“ทำไปแล้ว(ที่ควรทำ)”นายกฯ-รัฐมนตรี ตอบคำถาม “แก้วิกฤตฝุ่น(ข้ามแดน)”

“สั่ง กต. ประสานความร่วมมือต่างประเทศแล้ว กรณีฝุ่นข้ามพรมแดน” นายกรัฐมนตรีกล่าวหลังประชุมครม. 

ด้านรมว. มหาดไทยกล่าว “ผู้ว่าทั่วประเทศเป็นผู้รับผิดชอบจัดการฝุ่นตามกรอบ ทส.- เชื่อต้องร่วมมือ ไม่ใช่สั่งการ” รมว.มหาดไทย ส่วน รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ กล่าว “ไม่มีมาตรการเพิ่ม – เน้นเข้มงวดมากขึ้น”

ขณะสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือยังหนักต่อเนื่อง ค่าฝุ่นเชียงรายยังอยู่ระดับ 500 มคก./ลบ.ม เมื่อเวลา 15:00 น. วันนี้ 

(ภาพ : ไทยรัฐ)

“สั่งกต.ประสานอาเซียนแล้ว” ประยุทธ์

“กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านไปสักพักแล้ว วันนี้ก็จะย้ำไปอีกครั้งหนึ่ง เพราะจุดความร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ ซึ่งจะต้องระมัดระวังเรื่องของผลกระทบ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12:00 น. วันนี้ (28 มี.ค. 2566) คมชัดลึก รายงาน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นวาระอาเซียนด้วยกันหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ก็ต้องทำอย่างนั้น เพราะเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่า อยู่ในประเทศเท่าไร และรอบบ้านเท่าไร ก็ต้องหารือร่วมกัน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน และเราก็พยายามแก้

“วันนี้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาทั้งในระดับพื้นที่ และส่วนกลาง ซึ่งในระดับประเทศตนได้ลงนามประสานขอความร่วมมือในระดับรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เราถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ดี และในพื้นที่ภาคเหนือ เราก็พยายามให้จุดความร้อนมันลดลง แต่ก็ต้องขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะการเผาวัชพืชที่ยังเยอะอยู่” นายกฯ กล่าว

(ภาพ : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

“ไม่มีมาตรการเพิ่ม แค่เข้มงวดของเดิม” วราวุธ

“ว่าการเผาไหม้ข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตก นายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศติดตาม และจี้ถามไปยังประเทศเพื่อนบ้านทุกวัน เพื่อตอกย้ำความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา

ในส่วนของประเทศไทยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานทำตามแผนงานที่เตรียมไว้ แต่หากเร่งรัดเกินไปอาจกระทบต่อประชาชนอีกส่วนหนึ่งได้ จึงต้องทำให้เกิดความสมดุล เพราะถ้าไปเข้มงวดมากจนเกินไปอาจจะทำให้เกิดการต่อต้านกลับ ขณะที่บางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอาจไม่พอใจ ให้รัฐเร่งจัดการ จึงต้องบริหารให้ดี และต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการที่มี” วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม  ครม.ถึงการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5

เมื่อถามว่าจะมีมาตรการเร่งด่วนออกมาดูแลหรือไม่ วราวุธ กล่าวว่า ที่จริงมาตรการเรามีเรียบร้อยอยู่แล้ว ขอให้ทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินการอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในการดูแลและแก้ปัญหา สกรีนดูแต่ละพื้นที่ให้มีการสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันเบื้องต้น เป็นต้น

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ภาพ : The Standard)

“จัดการยาก” อนุพงษ์ยอมรับ

จากการรายงานของ  Voice Online วันนี้ ระบุว่า เช้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหา PM2.5 ว่าเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะต้องทำตามกรอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ 

นอกจากนั้นการที่จุดความร้อนภายในประเทศลดลงก็อาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้มากนัก เนื่องจากว่ายังคงมีจุดความร้อนจากต่างประเทศอยู่ แต่ทั้งนี้ รมว.มหาดไทย ไม่ขอตอบว่ามีการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่เนื่องจากไม่ใช่ขอบเขตหน้าที่ของตน

