ราชกิจจาฯ ออกประกาศ “ปลดรัชฎา จากตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ” วานนี้ หลังผลสอบคณะกรรมการการกระทรวงทรัพยากรฯ สรุป “เรียกรับเงินจริง – ผิดวินัยร้ายแรง – สั่งปลด 3 ก.พ.”
รัษฎาตอบโต้ด้วยการฟ้องกลับ “ชุดจับกุม-ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้แจ้งเบาะแส กับพวก” รวม 7 คน ข้อหา “ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทำหลักฐานเท็จ แกล้งให้ต้องรับโทษ” ศาลกำหนดฟังคำพิพากษาพฤหัสฯ นี้ (30 มี.ค. 2566)

ปลดอย่างเป็นทางการ – ผิดวินัยร้ายแรง
“ด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีคำสั่งให้นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ออกจากราชการไว้ก่อน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2566
เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว
บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2566”
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตำแหน่ง” โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นผู้รับสนองบรมราชองค์การ วานนี้ (27 มี.ค. 2566) ระบุ

เรียกรับเงินจริง – คำสั่งปลดมีผลทันที
“จากผลการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องกว่า 50 ปาก ส่วนใหญ่ให้การตรงกันกับข้อกล่าวหาว่านายรัชฎา เรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานฯ”
เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดทส. ประธานคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ทส. เปิดเผยผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ เมื่อ 3 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
วันเดียวกัน จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงนามในเอกสารสรุปผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ โดยให้ออกจากราชการไว้ก่อน มีผลทันที

เหตุแห่งการปลด
27 ธ.ค. 2565 เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริต (บก.ปปป.) บุกค้นห้องทำงานของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่อาคารสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
สืบเนื่องจากได้รับเบาะแสจาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (ตำแหน่งในขณะนั้น) ว่า รัชฎา มีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา
โดยจะเรียกเก็บเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามทั่วประเทศ หากหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ที่ถูกเรียกเก็บไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้ ก็จะถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งเดิม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพื้นที่ที่ห่างไกลจากภูมิลำเนา จึงทำให้มีการวิ่งเต้นกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อไม่ให้ถูกโยกย้าย และยังมีการเรียกเก็บเงินเป็นรายเดือนอีกด้วย
เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปปป. จึงวางแผนนัดส่งมอบเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้วจำนวน 98,000 บาท เมื่อได้ส่งมอบเงินแล้วเจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าจับกุม และค้นห้องทำงาน ก่อนที่จะพบเงินจำนวน 5 ล้านบาท โดยในเบื้องต้น รัชฎา ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
วันต่อมา (28 ธ.ค. 2566) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีคำสั่งย้าย รัชฎา ให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างสะดวก
ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการที่เจ้าหน้าที่ไม่ออกหมายค้นที่บ้านพักของอธิบดีฯ ด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะพบหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม

“ฟ้องชุดจับกุม” การตอบโต้จากรัชฎา
รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดี อส. ผู้ถูกกล่าวหากรณี “ส่วยอุทยาน” ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดี เมื่อ 1 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา โดยฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้ ชุดจับกุมของ ปปป. และ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวก รวม 7 คน ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน
ในฐานความผิด “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดต่อเสรีภาพ ทำพยานหลักฐานเท็จฯ เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ บุกรุก ซ่องโจร” ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562
ล่าสุดด ศาลฯ นัดฟังคำพิพากษา 30 มี.ค. 2566
โดยรัชฎายืนยันว่าไม่มีการเรียกรับสินบนใด ๆ ทั้งสิ้น
“ไม่ได้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการในสังกัดตามที่ถูกกล่าวหา เงินที่พบในที่เกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินส่วนตัว ส่วนซองเงินที่มีชื่อระบุไว้ยังไม่ได้ตรวจดูเพราะมีทำบุญแต่เช้า โดยซองเหล่านั้นมีผู้นำมาให้ เพื่อเช่าพระพุทธรูปและร่วมทำบุญโครงการพระแม่อุปถัมภ์” รัชฎา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว หลังจากเดินทางมาไต่สวน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อ 23 ก.พ.2566