ชาวแม่สายเรียกร้อง ‘ประกาศเขตภัยพิบัติฝุ่น’ รัฐตอบ ‘มีห้องปลอดฝุ่น(แล้ว)’

“ประกาศเขตภัยพิบัติ (ฝุ่น) ทันที” ชาวแม่สายสุดทน ออกมารวมตัวกับภาคเอกชน เรียกร้องร้ฐบาลผ่านการยื่นหนังสือถึงนายอำเภอบ่ายวันนี้ ในพื้นที่ 

ชี้ “ค่าฝุ่นพื้นที่แม่สายสูงมาก – เกินมาตรฐานติดต่อกันเกิน 7 วันแล้ว กระทบสุขภาพและเศรษฐกิจคนแม่สายหนัก” เครือข่ายฯ ระบุ พร้อมเรียกร้อง “ประกาศทันที เขตภัยพิบัติฝุ่น” ส่วนหนึ่งของ 4 มาตรการระยะสั้น และ 5 มาตรการระยะยาวที่รัฐควรดำเนินการสำหรับวิกฤตฝุ่น PM2.5 พื้นที่แม่สาย

“จะส่งต่อ ผู้ว่าฯ เชียงราย -เราจัดห้องปลอดฝุ่น (Safe Zone) แล้วทุกรพ.สต. ” นายอำเภอแม่สายตอบ หลังรับข้อเรียกร้อง

ขณะข้อมูลภาครัฐ เผย “ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งแตะระดับ 568 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อ 19.00 น.” สูงกว่า 10 เท่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยทางสุขภาพ (ค่ามาตรฐาน 50) และจุดความร้อนประเทศเพื่อนบ้านยังคงสูง ทั้งสปป.ลาว – เมียนมา และเป็นตัวเร่งสำคัญ

เกินมาตรฐานกว่า 10 เท่า ค่ำนี้ – สูงสุดประเทศ

“ระดับฝุ่น PM2.5 เพิ่มเป็น 568 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นการเพิ่มอย่างต่อเนื่องในช่วง 7 วันที่ผ่านมา จากระดับ 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 21 มี.ค.” สำนักงานสาธารณสุขแม่สาย ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย, เชียงราย รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ 

ระดับดังกล่าวเป็นระดับค่าฝุ่นในอากาศที่สูงที่สุดจากจุดตรวจวัดทั่วภาคเหนือ และทั้งประเทศ ในวันและเวลาดังกล่าว จากฐานข้อมูลภาครัฐ “Air4Thai”

“คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ ปานกลาง ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ พบจุดตรวจวัดที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานรวม 29 จุด (จากทั้งหมด 31 จุดวัดที่มี) ในทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมากสุด 5 จุดในเชียงใหม่ รองลงมา 4 จุดในลำปาง 3 จุดในแม่ฮ่องสอนและเชียงราย 2 จุดในน่านและลำพูน จังหวัดที่เหลือพบ 1 จุด” ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เปิดเผย สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ภาคเหนือ เมื่อ 19.00 น.

สำหรับภาพรวมทั้งประเทศ ศูนย์ฯ รายงานเมื่อ 11:00 น ว่า มี 24 จังหวัดที่ปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (มากกว่า 51 มคก./ลบ.ม.) รวมถึงแม่ฮ่องสอน แพร่ เลย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย สุโขทัย ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร พะเยา บึงกาฬ น่าน นครพนม ตาก ชัยภูมิ กำแพงเพชร

โดยภาคเหนือ ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37 – 537 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 8 พื้นที่  4 พื้นที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง ปริมาณฝุ่น PM2.5 มากกว่า 91 มคก./ลบ.ม.) 4 พื้นที่อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม ปริมาณฝุน PM2.5 ระหว่าง 51 – 90 มคก./ลบ.ม.) ส่วนภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

(ภาพ : เทศบาลตำบลแม่สาย)

คนแม่สายไม่ทน รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาล

บ่ายวันนี้ (27 มี.ค.2566) ราว 13.00. น. เครือข่ายภาคเอกชนและประชาชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้รวมตัวกัน ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่สาย เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน 

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควันทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและข้ามแดน ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อ.แม่สาย อยู่ในระดับที่สูงมากและเกินมาตรฐานติดต่อกันเกิน 7 วัน 

คุณภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก

ที่ผ่านมายังไม่เห็นการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมจากทั้ง จ.เชียงราย และอำเภอแม่สาย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาชนชาว อ.แม่สาย จึงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วนและจริงจัง” แถลงการณ์เครือข่ายฯ ระบุ

