพรรคการเมือง ที่เอาเหมืองแร่โปแตช” หลังยื่นศาลปกครองอุดร “ฟ้องเพิกถอนประทานบัตรและรายงานอีไอเอ โครงการเหมืองโปแตซอุดร” และเจ้าหน้าที่ศาลลงรับหนังสือเป็นคดีสิ่งแวดล้อม เลขที่ 1/2566
ดู คำฟ้อง_คดีโปแตชอุดรธานี_ฉบับเผยแพร่สาธารณะ

“พวกเราคือชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้รวมตัวกันคัดค้านโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2544 ในนาม “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” โดยใช้กระบวนการต่อสู้ผ่านอำนาจอธิปไตยของรัฐทั้ง 3 ฝ่ายกล่าวคือ
1. อำนาจนิติบัญญัติ ได้แก่ การร่วมผลักดันข้อเสนอในรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติ ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมกับรัฐ เพื่อบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน, คัดค้านต่อ ส.ส.และส.ว. ในการตรากฎหมายแร่ ตั้งแต่พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2545 จนถึงพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 อันเป็นการละเมิดแดนกรรมสิทธิ์ของประชาชน โดยการอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดินที่มีความลึกจากผิวดินเกินกว่า 100 เมตร รวมถึงนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ กฎกระทรวง ระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้เข้ามากอบโกยเอาทรัพยากรบ้านเราไปขาย นอกจากนี้ในอำนาจนิติบัญญัติระดับท้องถิ่น ซึ่งก็คือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้มีมติไม่เห็นชอบกับโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี อีกด้วย
2. อำนาจบริหาร กลุ่มอนุรักษ์ฯ มีการยื่นข้อเรียกร้องคัดค้านโครงการฯ ตั้งแต่ระดับนายก อบต. กระทั่งถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งผ่านมาแล้วทั้งหมด 7 คน ทั้งรัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลที่อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งหนึ่งที่เราพบว่าไม่เคยแปรเปลี่ยน ก็คือในแต่ละยุคแต่ละสมัยทุกรัฐบาลต่างผลักดันเหมืองแร่โปแตช เพียงแต่แตกต่างกันที่วิธีการและอำนาจที่มีอยู่ในมือขณะนั้น โดยเฉพาะในยุค คสช. ซึ่งได้สร้างบาดแผลร้าวลึกและแสนเจ็บปวดที่สุด คือการขนเอาชาวบ้านจากหมู่บ้านเข้าไปประชาคมเรื่องเหมืองในค่ายทหาร และการจัดประชุมสภาอบต. โดยการเกณฑ์เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอส. มาปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมแม้แต่แสดงความคิดเห็น
ดังปรากฏชัด เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายน ปี 2565 รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ทิ้งทวนก่อนยุบสภา ด้วยการอนุมัติโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน ให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ภายใต้ ‘กลุ่มทุนอิตาเลียนไทย’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 4 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ของอ.เมือง และอ.ประจักษ์ศิลปาคม รวมเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ โดยประทานบัตรมีอายุยาวนานถึง 25 ปี คือปี 2565-2590

3. อำนาจตุลาการ กลุ่มชาวบ้าน ใช้ช่องทางการต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรม โดยการฟ้องศาลปกครองอุดรธานี มาแล้ว 1 ครั้ง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เพิกถอนรายงานในใบไต่สวน ทั้ง 4 คำขอ ตามประทานบัตร และเพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการต่อเนื่องตามรายงานในใบไต่สวน ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษา ให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้องและที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี พิจารณาคำขอประทานบัตรของบริษัทเอพีพีซี ใหม่ ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด “รัฐบาลประยุทธ์” ก็ลุแก่อำนาจโดยไม่ฟังอำนาจตุลาการใช้อำนาจบริหารอนุมัติอนุญาตประทานบัตรให้นายทุนทำเหมืองโปแตชวันนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯจำเป็นต้องใช้การต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมของอำนาจตุลาการอีกครั้งเพื่อฟ้องเพิกถอนประทานบัตรโครงการฯ
อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าอำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน ซึ่งพิสูจน์ได้จากการยืนหยัดต่อสู้ยับยั้งด้วยสองมือสองเท้าของเรามายาวนานกว่า 22 ปี ถึงแม้โครงการฯ จะได้รับประทานบัตร ยิ่งทำให้เราต้องยืนหยัดเข้มแข็งและมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด อนึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจึงขอประกาศว่า “เราไม่เลือกพรรคการเมือง ที่เอาเหมืองแร่โปแตช” ที่จะแอบอ้างอำนาจของประชาชนเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพื่อกลับมากดหัวเราอีกต่อไป เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คำประกาศ ระบุ

ยื่นศาลปกครอง ”ฟ้องเพิกถอนฯ“
เมื่อเวลา 09:00 น. วันนี้ (29 มี.ค. 2566) ตัวแทนชาวบ้านราว 200 คนจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เดินทางไปศาลปกครองอุดรธานี (ถนนอุดร–หนองคาย) ต.บ้านขาว อ.เมือง จ.อุดรธานี และยื่นฟ้องต่อศาลให้เพิกถอน การออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี รวมถึงกระบวนการ และขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับการออกประทานบัตรดังกล่าว
“คดีนี้ มณี บุญรอด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 116 คน ได้มอบอำนาจให้ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ดำเนินการฟ้องหน่วยงานรัฐ จำนวน 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 2 คณะรัฐมนตรี ที่ 3 คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่ 5 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ที่ 6 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่ฯ ที่ 7 และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 8
โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 116 ราย ขอให้ศาลมีคำพิพากษา และคำสั่ง 4 ข้อดังนี้
1. พิพากษาให้ ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ทั้ง 4 แปลง ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นประทานบัตรที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนประทานบัตรดังกล่าวเสีย
2. พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการเพื่อพิจารณาประกอบการออกประทานบัตร ทั้งหมด โดยให้มีผลนับแต่วันที่จัดทำเอกสาร
3. พิพากษาให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้ง 4 แปลง ที่ได้ให้ความเห็นชอบโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 และรับรองโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 เนื่องจากได้ใช้ข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าว และไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
4. พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการออกประทานบัตรของหน่วยงานราชการ
โครงการเหมืองแร่ดังกล่าวเป็นของ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติโครงการดังกล่าวเมื่อปี 28 มิ.ย. 2565 และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดินให้กับบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 25 ปี (2565 – 2590)
ทั้งนี้ สืบเนื่องระหว่างเดือนมิถุนายน–กันยายน ปี 2565 รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ทิ้งทวนก่อนยุบสภา โดยการอนุมัติโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน ให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ภายใต้ ‘กลุ่มทุนอิตาเลียนไทย’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 4 แปลง ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ โดยประทานบัตรมีอายุยาวนานถึง 25 ปี คือปี 2565-2590 แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พบว่ากระบวนการในการขออนุญาตประทานบัตร มีความไม่ถูกต้องเหมาะสมตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงได้ดำเนินการฟ้องคดีปกครอง” มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) เปิดเผย