สำหรับการใช้พาหนะที่เป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่นรองจากการเผาในที่โล่ง รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งห้ามหยุดรถได้ แต่ก็อาจจะทำได้ยาก ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน

“ส่วนเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ก็มีความเข้มงวด ฉะนั้นถ้าทุกคนอยากให้สถานการณ์ดีขึ้นขอให้ทุกคนร่วมมือกัน จะให้ไปไล่จับก็คงไม่ได้เพราะผู้ที่โดนจับส่วนใหญ่คือเกษตรกร ส่วนการที่จะเปลี่ยนจากรถยนต์ปกติ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็อาจเป็นเรื่องยากเพราะมีต้นทุนสูง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า การสั่ง และมุ่งหวังให้ค่าฝุ่นละอองลดลงคงเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะมีการทำฝนหลวง แต่ตนไม่ขอวิเคราะห์ว่าจะได้ผลหรือไม่” รายงานจาก Voice Online

(ภาพ : Air4Thai)

เกินมาตรฐานเกือบทุกพื้นที่” ฝุ่นเหนือ

ระดับฝุ่น PM2.5 ของสถานีสำนักงานสาธารณสุขแม่สาย ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย เชียงราย เมื่อเวลา 15:00 น. ยังสูงถึง 505 มคก./ลบ.ม. (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) จากระดับมาตรฐานที่ไม่ควรเกินคือ 50 มคก./ลบ.ม. 

โดยเป็นวันที่ 6 ติดต่อกันแล้วที่ระดับฝุ่น อ.แม่สาย สูงกว่า 100 มคก./ลบ.ม

“สถานการณ์คุณภาพอากาศของพื้นที่ ภาคเหนือ อยู่ในระดับปานกลาง ถึง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจำนวนพื้นที่ที่ปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน คือ 30 สถานี จากทั้งหมด 31 สถานี

จังหวัดที่พบพื้นที่เกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ เชียงใหม่ 5 พื้นที่ ลำปาง 4 พื้นที่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน 3 พื้นที่ ตาก นาน และลำพูน 2 พืนที่ จังหวัดที่เหลือพบเกินมาตรฐานจังหวัดละ 1 พื้นที่” ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เปิดเผย คุณภาพอากาศ เมื่อ 15:00 น.

ภาพรวมปริมาณฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ เมื่อ 15:00 น. ศูนย์แก้ไขฯ รายงานว่า มีจำนวน 20 จังหวัดที่เกินมาตรฐาน

 แม่ฮ่องสอน แพร่ เลย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ หนองคาย สุโขทัย ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร พะเยา บึงกาฬ น่าน ตาก กำแพงเพชร

โดยภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ (เพิ่มขึ้นจากวานนี้) มี 17 พื้นที่ อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง ปริมาณฝุ่น PM2.5 มากกว่า 91 มคก./ลบ.ม.) 13 พื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม ปริมาณฝุน PM2.5 อยู่ระหว่าง 51 – 90 มคก./ลบ.ม.)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ (ลดลงจากเมื่อวาน) 1 พื้นที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 3 พื้นที่ที่เหลืออยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

(ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ)

คาดเริ่มดี 31 มี.ค. – 2 เม.ย.  “อากาศจะเปิดมากขึ้น”

“29 มี.ค. – 2 เม.ย. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น  ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่** อย่างไรก็ตามวันที่ 3 – 4 เม.ย. 2566 พื้นที่ กรุงเทพมหานคร อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่จากบริเวณทิศตะวันตกได้

พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 29 มี.ค. – 4 เม.ย. 2566 อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ 31 มี.ค. – 2 เมะย. 2566 สถานการณ์อาจบรรเทาลงได้บ้างเนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น” กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ระหว่าง 29 มี.ค. – 4 เม.ย. 2566