“ในฐานะเป็นตัวแทนในการเรียกร้องว่า เราควรจะต้องใส่ใจในปัญหานี้อย่างจริงจัง และคงต้องลด บรรเทาปัญหานี้ในระยะยาวต่อไป อยากจะฝากข้อเรียกร้องต่าง ๆ ให้นายอำเภอเสนอท่านผู้ว่า ทางกระทรวง และทางรัฐบาล ในการจัดการปัญหานี้อย่างยั่งยืน” ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวกับนายอำเภอ

(ภาพ : เทศบาลตำบลแม่สาย)

เรียกร้อง “ประกาศเขตฉุกเฉิน” ทันที

“เราเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาไฟป่า และหมอกควันข้ามพรมแดน โดยข้อเสนอแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะเร่งด่วน สำหรับภาวะวิกฤต

1.1 ให้ภาครัฐประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 เช่น หน้ากากอนามัย ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ สำหรับประชาชนอย่างเร่งด่วน

1.2 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งหารือการแก้ปัญหาไฟป่า และหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อประชาชนจากการทำการเกษตร กับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว

1.3 ให้ จ.เชียงราย แจ้งประสานประเทศเพื่อนบ้านให้ลด หรืองดการเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่ทางการเกษตรในช่วงสถานการณ์คุณภาพอากาศย่ำแย่ โดยยึดตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ซึ่งสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้มีการลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2002

1.4 ให้มีการเฝ้าระวังและการป้องปราม การลักลอบเผาป่าในเขตชายแดนของประเทศอย่างรัดกุม และสนับสนุนอุปกรณ์เครืองมืออย่างเพียงพอให้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า

(ภาพ : เทศบาลตำบลแม่สาย)

2. ระยะยาว เพื่อการแก้ไขอย่างยั่งยืน

2.1 ให้รัฐบาลกำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานของสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินให้ชัดเจน

2.2 ให้ จ.เชียงาย และอำภอแม่สาย จัดทำแผนรับมือสถานการณ์ผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 ที่เป็นรูปธรรมและแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ ในอนาคต

2.3 ให้รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ศึกษาผลกระทบการนำเข้าเสรี (AFTA) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเผาป่าและปัญหาหมอกควันจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร และให้พิจารณายกเลิกอัตราการเก็บภาษีการนำข้าวโพดนำเข้าร้อยละศูนย์

2.4 ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เจรจาหารือหาทางแก้ปัญหาการเผาข้าวโพด และผลกระทบต่างๆ จากการทำการเกษตร ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

2.5 ให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคอาเซียน+1 เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาติสมาชิกอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน” แถลงการณ์เครือข่ายฯ ระบุ

(ภาพ : เทศบาลตำบลแม่สาย)

“จะส่งต่อผู้ว่าฯ – จังหวัดจัดห้องปลอดฝุ่นไว้แล้ว” นายอำเภอ

“ขอขอบคุณตัวแทนแกนนำภาคเอกชนวันนี้ ที่ไม่นิ่งดูดาย และมองเห็นถึงปัญหา เฝ้าระวังดูปัญหามาหลายวัน วันนี้ถือว่าเป็นพลังของชาวอำเภอแม่สาย ขอบคุณทุกท่านที่ได้มาแสดงออก และผมเองนายอำเภอแม่สาย ก็ขอรับหนังสือข้อเรียกร้องของทุก ๆ ท่าน เพื่อนำเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับต่อไป 

ในโอกาศนี้อยากจะเรียนปรับความเข้าใจ หรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงราย ให้กับพี่น้องในอำเภอแม่สายได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง 

ในแผนการดำเนินงานนั้นเราจัดไว้ 3 ระดับคือ 1. การเตรียมการ 2. ปฏิบัติการ  3. การฟื้นฟู ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย

การเตรียมการที่ผ่านมาเรา โดยเฉพาะอำเภอแม่สายเรามีการจัดโซนนิ่งในพื้นที่เสี่ยงภัย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ชิดกับภูเขา ซึ่งในส่วนที่หนึ่งก็จะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนที่สองเป็นพื้นที่การเกษตร ส่วนที่สามเป็นพื้นที่ที่อยู่ตามข้างถนน ไม่ว่าจะเป็นทางหลวงหลวง หรือทางหลวงแผ่นดินก็ตาม แล้วในส่วนที่สี่จะเป็นบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน

ในการดูแลรักษาสุขภาพของพี่น้อง ทางกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดห้องปลอดฝุ่น หรือ safe zone สำหรับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลของอำเภอแม่สาย ตอนนี้จะมีอยู่ทุกแห่ง ขอให้ท่านไปใช้บริการได้

ในส่วนของศูนย์เด็กเล็กก็มีส่วนในการดูแลให้กับลูกหลานของเราอยู่ ในข้อนี้ในช่วงเวลาที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้คำแนะนำมาว่า จะพิจารณาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พิจารณาจัดทำ safe zone หรือห้องปลอดฝุ่นเพิ่มเติมในสภาวะเช่นนี้

เราดูจากการพยากรณ์อากาศแล้ว ในห้องสัปดาห์นี้ยังไม่มีฝน เราอาจจะต้องอยู่ในสภาวะเช่นนี้อีกเป็นสัปดาห์ ก็เป็นความห่วงใย

ในส่วนของผลกระทบที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราเรียนยืนยันว่าอำเภอแม่สาย มีจุด hotspot ถือว่าน้อยที่สุดของจังหวัดเชียงราย มีอยู่นิดเดียวที่ ต. เกาะช้างหนึ่งจุด แล้วก็มีไฟข้ามแดนมาจากแถว ๆ ผาฮี้ หรือผาหมี 1 จุดเท่านั้นเอง นอกนั้นอำเภอแม่สายไม่มี hotspot เลย ทั้ง 8 ตำบล 87 หมู่บ้าน ไม่มีเลย ก็ถือว่าบ้านเราไม่มีการเผา แต่ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เราได้รับผลกระทบ

ผมเองก็เป็นคนแม่สาย ก็เรียนว่า ถือว่าเป็นรอบทศวรรษ เป็นรอบ 10 ปี ที่เราไม่เคยโดนมลภาวะอย่างนี้มาก่อน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีผลกระทบ 

ขอเรียนฝากกลุ่มเปาะบาง คนตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งเด็กทารก ผู้ป่วย ก็ขอให้ท่านดูแลสุขภาพให้มากในช่วงนี้ ท่านที่ใช้หน้ากากอนามัย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ใช้แบบ N95 ซึ่งจะกรองฝุ่น PM2.5 ได้ดีกว่า ขอรับการสนับสนุนได้ที่สำนักงานสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำหรับท่านที่ไม่มีปัจจัยในการซื้อหา

สิ่งที่สำคัญในช่วงนี้ท่านที่ยังพอมีทุนทรัพย์อยากให้ท่านได้ซื้อหาจัดหา เครื่องฟอกอากาศไว้ประจำบ้าน โดยเฉพาะในห้องนอน ในเวลาค่ำคืนก็ขอให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ไม่ควรเปิดหน้าต่างนอน 

เดิมเราคาดว่าเราจะได้เดินไปแสดงพลัง แต่ว่าสาธารณสุขก็ไม่แนะนำ อันนี้ก็แล้วแต่ทางแกนนำ ก็ขอให้ดูตามความเหมาะสม แล้วก็ประสานงานกับทางสถานีตำรวจภูธรแม่สายด้วย ถ้าเราเดินไปก็ระยะทางพอสมควรเหมือนกัน ขอขอบคุณทุก ๆ ท่าน และขอปรบมือเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คน” นายอำเภอแม่สายกล่าวกับผู้ชุมนุม

(ภาพ : เทศบาลตำบลแม่สาย)

จุดความร้อนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ภาพรวมใน 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนทั้งสิ้น 4,115 จุด (ทั่วประเทศ 5,572 จุด สูงสุดในรอบปี 5) 

จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ น่าน (638 จุด) รองลงมาคือ แม่ฮ่องสอน (558 จุด) อุตรดิตถ์ (430 จุด) แพร่ (357 จุด) และเชียงราย (338 จุด)

พื้นที่ที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ ป่าอนุรักษ์ (2,408 จุด คิดเป็น 58.8%) และ ป่าสงวนแห่งชาติ (1,473 จุด คิดเป็น 35.8%)

สำหรับจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (จาก 824 จุด เมื่อ 21 มี.ค. 2566 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนแตะกว่า 4,000 จุด)” รายงานสถานการณ์จุดความร้อนล่าสุด จาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยวานนี้ (26 มี.ค. 2566)

ภาคเหนือมีแนวโน้มวิกฤตยาวถึง 3 เม.ย. 

“27 มี.ค. – 2 เมษายน 2566 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น  ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามวันที่ 3 เมษายน 2566 พื้นที่ กรุงเทพมหานคร อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่จากบริเวณทิศตะวันตกได้

พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 28 มี.ค. – 3 เม.ย. 2566  อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 สถานการณ์อาจบรรเทาลงได้บ้างเนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น แระกอบกับสภาพอากาศที่ปิดลดลง” กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2566 

(ภาพ : เทศบาลตำบลแม่สาย)